วช.ชูนวัตกรรมพลิกโฉม “หน่อกะลา” เพิ่มรายได้เกษตรกรเกาะเกร็ด

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำนวัตกรรมงานวิจัยมาใช้พัฒนายกระดับการผลิตหน่อกะลา ซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านของเกาะเกร็ด ตั้งแต่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การใช้เทคโนโลยียืดอายุวัตถุดิบ การใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้งทางการเกษตร และการจัดจำหน่าย เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจชุมชน กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหน่อกะลาในชุมชนเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

ชาสมุนไพรหน่อกะลา ของกลุ่มเห็ดหน่อกะลาเกาะเกร็ด

หน่อกะลา

หน่อกะลา เป็นพืชท้องถิ่นของเกาะเกร็ด ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญ เดิมสันนิษฐานว่า คนมอญที่อพยพมาจากพม่า ได้นำต้นหน่อกะลาติดตัวมาด้วย คนไทยเชื้อสายมอญส่วนใหญ่นิยมนำหน่อกะลามารับประทานในรูปแบบผักสด ต้มกะทิจิ้มน้ำพริก เนื่องจากหน่อกะลาเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยขับลม

จากการสำรวจเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ พบว่า หน่อกะลา เป็นพืชที่ขึ้นง่ายตามบริเวณริมน้ำ มีราคาต่อกิโลกรัมที่สูง ถือเป็นพืชอนุรักษ์ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องจากหน่อกะลา เป็นพืชประจำถิ่นของเกาะเกร็ด เนื่องจากประชาชนภายนอกเกาะเกร็ดไม่นิยมรับประทานแบบสด จึงนิยมนำไปใช้เป็นส่วนประกอบอาหาร เช่น ทอดมันหน่อกะลา เป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

หน่อกะลา มีชื่อพื้นเมืองว่า “ข่าน้ำ” หรือ “เร่ว” เป็นพืชผักพื้นเมือง ตระกูลเดียวกับขิง ข่า โดยทั่วไป ต้นหน่อกะลาสามารถเติบโตได้ทั้งบนบกและริมน้ำ ถ้าน้ำท่วมเกิน 3 เดือน ต้นจะไม่สามารถอยู่ได้ ต้นหน่อกะลามีลำต้นเป็นแง่งอยู่ใต้ดิน เจริญขนานกับดิน เห็นข้อปล้องชัดเจน

ถ้าเจริญในพื้นที่ที่มีน้ำสมบูรณ์ จะทำให้ส่วนแง่งอวบอ้วน เนื้อในแง่งสีขาว กลิ่นอ่อน รสซ่าเล็กน้อย ลำต้นเทียมที่งอกขึ้นมาเหนือพื้นดินจะเป็นกาบของใบ ซึ่งจะมีการซ้อนกันอยู่ ใบเรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปหอก ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยง ด้านบนมีสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่า เส้นกลางใบขนาดใหญ่ ดอกมีลักษณะเป็นช่อแยก แขนงที่ทอดดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกขาว มีขนบางๆ กลิ่นหอมอ่อน มีแถบสีชมพูเข้มตรงกลาง ผลเป็นผลเดี่ยว มีลักษณะค่อนข้างกลม เปลือกบาง สีเขียวเมื่ออายุน้อย เมื่อแก่ผิวสีดำบางเปราะ เมล็ดมาก เปลือกผลจะมองเห็นเป็นแถบนูนพาดตามยาวของผลจนรอบ

แปลงปลูกหน่อกะลา

ลักษณะของหน่อกะลา ภายนอกเหมือนกับต้นข่ามาก แต่ขนาดของใบจะใหญ่กว่าต้นข่ามาก นอกจากนี้ ยังมีกลิ่นฉุนน้อยกว่า หน่อกะลาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกาะเกร็ดมี 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์หน่อขาว และพันธุ์หน่อแดง ปัจจุบัน ยังไม่มีการระบุสายพันธุ์ของต้นหน่อกะลาอย่างชัดเจน โดยเชื่อว่า ต้นหน่อกะลา ที่เกิดจากหน่อแดงจะมีขนาดใหญ่กว่าหน่อขาว

การใช้ประโยชน์หน่อกะลาในพื้นที่เกาะเกร็ด

ชาวเกาะเกร็ดนิยมนำหน่อกะลามาประกอบอาหารหลายอย่าง โดยใช้หน่ออ่อน เช่น รับประทานสด ต้มจิ้มน้ำพริก ใช้แทนข่าสำหรับทำต้มยำ ใช้แทนถั่วฝักยาวทำทอดมัน ทอด แกงส้ม ต้มยำ เป็นต้น สรรพคุณทางสมุนไพร ดอก รักษาอาการผื่นคันตามผิวหนัง ผล รักษาอาการท้องอืด แน่นเฟ้อ จุกเสียด ราก รักษาอาการเหนื่อยหอบ

ด้านการค้าขาย หน่อกะลาในพื้นที่เกาะเกร็ด มีการจำหน่ายต้นหน่อกะลาเพื่อรับประทานใน 2 รูปแบบ คือ
1. จำหน่ายส่งร้านอาหาร หรือร้านทอดมันหน่อกะลา ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่เกาะเกร็ด
2. จำหน่ายปลีก โดยใช้หน้าร้านของตัวเอง หรือหาบเร่ ในพื้นที่เศรษฐกิจของเกาะเกร็ด เช่น ตลาดเสาร์-อาทิตย์ บริเวณหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 7

น้ำชาสมุนไพรพร้อมดื่มที่ทำจากหน่อกะลา

ทีมนักวิจัยของ มทร. สุวรรณภูมิ ได้ลงพื้นที่เกาะเกร็ดไปจัดเวทีระดมความคิดเห็น เรื่องฤดูกาลการปลูกหน่อกะลา กับชาวชุมชนเกาะเกร็ด พบว่า ช่วงที่ตัดต้นขายได้มากที่สุด ขนาดต้นใหญ่ที่สุด อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม (ระยะเก็บเกี่ยว ประมาณ 4-5 เดือน ในรอบปี) ส่งผลให้เกษตรกรผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกขายหน่อกะลาให้กับผู้ซื้อเป็นระยะเวลา 7-8 เดือน

เกษตรกรบางรายไม่กล้าที่จะตัดหน่อกะลาขาย เพราะต้องการให้แตกกอแน่น และได้ขนาดต้นที่ใหญ่ในช่วงฤดูกาลที่เก็บผลผลิตได้ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรผู้ค้าปลีก เนื่องจากขายได้ประมาณ 200-300 บาท ต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นรายได้ต่อเดือน เท่ากับ 800-1,000 บาท ซึ่งรายได้ไม่แน่นอนในช่วงที่น้ำท่วมขังมากไป รวมทั้งช่วงฤดูแล้ง น้ำทะเลหนุน อากาศเย็น และจากการเผาทำลายวัชพืชในพื้นที่นอกฤดูการปลูก เป็นต้น

ในช่วงที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยของ มทร. สุวรรณภูมิ ได้ลงพื้นที่เกาะเกร็ดอยู่หลายครั้ง เพื่อสร้างกระบวนการทำงานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหน่อกะลาในพื้นที่เกาะเกร็ด รวมทั้งส่งเสริมการใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและเกิดมูลค่า รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่และผ่านการออกแบบร่วมกับของชุมชน

กระบวนการแปรรูปกระดาษบรรจุภัณฑ์จากหน่อกะลา
ผลงานแปรรูปบรรจุภัณฑ์จากหน่อกะลา

ผลการวิจัย ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ ได้นำหน่อกะลาไปอบแห้งเพื่อนำมาวิเคราะห์สารสกัด พบว่า มีสีและกลิ่นที่เข้มขึ้น จึงได้ทดลองวัดและเปรียบเทียบปริมาณสารประกอบฟีนอลิก (phenolic) จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ตามธรรมชาติในพืช พบว่า สารประกอบฟีนอลิกรวมของหน่อกะลาอบแห้งสูงกว่าต้นสด ประมาณ 6 เท่า นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์จากหน่อกะลาที่สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกในพื้นที่เกาะเกร็ด และเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ซึ่งกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

ออมสิน ร่วมพลิกฟื้นชุมชนเกาะเกร็ด

ด้านธนาคารออมสิน ก็เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือภูมิปัญญาชาวบ้านเกาะเกร็ด ที่ประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำสวน เป็นหลัก นำพืชพื้นบ้าน เช่น หน่อกะลา รางแดง ฯลฯ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชา เพื่อสุขภาพ เป็นต้น เดิมสินค้าที่ผลิตขึ้นในชุมชนคลองศาลากุลจะขายให้นักท่องเที่ยวเป็นหลัก ในพื้นที่วัดปรมัยยิกาวาส แต่ปัจจุบันไม่สามารถไปวางสินค้าขายได้ดังเดิม เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ

เมื่อช่องทางการขายสินค้าในเกาะเกร็ดถูกตัดขาด ชาวบ้านจึงรวมตัวกันตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้น เพื่อสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น ชาสมุนไพรหน่อกะลา ชาสมุนไพรรางแดง เป็นต้น นอกจากนี้ชาวบ้านยังช่วยกันหาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้า เช่น ห้างสรรพสินค้า งานแสดงสินค้าต่างๆ แต่การเดินทางลำบากเพราะต้องนั่งเรือข้ามฟาก กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่ไม่ยั่งยืน เนื่องจากไม่มีพื้นที่ขายประจำส่งผลให้การค้าขายไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังขาดองค์ความรู้และการจัดการสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ชุมชนไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนได้

ชาหน่อกะลา บ้านนางรำ

ดังนั้น ธนาคารออมสิน จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ผ่านโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ส่งเสริมให้นักศึกษานำองค์ความรู้ที่ได้เรียนจากภาคทฤษฎีมาประยุกต์ใช้เพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์และบริการของวิสาหกิจชุมชนคลองศาลากุล ประกอบด้วย ชุมชนกระเป๋าผ้า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรและเบเกอรี่ 2 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนางรำ จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนดอกไม้ผ้าใยบัว และกลุ่มเกษตรกรทำสวนเกาะเกร็ด เป็นต้น

ทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ลงพื้นที่สำรวจและรับทราบปัญหา พบว่า ชุมชนต้องการให้พัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าให้มีความทันสมัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ยกระดับสินค้าชุมชนให้มีความน่าสนใจมากขึ้น รวมไปถึงสินค้าประเภทบริการ และการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงกัน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับชุมชนด้วย

ลูกค้าสนใจผลิตภัณฑ์ชาหน่อกะลา บ้านนางรำ เกาะเกร็ด

นางสาวธันย์ชนก ทองนิ่ม (พัฟ) นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาการผลิต ชารางแดง พบว่า สินค้ามีคุณภาพดี ราคาไม่แพง แต่ขายไม่ค่อยได้ จึงวิเคราะห์หาสาเหตุ พบว่า ชารางแดงมีกลิ่นที่ฉุนเกินไป จึงได้คิดค้นในการปรับปรุงกระบวนการผลิต ด้วยการลดไฟในการคั่ว วัดอุณหภูมิและเพิ่มการนวดใบชา จนได้สูตรที่ลงตัว ได้กลิ่นชาที่หอมละมุน หลังจากปรับสูตรและออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้น เราจึงรู้สึกดีใจที่ได้นำความรู้ที่เรียนมา มาช่วยชาวบ้านได้จริง

นายธนกร พ่วงกลิ่น (ออม) นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 สาขาการตลาด วิทยาลัย CIBA ตัวแทนกลุ่มออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาหน่อกะลา บ้านนางรำ กล่าวว่า โจทย์คือช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น 50% ทางทีมได้รับมอบหมายให้ดูแลการออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาหน่อกะลา เนื่องจากแพ็กเกจเดิมใช้ต้นทุนสูง เราจึงช่วยกันออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ โดยใช้โทนสีที่เรียบง่าย ใช้วัสดุที่เป็นกระดาษ และนำรูปเจดีย์เอียงที่เป็นสัญลักษณ์ของเกาะเกร็ดมาเป็นจุดขาย

หลังจากนั้นยังช่วยทำเพจและบู๊ธเพจให้คนเห็นมากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด ผลที่ได้รับหลังจากแก้ไขบรรจุภัณฑ์และบู๊ธเพจกว่า 1 เดือน พบว่า มีการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และหน้าร้านเพิ่มขึ้น 40% ซึ่งเป็นผลที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างมาก จากการสะท้อนปัญหาของชาวบ้านที่ไม่มีหน้าร้านประจำ ทำให้พวกเราช่วยหาช่องทางขายใหม่ขึ้นจนประสบความสำเร็จได้

ด้าน นางสาวธนภรณ์ เลิศศรีเทียนทอง (นุ่น) นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 สาขาการตลาด วิทยาลัย CIBA กล่าวเสริมว่า ภายหลังจากที่ทีมนักวิจัยได้ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ชาหน่อกะลา บ้านนางรำ ในรูปแบบใหม่ สามารถลดต้นทุนได้ประมาณ 7-8 บาท ต่อห่อ ส่งผลให้ชาวบ้านมีกำไรต่อชิ้นเพิ่มขึ้น

ผลงานวิจัยในโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น

สำหรับโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เป็นโครงการที่น่าสนใจมาก ทำให้มีโอกาสได้นำความรู้ที่เรียนมาช่วยเหลือชุมชนได้จริง และชาวบ้านในชุมชนได้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงอยากให้มีโครงการนี้ต่อไป