สศก. คาด ปี 63 ผลผลิตหอมแดง จังหวัดศรีสะเกษ รวมกว่า 45,000 ตัน เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์หอมแดง ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของประเทศ การผลิตหอมแดง ปี 2563 หรือปีเพาะปลูก 2562/63 คาดว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก 14,817 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 7,979 ไร่ (ลดลงร้อยละ 35) เนื่องจากปีที่ผ่านมาหอมแดงได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน อากาศร้อนจัด ความชื้นในอากาศมีน้อย หอมแดงจึงมีลักษณะหัวเล็ก แคระแกร็น และยังเกิดปัญหาหนอนกระทู้ระบาด จึงส่งผลให้เกษตรกรลดพื้นที่เพาะปลูก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เนื้อที่เพาะปลูกลดลงแต่ผลผลิตรวมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 45,665 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2,872 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7) และผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 3,082 กิโลกรัม ต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1,205 กิโลกรัม ต่อไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 64) ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพอากาศเย็น ความชื้นในอากาศสูง เหมาะสำหรับการเจริญเติบโต และไม่มีโรคแมลงรบกวน โดยคาดว่าผลผลิตหอมแดงจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม 2562 – มกราคม 2563

สำหรับต้นทุนการผลิตของเกษตรกร เฉลี่ยอยู่ที่ 12 บาท ต่อกิโลกรัม ลดลงจากปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 5 บาท ต่อกิโลกรัม (ปี 61/62 ต้นทุนเฉลี่ย 17 บาท ต่อกิโลกรัม) ส่วนราคาที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา (ราคา ณ 20 พฤศจิกายน 2562) หอมแดงสด ที่ยังไม่มีการตาก ราคาเฉลี่ย 18 บาท ต่อกิโลกรัม หอมปึ่ง ซึ่งเป็นหอมแดงที่เก็บเกี่ยวและแขวนตากในโรงเก็บเป็นเวลาประมาณ 12 วัน ราคาเฉลี่ย 35 บาท ต่อกิโลกรัม และหอมมัดจุกใหญ่ ราคาเฉลี่ย 55 บาท ต่อกิโลกรัม (ราคาปี 61/62 ของหอมแดงสด หอมปึ่ง และหอมมัดจุกใหญ่ อยู่ที่เฉลี่ย 12 , 20 และ 35 บาท ต่อกิโลกรัม ตามลำดับ) โดยการซื้อขายหอมแดงจะมีพ่อค้าในชุมชน พ่อค้ารายย่อย พ่อค้าเร่ มารับซื้อจากเกษตรกร ส่วนพ่อค้ารายใหญ่ในจังหวัดศรีสะเกษจะรับซื้อหอมแดงเพื่อส่งให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า จากราคาหอมแดงที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้นับว่าเป็นโอกาสทองของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและมีเงินทุนสำรองเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกในปีถัดไป อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรรักษาผลผลิตหอมแดงให้มีคุณภาพ สำหรับเกษตรกรหรือท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการผลิต สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 จังหวัดอุบลราชธานี โทร. (045) 344-654 หรืออีเมล [email protected]