ผู้เขียน | อานุภาพ ธีระกุล |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัจจุบัน ความต้องการบริโภคมะพร้าวในภาคอุตสาหกรรมและในครัวเรือนมีมากกว่าผลผลิตที่ผลิตได้ และนับวันจะเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้ต้องนำเข้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากต่างประเทศมาทดแทน เป็นผลให้มะพร้าวในประเทศราคาตกต่ำ ประเทศที่อนุญาตให้นำมะพร้าว ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เข้ามาได้มี อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา และมาเลเซีย
มีรายงานจาก อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ 18 ตุลาคม 2562 ว่า ราคามะพร้าวผลขยับสูงขึ้น จาก 5 บาท/ผล เป็น 15 บาท/ผล หลังจากราคาตกมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ ปี 2555 แม้ราคาสูงขึ้น รายได้จากการขายมะพร้าวยังน้อยอยู่ เนื่องจากมีผลผลิตต่ำ
เมื่อดูสถิติการนำเข้าแล้วพบว่า นำเข้ามะพร้าวถึง 7 เดือน ในรอบปี เพื่อทดแทนที่ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปกะทิสำเร็จรูป อาหาร และอื่นๆ นั้น มีความต้องการประมาณ 166,000 ตัน ณ ปัจจุบัน และภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวประมาณ 10% ในปีต่อๆ มา หากดูสภาวะผลิตมะพร้าวในขณะนี้ แสดงให้เห็นว่าอยู่ในภาวะวิกฤติมาก ที่จะต้องรีบเร่งแก้ปัญหานี้ เพื่อรักษาสมาชิกชาวสวนมะพร้าวไม่น้อยกว่า 300,000 ครอบครัว ไม่ให้หันไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน
ยุทธศาสตร์เร่งรัดเพิ่มผลผลิตมะพร้าวให้เพียงพอกับปริมาณความต้องการของภาคอุตสาหกรรมแปรรูป และอาหาร รวมถึงการบริโภคในครัวเรือน ผลของงานวิจัยยืนยันว่าสามารถเร่งรัดได้ หากดำเนินการได้คาดว่าภายในระยะ 15 ปี จะสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างน้อยเท่ากับปริมาณความต้องการทดแทน ณ ปัจจุบัน คือประมาณ 166,000 ตัน
แนวทางหรือยุทธศาสตร์จะแก้ปัญหาได้อันดับแรก และมีความสำคัญมากคือ ต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงกับยุทธศาสตร์นี้ และต้องเป็นเอกภาพในการดำเนินงาน ด้วยปัจจุบันมีงานวิจัย และพัฒนามะพร้าวอยู่ 2 หน่วยงาน คือ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร แต่ละหน่วยงานก็มีพันธกิจ และความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป คือ
กรมวิชาการเกษตร (กวก.) ทำงานวิจัยเพื่อให้ได้พันธุ์มะพร้าวที่ให้ผลผลิตสูง เขตกรรมของมะพร้าว ดิน และปุ๋ย
กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) เน้นงานด้านการให้บริการทางวิชาการ งานฝึกอบรมเทคโนโลยีการปลูกมะพร้าว งานอารักขาพืช
และยังมีหน่วยงานที่มีความสำคัญมากอีกหน่วยงานหนึ่งคือ กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางในอดีต ปัจจุบัน ปรับโครงสร้างใหม่เป็น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) องค์กรนี้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ประสบความสำเร็จในการปลูกแทนยางพาราในสวนเกษตรกรรายย่อย จนนำประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก หน่วยงานนี้มีความเชี่ยวชาญการปลูกแทนยางพารา มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการรังวัดพื้นที่สวน การตรวจสวนที่ได้รับการสงเคราะห์ และการปฏิบัติงานภาคสนาม จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 หน่วยงาน มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา หากนำมาปฏิบัติร่วมกัน โดยมีคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรสวนมะพร้าวรายย่อยเป็นหน่วยงานกลางที่จะประสานให้ กวก. กสก. และ กยท. มาร่วมกันทำงานในยุทธศาสตร์เร่งรัดเพิ่มผลผลิตมะพร้าวให้เพียงพอบริโภคในประเทศ ยุทธศาสตร์ที่จะกล่าวถึงมี 2 ภารกิจ คือ
ภารกิจที่ 1 ปรับปรุงสวนเสื่อมโทรมที่ให้ผลผลิตต่ำ
ภารกิจที่ 2 ปลูกแทนสวนเสื่อมโทรมที่ให้ผลผลิตไม่คุ้มในเชิงเศรษฐกิจ
ทั้ง 2 ภารกิจนี้ จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานเป็นช่วงๆ กล่าวคือ ภารกิจที่ 1 ใช้เวลา 10-15 ปี ภารกิจที่ 2 ใช้เวลา 30-40 ปี จะเห็นได้ว่าการฟื้นฟูการปลูกมะพร้าวเพื่อเพิ่มผลผลิตนั้น ต้องใช้เวลามาก ผิดกับพืชอายุสั้น พืชผัก และธัญพืชอื่นๆ เนื่องจากมะพร้าวเป็นพืชยืนต้นที่ใช้เวลานาน 5-6 ปี จึงจะให้ผลผลิต ยุทธศาสตร์ที่กล่าวถึงมีหลักการและเหตุผลดังนี้
- วิสัยทัศน์ (Vision) ให้การสนับสนุน ส่งเสริม และเร่งรัดการปลูกมะพร้าว การเพิ่มผลผลิตมะพร้าว การปลูกแทนมะพร้าว การปรับปรุงสวนเสื่อมโทรม และสวนมะพร้าวใหม่ ให้กับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ในระยะเริ่มต้น และจะขยายภารกิจทั้ง 2 ออกไปทั่วทุกภาคของประเทศในอนาคต เพื่อให้สามารถเพิ่มผลผลิตมะพร้าวพอเพียงต่อความต้องการบริโภคในประเทศ เพื่อลดการนำเข้ามะพร้าว และผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากต่างประเทศ
- ภารกิจ (Mission)
แบ่งได้เป็น 2 ภารกิจ คือ
2.1 ภารกิจที่ 1
เป็นภารกิจที่เร่งด่วนที่สุด คือปรับปรุงสวนเสื่อมโทรมที่ให้ผลผลิตต่ำ เป้าหมาย ปีละ 28,828 ไร่ คุณลักษณะของสวนมีดังนี้
สงเคราะห์ ไม่เกิน 20 ไร่ จำนวนต้นมะพร้าว/ไร่ ไม่ต่ำกว่า 19 ต้น
ผลผลิต ไม่เกิน 30 ผล/ต้น
อายุ ไม่เกิน 40 ปี
พันธุ์ปลูก พันธุ์ไทยพื้นเมืองต้นสูง
สนับสนุนวัสดุปลูก 1. ปุ๋ยเกรด 13-13-21 4 กิโลกรัม/ต้น/ปี และหินปูนโดโลไมท์ 2 กิโลกรัม/ต้น/ปี
- กำจัดวัชพืช
ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี
2.2 ภารกิจที่ 2
เป็นภารกิจเร่งด่วนรองจาก ภารกิจที่ 1
ปลูกแทนสวนมะพร้าวอายุมาก เป้าหมาย 699,000 ไร่ คุณลักษณะของสวนมีดังนี้
สงเคราะห์ ไม่เกิน 20 ไร่ จำนวนต้นที่ปลูกแทนไม่ต่ำกว่า 19 ต้น/ไร่ สภาพการเจริญเติบโตของมะพร้าว ไม่สามารถปรับปรุงให้ได้ผลผลิตสูงขึ้นได้
ผลผลิต ต่ำกว่า 30 ผล/ต้น หรือไม่ให้ผลผลิตเลย
อายุ มากว่า 50 ปี
พันธุ์ปลูก พันธุ์ไทยพื้นเมืองต้นสูง
แผนปฏิบัติการ (Operation Plan)
จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรสวนมะพร้าวรายย่อย (Coconut Smallholders Development Committee) เพื่อควบคุมนโยบายสนับสนุนเร่งรัดการดำเนินงาน และประเมินผลการดำเนินงานทุกๆ 6 เดือน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวิสัยทัศน์ที่ได้วางกรอบไว้
โดยคณะกรรมการมีอำนาจในการแต่งตั้งอนุกรรมการปฏิบัติการประจำจังหวัด และคณะทำงานในพื้นที่ที่ปฏิบัติงาน โดยคณะกรรมการฯ เป็นผู้สรรหางบประมาณ โดยใช้วิธีการเช่นเดียวกับเงิน Cess เพื่อเป็นงบประมาณดำเนินการปฏิบัติงานของการยางแห่งประเทศไทย ในกรณีของมะพร้าวให้ได้การหักภาษีรายได้จากการส่งออกมะพร้าว หรือผลิตภัณฑ์มะพร้าว ในอัตรา 1-1.5% (อาจต้องมีการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้อง)
บุคคลที่ควรจะเป็นคณะกรรมการฯ มีดังนี้
- ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์/รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน
- เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นรองประธาน
- อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (กวก.)
- อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.)
- ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)
- ผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- ผู้แทนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
- ผู้แทนองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
- กรรมการและเลขานุการกรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)
- ผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงาน กรมวิชาการเกษตร (กวก.)
- ผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงาน กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.)
ความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility)
ยุทธศาสตร์เร่งรัดเพิ่มผลผลิตมะพร้าวให้เพียงพอบริโภคในประเทศจะสัมฤทธิ์ผลได้นั้น ต้องมีองค์กรที่รับผิดชอบโดยตรง ในการดำเนินการ ภารกิจทั้ง 2 ภารกิจ คือ โครงการปรับปรุงสวนเสื่อมโทรม โครงการปลูกแทนสวนเก่าอายุมาก ตามที่ได้เสนอในเบื้องต้น ต้องมีคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรสวนมะพร้าวรายย่อยเป็นองค์กรที่คอยกำกับดูแล และให้นโยบาย สรรหางบประมาณ และประเมินผลดำเนินงาน คาดว่า ภารกิจที่ 1 จะทำให้ผลผลิตมะพร้าวเพิ่มขึ้นเพียงพอสมความต้องการของปี 2562 ได้ ภายใน 15 ปี กล่าวคือ (166,492 ตัน) ต้องปรับปรุงสวน ปีละ 28,828 ไร่ ผลผลิตจะต้องเพิ่มขึ้นปีละ 11,099 ตัน เพื่อสะสมรวมกัน 15 ปี จะได้ผลผลิต 166,485 ตัน งบประมาณเฉพาะค่าวัสดุ คือ ปุ๋ยเกรด 13-13-21 และหินปูนโดโลไมท์ ใส่มะพร้าว ต้นละ 4 กิโลกรัม และ 2 กิโลกรัม/ปี เป็นงบประมาณค่าปุ๋ย จำนวน 2,190.93 ตัน ราคาตันละ 17,000 บาท เป็นเงิน 37.246 ล้านบาท ใช้หินปูนโดโลไมท์ จำนวน 1,095.46 ตัน ราคาตันละ 4,000 บาท เป็นเงิน 4.381 ล้านบาท รวมค่าวัสดุปุ๋ย และหินปูนโดโลไมท์ เป็นเงิน 41.627 ล้านบาท งบประมาณจะใช้ปีละ 41.627 ล้านบาท (เฉพาะค่าปุ๋ย และค่าหินปูนโดโลไมท์) หากดำเนินการครบ 15 ปี จะใช้งบประมาณค่าปุ๋ยและวัสดุปรับปรุงดิน เป็นเงินรวม 624.405 ล้านบาท
โครงการปรับปรุงสวนเสื่อมโทรมสามารถเร่งรัดเพิ่มผลผลิตได้ ทั้งนี้ต้องมีความพร้อมด้านงบประมาณ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ ฯลฯ ที่รัฐบาลต้องจัดสรรให้
สำหรับ ภารกิจที่ 2 โครงการปลูกแทนมะพร้าวอายุมาก เป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณ และเวลา กล่าวคือ อาจใช้เวลา 30-40 ปี จึงจะครบ 1 รอบ ของการปลูกแทน เนื่องจากมะพร้าวเป็นพืชยืนต้นที่ให้ผลผลิตช้า ประมาณ 5-6 ปี และมีอายุยืนอย่างน้อย 60 ปี เปรียบเทียบกับพืชอื่นๆ เช่น ธัญพืช พืชผัก ซึ่งให้ผลผลิตเร็ว ภายใน 3-4 เดือน ระยะเวลา งบประมาณ และบุคลากร จะเป็นข้อจำกัดที่จะทำให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลว
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงาน ในปี 2551 มีมะพร้าวที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ประมาณ 699,000 ไร่ ของพื้นที่ปลูกมะพร้าว หรือประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ปลูกมะพร้าว ในปี 2559 ซึ่งมีจำนวน 1.16 ล้านไร่ จากสถิตินี้ แสดงให้เห็นว่ามีมะพร้าวที่มีอายุมากพร้อมที่จะต้องปลูกแทนถึง 65 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ ในปีปัจจุบัน (2562) เบื้องต้นหากเราใช้ 699,000 ไร่ เป็นฐานในการเริ่มต้นปลูกแทน เมื่อประมวลแล้วหากใช้จำนวนต้นเฉลี่ย/ไร่ 19 ต้น เราจะต้องโค่นล้มมะพร้าวถึง 13.281 ล้านต้น หากใช้เวลา 30 ปี ต้องโค่นล้มมะพร้าว ปีละ 442,700 ต้น หรือปีละ 23,300 ไร่ ดูเหมือนว่าจะทำได้ยาก น่าจะขยายเวลาเป็น 40 ปี จะเหมาะกว่าปริมาณจำนวนต้นที่จะโค่นล้มน้อยกว่าระยะเวลา 30 ปี กล่าวคือ จะโค่นล้มมะพร้าวเพียง 332,025 ต้น หรือ จำนวน 17,475 ไร่ ในการโค่นล้มต้นมะพร้าว จะมีต้นมะพร้าวที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จำนวนมาก จากผลการทดลองปลูกแทนมะพร้าวในฟิลิปปินส์ นำต้นมะพร้าวที่โค่นล้มแล้วไปเลื่อยต้นหนึ่ง จะได้ไม้มะพร้าวประมาณ 0.25 ลูกบาศก์เมตร ฉะนั้น การปลูกแทนมะพร้าวอายุมาก จะมีไม้มะพร้าวจำนวนมหาศาล นำไปใช้ประโยชน์ได้ ทำให้เกิดอุตสาหกรรมไม้มะพร้าวขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชนและเกิดการจ้างงาน จากข้อมูลดังกล่าว ปริมาณที่จะได้ไม้มะพร้าว ปีละประมาณ 83,000 ลูกบาศก์เมตร เมื่อสิ้นสุดโครงการ 40 ปี ปริมาณไม้มะพร้าวทั้งหมดรวม 3.32 ล้านลูกบาศก์เมตร จะมีมูลค่ามหาศาล
ในการปลูกแทนมะพร้าวอายุมากนั้น ขั้นตอนดำเนินงานต้องมีการสำรวจขึ้นทะเบียนขอรับการสงเคราะห์ ขั้นตอนการทำงาน ควรนำวิธีปฏิบัติการปลูกแทนยางของการยางแห่งประเทศไทย มาใช้ในการปลูกแทนมะพร้าว และควรใช้วิธีการสงเคราะห์ในหลักการ ให้การสงเคราะห์รายละไม่เกิน 20 ไร่ เงินสงเคราะห์ ไร่ละ 16,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี มีการเบิกเงินสงเคราะห์เป็นงวดๆ ตามความก้าวหน้าของกิจกรรมการปลูกแทน สำหรับค่าโค่นล้มต้นมะพร้าวควรนำอุตสาหกรรมการแปรรูปไม้ เข้ามาร่วมในโครงการ อาจเป็นภาครัฐ หรือเอกชน ปัญหาของการโค่นล้มมะพร้าว หากไม่มีการนำมะพร้าวไปแปรรูป หรือเคลียร์พื้นที่สวนไม่ได้ ต้นมะพร้าวและกิ่ง ใบ ทะลาย จะเน่าเปื่อยอยู่ในสวน เป็นแหล่งขยายพันธุ์ของด้วงแรด ด้วงงวง ซึ่งเป็นศัตรูพืชทำลายมะพร้าวที่สำคัญ และยังเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคมะพร้าวอีกด้วย
งบประมาณที่จะใช้ในโครงการระยะยาว คือ 40 ปี ที่เป็นรอบแรกของโครงการปลูกแทนที่จะประมาณการได้ มีดังนี้
ตาราง อัตราการใช้ปุ๋ยเกรด 13-13-21 และหินปูนโดโลไมท์ (ตามอายุมะพร้าว) และปริมาณการใช้ในการปลูกแทนมะพร้าวอายุมาก พื้นที่ 87,375 ไร่ (1,660,125 ต้น) ระยะแรก 5 ปี
อายุ (ปี) | อัตรา/ต้น (กก.) | ปริมาณปุ๋ย | หินปูนโดโลไมท์ | |
13-13-21 (กก.) | อัตรา/ต้น (กก.) | ปริมาณ (กก.) | ||
1 | 1 | 1,660,125 | 1 | 1,660,125 |
2 | 2 | 3,320,250 | 1 | 1,660,125 |
3 | 3 | 4,980,375 | 2 | 3,320,250 |
4 | 4 | 6,640,500 | 2 | 3,320,250 |
5 | 4 | 6,640,500 | 2 | 3,320,250 |
รวม | 14 | 23,241,750 | 8 | 13,281,000 |
รวม | ตัน | 23,241.75 | รวมตัน | 13,281.00 |
* ราคาปุ๋ยเกรด 13-13-21 ตันละ 17,000 บาท จำนวน 23,241.75 ตัน เป็นเงิน 385.109 ล้านบาท
ราคาหินปูนโดโลไมท์ ตันละ 4,000 บาท จำนวน 13,281.00 บาท เป็นเงิน 53.124 ล้านบาท
ราคาหน่อพันธุ์มะพร้าว หน่อละ 30 บาท (1,660,125 หน่อ เป็นเงิน 49.804 ล้านบาท)
** รวมงบประมาณปลูกแทนมะพร้าวระยะแรก 5 ปี จำนวน 87,375 ไร่ เป็นเงิน 498.037 ล้านบาท
*** เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับปุ๋ยเกรด 13-13-21 หินปูนโดโลไมท์ และค่าหน่อพันธุ์มะพร้าว
**** สงเคราะห์ไร่ละ 16,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี งบประมาณ 1,398.00 ล้านบาท
หากให้เงินสงเคราะห์ปลูกแทนมะพร้าวเท่ากับเงินสงเคราะห์ปลูกแทนยางพารา น่าจะเหมาะสมคือ ไร่ละ 16,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี เงินส่วนใหญ่ใช้ไปเพื่อเป็นค่าปุ๋ย และค่าหินปูนโดโลไมท์ บำรุงดินและค่าหน่อพันธุ์มะพร้าว เป็นเงิน 498.037 ล้านบาท
ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ได้ทำงานวิจัยด้านปรับปรุงพันธุ์มะพร้าว ได้พันธุ์ลูกผสมที่ให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์พื้นเมืองต้นสูงถึง 1-2 เท่า มีอยู่หลายพันธุ์ หากใช้พันธุ์ลูกผสมนี้ปลูกแทน จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น สนองความต้องการบริโภคภายในประเทศได้อย่างแน่นอน หากโครงการปลูกแทนเดินคู่ขนานไปกับโครงการปรับปรุงสวนเสื่อมโทรม พันธุ์ที่กล่าวถึงมี สวีลูกผสม 1 ให้ผลผลิต 2,300 ผล/ไร่/ปี (มีขนาดผลเล็ก) พันธุ์ลูกผสมชุมพร 2 ให้ผลผลิต 1,800 ผล/ไร่/ปี และมีพันธุ์ใหม่ที่กำลังจะผลิตหน่อได้ในปี 2563 เป็นพันธุ์ลูกผสมสามทาง คือ มลายูสีเหลืองต้นเตี้ยxเวสท์อัฟริกันต้นสูงxมะพร้าวใหญ่ (ไทยต้นสูง) เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีขนาดผลใหญ่ และขนาดกลาง ให้ผลผลิต 2,372 ผล/ไร่/ปี นอกจากนี้ ยังผลิตหน่อพันธุ์ไทยพื้นเมืองต้นสูง คัดเลือกพันธุ์ในการปลูกแทน ควรให้เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะปลูกพันธุ์อะไร
สรุป
ยุทธศาสตร์เร่งรัดเพิ่มผลผลิตมะพร้าวให้พอกับการบริโภคในประเทศ จะบรรลุเป้าหมายได้ ต้องมีองค์กรที่รับผิดชอบ และคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรสวนมะพร้าวรายย่อย เป็นผู้รับผิดชอบในด้านนโยบาย การจัดสรรงบประมาณ และบุคลากร ดังได้กล่าวมาแล้ว ในการพัฒนาสวนมะพร้าวรายย่อย จะเป็นการช่วยทำให้เศรษฐกิจ และสังคมในชุมชนดีขึ้น พร้อมทั้งเกิดการจ้างงาน ซึ่งจะมีผลดีกับครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยไม่น้อยกว่า 3 แสนครอบครัว
วัตถุประสงค์ของการเขียนบทความนี้ ก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องกับการพัฒนามะพร้าวได้ทราบ เพื่อหาทางแก้ปัญหาต่อไปสำหรับหลักการหรือรูปแบบ (Model) เป็นเพียงข้อเสนอ เมื่อดำเนินการจริงๆ แล้วผู้เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม
หากดูประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนามะพร้าว เพื่อเพิ่มผลผลิตโดยวิธีการปลูกแทนสวนมะพร้าวอายุมาก และปรับปรุงสวนเสื่อมโทรม เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในสองโครงการนี้ ตั้งแต่ ปี 2531 ในการดำเนินงานประสบกับปัญหาหลายอย่าง อาทิ มีหน่อพันธุ์ดีไม่พอใช้กับโครงการ งบประมาณ และบุคลากรไม่พอ แต่โครงการเหล่านี้ไม่ได้หยุดชะงักเสียทีเดียว จนปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียใช้เวลา ประมาณ 30 ปี ในการพัฒนามะพร้าวเลื่อนระดับจากผู้ผลิตมะพร้าวเป็น อันดับ 2 รองจากประเทศฟิลิปปินส์ เป็นผู้ผลิตรายใหญ่มะพร้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากกว่า 23 ล้านไร่ และทำนองเดียวกันประเทศฟิลิปปินส์ ก็ได้ดำเนินโครงการทั้ง 2 โครงการ อย่างต่อเนื่อง ในปี 2531 เช่นกัน สามารถเพิ่มพื้นที่ปลูกมะพร้าวได้มากกว่า 22 ล้านไร่ ครองอันดับ 2 ของผู้ผลิตมะพร้าวรายใหญ่ของโลก จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเพื่อยกระดับให้ผลผลิตมะพร้าวเพิ่มสูงขึ้นนั้น ต้องใช้เวลามาก