มทร.ศรีวิชัย สร้างเครื่องอบแห้งอินฟราเรดระบบการสั่นสะเทือน อบพริกสด ผลิตพริกแห้ง ใช้ได้ทุกสภาพภูมิอากาศ

ดร.เศรษฐวัฒน์ ถนิมกาญจน์ อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ ร่วมกับนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ไสใหญ่ สร้างเครื่องอบแห้งอินฟราเรดโดยใช้ระบบการสั่นสะเทือน เพื่ออบพริกสด ผลิตพริกแห้ง ใช้งานได้จริง ลดเวลาการตากพริกแบบทั่วไป สามารถนำมาใช้งานและแปรรูปได้อย่างมีคุณภาพ

เครื่องอบแห้งอินฟราเรดโดยใช้ระบบการสั่นสะเทือน เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้สามารถใช้ตามสภาวะที่เหมาะสมของการอบแห้งพริกขี้หนูด้วยเทคนิคการอบแห้งแบบอินฟราเรดโดยใช้ระบบการสั่นสะเทือน (VIR) โดยได้ดำเนินการทดลองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องอบแห้ง เริ่มจากการศึกษาอิทธิพลของความเข้มรังสี อินฟราเรดต่อลักษณะการอบแห้งและคุณภาพของพริกขี้หนู และการหาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการอบแห้งพริกขี้หนูด้วย วิธีการอบแห้ง VIR โดยวิธีพื้นผิวตอบสนอง

นำลงใช้งานในพื้นที่

สำหรับส่วนประกอบและโครงสร้างของเครื่องอบแห้งอินฟราเรดโดยใช้ระบบการสั่นสะเทือน ตัวเครื่องมีความยาว 1.25 เมตร ห้องอบแห้งมีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม มีฝาสำหรับนำวัสดุเข้า-ออก จากห้องอบแห้ง ถาดวางวัสดุอบแห้งมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส สามารถบรรจุได้ จำนวน 4 ถาด สามารถวางวัสดุที่ใช้ทดลองอบแห้งแบบชั้นบางได้ครั้งละประมาณ 15 กิโลกรัม ต่อถาด โครงสร้างของเครื่องอบแห้งทั้งหมดทำจากสแตนเลสซึ่งไม่เป็นสนิม สามารถใช้ได้ยาวนานและคงทน

เครื่องอบ

การทำงานเครื่องอบแห้งอินฟราเรดโดยใช้ระบบการสั่นสะเทือน เริ่มจากชุดควบคุมการทำงานของระบบไฟฟ้า เป็นชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการทำงานของระบบไฟฟ้าทั้งหมดของเครื่องอบแห้ง ซึ่งประกอบไปด้วย สวิตช์นิรภัย ทำหน้าที่ตัด-ต่อกระแสไฟฟ้าในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ตัวควบคุมอุณหภูมิ และควบคุม มีหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิ ผิวของหลอดอินฟราเรด ความเร็วรอบของการสั่นสะเทือน สวิตช์ ปิด-เปิดการทำงานของลมร้อน และอินฟราเรด ในส่วนของชุดการทำงานอินฟราเรด ประกอบไปด้วยหลอดอินฟราเรด ขนาด 1,000 วัตต์ จำนวน 2 หลอด ต่อ 1 ถาด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.17 เซนติเมตร ยาว 70 เซนติเมตร ค่าการแผ่รังสีเท่ากับ 0.9 ติดตั้งอยู่เหนือถาดอบแห้งโดยมีระยะห่าง 20 เซนติเมตร มีหัววัดอุณหภูมิภายในตู้อบแห้ง ติดตั้งที่ผิวของหลอดอินฟราเรดเพื่อวัดอุณหภูมิผิวหลอดขณะทำงาน

พริกของเกษตรกร

นอกจากนี้ ยังมีชุดกลไกสร้างการสั่นสะเทือนของวัสดุ ชุดกลไกการสร้างการสั่นสะเทือนของวัสดุ ประกอบไปด้วยเพลา ซึ่งส่วนปลายของเพลาด้านหนึ่งจะติดตั้งคันชักคันส่งซึ่งติดกับถาดอบแห้ง ส่วนปลายอีกด้านจะต่อเข้ากับมอเตอร์ต้นกำลัง การทำงานของการสั่นสะเทือนเกิดจากการหมุนของเพลาซึ่งรับกำลังจากมอเตอร์ จากนั้นส่งถ่ายกำลังไปขับคันชักคันส่งซึ่งจะทำหน้าที่ส่งถ่ายแรงไปยังถาดอบแห้งทำให้เกิดการเคลื่อนที่ไป-มา วัสดุจึงสามารถเกิดการสั่นสะเทือนได้

ดร.เศรษฐวัฒน์ และคณะ จึงได้นำเครื่องอบแห้งอินฟราเรดโดยใช้ระบบการสั่นสะเทือนไปมอบให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักปากพนังปลอดภัย ได้นำไปใช้งาน ซึ่งเครื่องดังกล่าวสามารถใช้งานได้ทุกสภาพภูมิอากาศ ไม่ต้องกังวลเรื่องฝนตก ไม่มีแดดอีกต่อไป โดยได้รับการประสานงานจากศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริและสำนักกิจกรรมเพื่อสังคมเครือเบทาโกร

หากสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.เศรษฐวัฒน์ ถนิมกาญจน์ อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ไสใหญ่ โทรศัพท์ (087) 746-2379

คณะทำงาน

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่