แล้งขยาย! กรมชลฯติดป้ายเตือน ชาวนาทิ้งนา หันปลูกกล้วยขาย

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ จากสภาพความแห้งแล้งที่กำลังขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ทำให้คลองชลประทานวัดโคก อ.มโนรมย์ น้ำแห้งขอด ชาวนาเริ่มปรับตัวหันไปปลูกกล้วยน้ำว้าขาย ทดแทนการขาดรายได้จากการทำนา ซึ่งสามารถสร้างรายได้เดือนละกว่า 9,000 บาท…

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ต่ำกว่าปากคลองของคลองส่งน้ำวัดโคก ต.วัดโคก อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ทำให้คลองส่งน้ำสายน้ำแห้งขอด ก้นคลองเหลือเพียงดินแตกระแหง นาข้าวกว่า 4,000 ไร่ที่อาศัยน้ำจากลำคลองสายนี้ต้องเริ่มปรับตัว ชาวนาบางส่วนต้องหันไปพึ่งน้ำบาดาลในการทำนาต่อเนื่อง แต่ยังมีชาวนาจำนวนมากที่หันไปปลูกพืชทดแทนตามนโยบายภาครัฐ ซึ่งในพื้นที่ ต.วัดโคกชาวนาบอกว่ากล้วยน้ำว้าเป็นพืชที่ปลูกได้ผลดีมาก โดยจะใช้การวางระบบน้ำด้วยที่ PVC ในการให้น้ำ ซึ่งถือว่าใช้น้ำน้อยกว่าการทำนาหลายเท่าตัว

เมื่อกล้วยติดผลจะมีพ่อค้ามารับถึงสวนในราคาหวีละ 10-12 บาท แต่หากนำไปวางขายเองก็จะได้ราคาถึง 15 บาท โดยในแต่ละรอบการตัดกล้วยขาย ชาวบ้านที่นี่จะมีรายได้กว่า 3,000 บาท และ 1 เดือนจะตัดขาย 3 รุ่น หรือเท่ากับมีรายได้กว่า 9,000 บาทต่อ 1 ไร่/เดือน ซึ่งชาวบ้านบอกว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพราะกล้วยที่ปลูก 1 รุ่น หากดูแลเอาใจใส่ดี จะเก็บลูกขายไปได้ตลอด เพราะกล้วยที่ตัดลูกขายก็จะมีต้นหน่อใหม่ขึ้นมาแทนเป็นรุ่นๆ ตลอดเวลา