เผยแพร่ |
---|
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) เป็นสถาบันอุดมศึกษามุ่งมั่นจัดการศึกษา ด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีชั้นสูงให้มีสมรรถนะในการเป็นผู้ประกอบการตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานและทิศทางการพัฒนาของประเทศ โดยมีนโยบายในการพัฒนาส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน สู่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ มีเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่ได้มาตรฐาน และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ ของบัณฑิตให้เป็นคนดี มีความรู้ รักสู้งาน โดยเฉพาะการมุ่งพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ในด้าน Soft Skills เพื่อเป็นการเสริมสร้างจุดแข็งให้แก่บัณฑิตให้เป็นนักปฏิบัติที่มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์เพียงพอที่จะทำงานได้ทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัย “เรียนวิชาชีพติดตัว ไม่ต้องกลัวตกงาน” จึงมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการที่จะผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพสู่ความต้องการของอุตสาหกรรม และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวไกลในยุคนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยเอก ดร. ธนู ทดแทนคุณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มทร.สุวรรณภูมิ กล่าวว่า คณะศิลปศาสตร์ ได้กำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาศักยภาพนักศึกษา เพื่อสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติตามแนวพระบรมราโชวาท “บัณฑิตทุกๆ สาขา ทุกๆ คน มีหน้าที่ที่สำคัญที่จะต้องเป็นกำลังทำประโยชน์สร้างสรรค์ความเจริญมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ” โดยส่งเสริมให้จัดการเรียนการสอนจากการเรียนรู้ลงมือทำ จนเกิดความชำนาญ โดยเฉพาะการให้นักศึกษาตระหนักและเห็นความสำคัญของการฝึกปฏิบัติวิชาชีพเป็นการบริการวิชาการแก่สังคม นำมาสู่ความภาคภูมิใจต่อตนเองในฐานะผู้เป็นปัญญาชนและส่งเสริมภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ในการจัดสัมมนาวิชาชีพ “นวัตกรรมเพื่อพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ” เกิดขึ้นโดยนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยว ชั้นปีที่ 4 และสาขาวิชาการโรงแรม ชั้นปีที่ 4 ได้ร่วมกันทำกิจกรรมบูรณาการรายวิชาและจัด เพื่อพัฒนาความรู้ด้านการพัฒนานักศึกษาและบุคลากรเพื่อรองรับการท่องเที่ยว การบริการ ในภาครัฐและภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. เทิดชาย ช่วยบำรุง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว UNWTO หรือองค์การการท่องเที่ยวโลกและคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ ซึ่งได้รับความสนใจจากบุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และนักศึกษา ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมากกว่า 250 คน
ในการจัดโครงการครั้งนี้นอกจากจะเห็นถึงความตั้งใจในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพของนักศึกษา ยังเป็นการแสดงถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยที่สามารถเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้กับบุคลากรโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและการบริการ อันเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ สอดคล้องกับแนวโน้มของการบริการแทนกำลังบุคลากร แต่การบริการด้วยทรัพยากรบุคคลนั้นสามารถสร้างการจดจำและยังเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจโดยมิอาจปฏิเสธได้