ผักหวานป่า..ตัวการก่อมลพิษหมอกควันจริงหรือ?

ผักหวานที่โตพร้อมให้ผลผลิต

ปีนี้ปัญหามลภาวะอากาศเป็นพิษ จากหมอกควันที่เกิดจากการเผาไหม้ โดยเฉพาะการเผาป่าทำไร่เลื่อนลอย พบรายงานจุดเผาไหม้ หรือ ฮอตสปอต (Hot Spot) ทั่วไปในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ปัญหาเกิดจากฝีมือคน ทางแก้ก็ต้องแก้ที่คนเรา ให้ลด ละ เลิก ค่านิยมการเผาป่า เพื่ออะไรหลายอย่าง เช่น หาของป่า ล่าสัตว์ เตรียมที่ดินปลูกพืช หรืออีกสาเหตุหนึ่ง ที่สะท้อนใจพวกเราเหล่านักบริโภคนิยมของป่า คือชาวบ้านที่หาของป่า ตกเป็นจำเลยของสังคม ว่าเป็นคนที่ชอบเผาป่า เอา “ผักหวานป่า”มาขาย ทำให้เราสะเทือนความรู้สึกไม่น้อย จนไม่อยากซื้อหาผักหวานมาต้มแกงกิน เกรงว่าจะเป็นการสนับสนุนให้ชาวบ้าน เผาป่ากันมากยิ่งขึ้น

สอบถามผู้รู้หลายคน ถึงเหตุผลที่ชาวบ้านต้องเผาป่า เพื่อเอาผักหวาน มาขายเลี้ยงชีพนั้น เขาว่าเป็นเรื่องจริง ที่ชาวบ้านจุดไฟเผาหญ้าแห้ง กิ่งไม้ใบไม้แห้ง บริเวณที่มีต้นผักหวาน ซึ่งตามจริงแล้วผักหวานป่าจะแตกยอดใหม่ ก็ต่อเมื่อใบแก่หลุดร่วงก่อน แต่ผักหวานเป็นพืชทนแล้งใบร่วงหล่นช้า วิธีที่จะทำให้ใบแก่ร่วง ก็ต้องใช้ไฟจุดเผา รม ลวก ไหม้ กิ่งก็จะทิ้งใบแก่ และแตกยอดใหม่ภายในไม่กี่วัน แต่การจุดไฟเผาต้นผักหวานนั้น บริเวณที่จุดไฟมีมากมายด้วยเชื้อไฟที่พร้อมจะลุกลามเป็นบริเวณกว้าง ยากที่จะควบคุมการลุกลามได้ จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ ไฟไหม้ป่าปัญหาระดับชาติที่เป็นอยู่ขณะนี้

ผักหวานป่า เป็นไม้พื้นเมืองที่มีแหล่งกำเนิดในเขตประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และคาบสมุทรมาเลย์ เมืองไทยเราพบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นผักพื้นบ้านที่นิยมบริโภคแพร่หลายของคนไทยมาก ผักหวานจะขึ้นตามที่ดอนสูง โคกเนิน ป่าเชิงเขา หรือป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ สภาพดินดาน ดินปนทราย เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี ออกยอดให้เก็บกิน ขาย ได้ช่วงที่ผ่านแล้งมาระยะหนึ่ง ราวปลายเดือนมกราคม ถึงมีนาคม ต้นฤดูจะราคาดีมาก เมื่อก่อนกิโลกรัมละ 200-300 บาท ปีนี้ 400 บาทขึ้น พออีกระยะก็จะ 200-300 บาทอีก ในตลาดสดมักจะมีวางขายย่อย เป็นกองๆละ 20 บาท 3 กอง 50 บาท มักมีขายพ่วงสินค้าคู่กัน คือ “ไข่มดแดง” เห็นว่าราคาก็แพงเอาเรื่อง หายาก หมายถึงมีความยากลำบากในวิธีการสอยไข่มดแดง กว่าจะหาได้แต่ละถ้วยมาวางขาย ถ้วยละ 30-50 บาท ต้องใช้ทักษะฝีมือความชำนาญ มือใหม่ที่หัดลองแหย่รังเอาไข่มดแดง แทบทุกคนมักบ่นว่า อย่างนี้ซื้อกินดีกว่า

ในสภาพป่าที่ถูกจุดไฟเผาเอายอดผักหวานป่า ต้นผักหวานหลายต้นถูกไฟไหม้ตาย ต้นที่รอดก็เริ่มกระบวนการเจริญเติบโต สร้างชีวิตใหม่ ถ้าโชคดีก็มีโอกาสออกดอกออกลูกมีเมล็ดขยายพันธุ์ต่อ และก็มีหลายส่วนที่เมล็ดผักหวาน ถูกกวาดเก็บออกมาจากป่า เพื่อนำมาเพาะขยายต้นผักหวานปลูกใหม่ ในพื้นที่เกษตร สวนหลังบ้าน หรือแปลงเกษตรเพื่อการค้า ขณะนี้จึงมีการนำต้นผักหวานมาปลูกเพื่อง่ายต่อการดูแล เก็บเกี่ยว เป็นเจ้าของแปลงผักหวานเช่นเดียวกับพืชอีกหลายๆอย่าง ที่เป็นพืชการค้า ทำรายได้ให้แก่เกษตรกร ทดแทนต้นผักหวานจากป่าที่มีลดน้อยลง

มารู้จักผักหวานกันเถอะ ผักหวานป่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ต้นสูงประมาณ 5-16 เมตร ใบเดี่ยวสีเขียวเข้มหนา ใบรูปไข่หรือรูปรี ขอบใบเรียบ ปลายใบป้านกลมหรือมน มีรอยเว้าแหลมตื้นๆหรือเป็นติ่งเล็กๆยื่นออกไป ฐานใบเป็นรูปลิ่ม ใบยาว 1-3 เซนติเมตร กว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ก้านใบยาว 1-3 มิลลิเมตร ยอดอ่อนมีสีเขียวอ่อนเป็นใบย่อยเล็กๆ ดอกออกเป็นกลุ่มสีเขียว ออกตรงซอกใบ กิ่งและลำต้น มีใบประดับขนาดเล็ก ผลออกเป็นพวงรูปกลมรี สีเหลืองอมน้ำตาล กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 2-3 เซนติเมตร

เราปลูกกันเองก็ได้ ไม่ต้องเข้าป่าหาให้เป็นเรื่อง การปลูกผักหวาน เมื่อแรกเริ่ม รู้สึกเหมือนกับว่าเป็นเรื่องยากมาก มีชาวบ้านพยายามทดลองหลายวิธี แต่ก็มีไม่กี่คนที่ค้นพบวิธีที่ปลูกผักหวาน แล้วรอดตายเป็นไม้ยืนต้น ค้นพบว่าผักหวานมีการแพร่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ก็นำเอาลูกสุกแก่มาแช่น้ำและคั้นเอาเปลือกออกเหลือแต่เมล็ดใน เอาไปหว่านลงแปลงเพาะ เมื่องอกต้นอ่อนออกมา นำแยกลงถุง เพื่อให้ได้ต้นโตแล้วนำไปปลูก หรือขายให้ผู้สนใจนำไปปลูก ก็ได้ดีอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่รอด หรือรอดก็อยู่ได้ไม่นาน อีกวิธีหนึ่ง จากการสังเกตพบว่า โคนต้นผักหวานที่โตแล้วสูงมากกว่า 2 เมตร จะพบต้นผักหวานเล็กๆ โผล่ดินขึ้นมา ตอนแรกคิดว่าเป็นต้นที่งอกจากเมล็ด แต่ผักหวานที่มีอยู่ยังไม่มีลูกจะมีเมล็ดที่ไหนมาร่วง และงอกบริเวณนั้นได้ พบว่าเกิดขึ้นมาจากรากต้นแม่ที่ ยาวหากินระดับผิวดิน ลักษณะเป็นไหล หรือลำต้นใต้ดิน ก็มีการขุดย้ายไปปลูกที่อื่น รอดบ้างไม่รอดบ้าง บางรายที่มีต้นผักหวานเป็นของตนเองอยู่ในการดูแลใกล้ชิด ก็สามารถใช้วิธีตอนกิ่ง หรือปักชำกิ่ง ขยายพันธุ์ได้ แต่เท่าที่พบมา จะได้ต้นผักหวานที่โตแต่อายุไม่ยืน

ก็มีการคิดค้นกันหลายวิธี วิเคราะห์หาสาเหตุ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆแล้ว ขณะนี้มีหลายรายที่มีรายได้จากการขายกิ่ง ขายต้นพันธุ์ผักหวาน หลายรายยังมีรายได้จากการหาผักหวานป่าไปขาย และมีบางรายที่ประสบผลสำเร็จในการปลูกผักหวานป่า และเก็บยอดขายมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ วิธีการขยายพันธุ์ผักหวานป่า ที่ประสบผลสำเร็จ และพิสูจน์ด้วยเวลาว่ามีความคงทน อายุยืนให้เก็บยอดขายได้มากว่า 5 -10 ปี คือการปลูกด้วยเมล็ด นำเมล็ดผักหวานที่แก่จัด มาลอกเปลือกด้วยการแช่น้ำแล้วคั้นเอาเปลือกออก เหลือเมล็ดนำไปผึ่งลมให้แห้ง ทิ้งไว้ให้โพ้นระยะพักตัว ประมาณ 1 เดือน การเตรียมหลุมปลูกใช้เสียมหรือจอบ พรวนหน้าดินผสมเศษใบไม้ผุเล็กน้อย วางเมล็ดผักหวานลงบนหน้าดิน หลุมละ 2-3 เมล็ด แล้วกลบบางๆด้วยเศษใบไม้หญ้าแห้ง รดน้ำพอชื้น ใช้ตะกร้า เข่ง หรือสุ่มเก่า ครอบหลุมไว้ เป็นการบังร่มเงา และป้องกันการเหยียบย่ำ ปล่อยไว้สัก 1 เดือน จะได้ต้นผักหวานที่ค่อยๆโต แต่ทนทาน ข้อสังเกต การเตรียมหลุมไม่ได้แนะนำให้ขุดหลุมตามหลักการปลูกไม้ทั่วไป แต่เป็นการเลียนแบบธรรมชาติป่า ท่านต้องเข้าใจนะว่า ผักหวานป่าเป็นพืชไม้ป่า ต้องการชีวิตแบบป่า ไม่ชอบแสงแดดมาก ไม่ชอบน้ำมาก  จึงไม่ค่อยพบต้นผักหวานขึ้นในที่โล่งแจ้ง และในป่าทึบก็ไม่พบ ชอบที่ดอน ดินดาน มีรากหากินไม่ลึกแต่มีรากแก้วยึดต้น

การเก็บผักหวาน ไม่ควรตัดโค่นต้นเพื่อมาเด็ดลิดเอายอดอ่อน โค่นต้นหนึ่งต้น ได้ยอดอ่อนผักหวาน สัก 2 กิโลกรัม ขายจากป่า ได้เงิน 200-300 บาท มาขายตลาดเองได้ 500-600 บาท มันไม่คุ้มกับปีต่อๆไปไม่ได้เงินเลย การเผาป่า เพื่อลวกต้นผักหวานกระตุ้นให้แตกยอด ก็ไม่ควรทำอย่างยิ่ง บางต้นทนร้อนไม่ไหว ตายไป ต้นที่ออกยอดออกดอกก็เพื่อสืบต่อชีวิต ถ้าไม่มีน้ำฝน ความชื้นก็ไม่รอดตายเหมือนกัน โปรดคิดให้ดี จุดไฟในป่าที่มีเชื้อไฟ ของแห้งกรอบมากมาย ลุกลามเอาไม่อยู่ จับคนจุดไฟได้ มีความผิดตามกฎหมาย โทษหนักมาก ไม่คุ้มกันเลยกับประโยชน์ที่ได้ ในเมื่อเก็บผักหวานป่าจะเป็นภัยแก่ตัวเอง ก็มาปลูกผักหวานป่าไว้เก็บขายหารายได้แทนดีกว่า ง่ายกว่า คุ้มกว่าเป็นไหนๆ.