“สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดี พช. สานต่อปลูกผักเฟส 2 ยึดหลักทฤษฎีใหม่ ให้เกิดอาชีพยั่งยืน

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร แก้ไขปัญหาความอดอยากหิวโหย (Zero Hunger) ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เนื่องจากมีประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งคนไทยในต่างแดนเข้าร่วมโครงการปลูกผักสวนครัวกับ พช. กันอย่างคึกคัก

“เทคโนโลยีชาวบ้าน” มีโอกาสนั่งพูดคุยกับ คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของแนวคิด ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว มาร่วมค้นหาคำตอบได้ในบทสัมภาษณ์พิเศษนี้ไปพร้อมๆ กัน…

ปลูกผักพึ่งพาตัวเอง สู้วิกฤต โควิด-19
ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เรื่องอาหาร การปลูกพืชผักสวนครัวเป็นคำตอบที่บรรพบุรุษเราสอนไว้นานมากแล้วด้วยการทำให้ดู ประเทศไทยมีรากฐานมาจากสังคมเกษตรกรรม สมัยก่อน ปู่ ย่า ตา ยาย จะปลูกผักสวนครัวกันทุกบ้าน หากวันนี้ทุกคนช่วยกันปลูกผักสวนครัวให้มากชนิดทุกบ้าน เสริมด้วยการเลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ คนไทยจะมีอาหารปลอดภัย ประหยัดเงินในกระเป๋า ไม่ต้องซื้อกิน ใช้อาหารเป็นยา สุขภาพก็แข็งแรงอีกด้วย
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยหยุดชะงักในวงกว้าง ทำให้บริษัทเอกชนหลายแห่งต้องลดจำนวนพนักงานหรือปิดกิจการลง นำมาสู่ภาวะการว่างงานจำนวนมาก ประชาชนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ขาดแคลนรายได้และอาหาร ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง

การทำให้ชาวบ้านมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นภารกิจหลักของนักพัฒนาชุมชน ดังนั้น กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพราะเชื่อมั่นในแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นเข้มแข็งมาจากข้างในตัวเราก่อน คือการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาชุมชนเกษตร ซึ่งนับเป็นเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ที่สำคัญของประเทศไทย ให้เกิดความมั่นคงและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ภายในปี 2565 ใน 2 ระดับ คือ

1. ระดับครัวเรือน รณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

2. ระดับอาชีพ คือมุ่งส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการที่ดิน เพื่อให้เกิดอาชีพที่ยั่งยืน โดยนำหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้ประชาชนทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ครอบครัว ได้ดำเนินการเป็นแบบอย่างในการบริหารจัดการพื้นที่ให้มีการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เน้นปลูกพืชอาหาร มีแหล่งน้ำ และที่อยู่อาศัยอย่างสมดุล ให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง เพื่อช่วยให้ประชาชนและชุมชนทุกแห่งสามารถผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ได้

ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

โครงการนี้ ประสบความสำเร็จได้ เกิดจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ยึดหลักไม่เดินเดี่ยว แต่เน้นทำงานแบบมีส่วนร่วม สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เช่น บริษัท เจียไต๋ จำกัด บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จํากัด (ศรแดง) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผักให้ พช. แจกจ่ายให้พี่น้องประชาชนทั้ง 76 จังหวัด แต่อาจจะได้ไม่ครบทุกครัวเรือน เน้นกลุ่มชาวบ้านที่ลำบาก มีฐานะยากจนก่อน ในแต่ละจังหวัดยังมีอีกหลายองค์กรที่นำเมล็ดพันธุ์มาช่วยแจกจ่ายให้ประชาชนได้ปลูก สร้างความมั่นคงทางอาหารเป็นภูมิต้านทานให้ก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน

นอกจากนี้ พช. ยังได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิรักษ์ดิน รักษ์น้ำ (Earth Safe Foundation) สนับสนุนองค์ความรู้การปลูกผักสวนครัว การบริหารจัดการน้ำ วิธีการแปรรูปอาหารและการถนอมอาหาร โดยสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน ดำเนินการผลิตสื่อสร้างการเรียนรู้เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนอีกทางหนึ่ง

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช รับมอบเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว จากนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์

การดำเนินงานที่ผ่านมา บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายเกิดจากเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับชั้น เป็นตัวอย่างนำร่องปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้อย่างน้อย 5 ชนิด ในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ และ พช. ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำทุกระดับ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น เข้าร่วมกิจกรรมปลูกผักกันอย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างกระแส “ความสุขปลูกได้” อย่างคึกคักทั่วประเทศ ทำให้ยอดตัวเลขการปลูกผักสวนครัวกับ พช. บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณฯ สมเด็จพระสังฆราช ทรงอนุญาตให้วัดทั่วประเทศที่มีพื้นที่ว่างให้ประชาชนปลูกผักสวนครัวแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนช่วงวิกฤต โควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งทางกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และ ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้นำเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวมาถวายสมเด็จพระสังฆราช เพื่อประทานแก่วัดทั่วประเทศ

คนไทยในเยอรมนี เข้าร่วมกิจกรรมปลูกผัก กับ พช.

นอกจากนี้ คนไทยในต่างแดนกว่า 30 ประเทศ เช่น เบลเยียม อังกฤษ สวีเดน เยอรมนี ออสเตรเลีย ฯลฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมปลูกผัก กับ พช. ทำให้หัวใจผมพองโต เพราะทุกคนช่วยกันปลูกพืชผักสวนครัว และร่วมแชร์ประสบการณ์ดีๆมาในเพจปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรัก กับ พช. ทุกวัน

ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนนานาประเทศ เช่น สื่อมวลชนญี่ปุ่น และเว็บไซต์ออนไลน์ ROOT THE FUTURE ต่างแสดงความชื่นชมแนวคิดปลูกผัก ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง สู้วิกฤตโควิด-19 ของคนไทย ที่ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ได้ประโยชน์ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี ทำให้มีอาหารปลอดภัยจากสารเคมี 100% กินอาหารเป็นยา สร้างสุขภาพที่ดี ลดรายจ่ายครัวเรือน เหลือจากการบริโภคก็สามารถนำไปขายสร้างรายได้เพิ่มได้อีก

“พช. สอบถามชาวบ้าน พบว่า แต่ละวันต้องซื้อผักมาทำอาหาร ตกวันละ 50 บาท ตั้งเป้าส่งเสริมชาวบ้านปลูกผัก 12 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ เพื่อประหยัดค่าผัก วันละ 50 บาท เท่ากับ ทั่วประเทศจะประหยัดเงินได้ วันละ 600 ล้านบาท หรือปีละ 219,000 ล้านบาท นอกจากช่วยชาวบ้านประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว ยังสามารถนำเงินทุนก้อนนี้ไปพัฒนาอาชีพในด้านอื่นๆ ได้อีก” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าว

ขยายผลโครงการ

ความสำเร็จของการขับเคลื่อนโครงการปลูกผักสวนครัวในครั้งนี้ ทำให้ พช. วางแผนพัฒนาต่อยอดโครงการในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมมือกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ Earth Save ร่วมขับเคลื่อนให้แนวทางตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมไปยังทุกตำบลทุกหมู่บ้าน ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นำแนวทางและวิธีการบริหารจัดการพื้นที่ด้วยรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” มาปรับใช้

ขณะเดียวกัน พช. ได้ทำข้อตกลงร่วมกันกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง ในการพัฒนาให้ความรู้ และจัดทำศูนย์เรียนรู้ให้กระจายไปในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งจะดำเนินการในศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จำนวน 11 ศูนย์ และศูนย์ฝึกอาชีพ พช. จำนวน 6 ศูนย์ และสถาบันการพัฒนาชุมชน อีก 1 แห่ง รวมเป็น “18 ศูนย์เรียนรู้โคกหนองนาโมเดล” ภายในเดือนกันยายน 2563

พูดคุยขยายผลโครงการกับศรแดง

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด เตรียมขยายผลโครงการ เฟส 2 โดย พช. คัดเลือกพื้นที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชผักอย่างมืออาชีพ และศรแดงพร้อมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์และสนับสนุนด้านองค์ความรู้ด้านการปลูกผักให้กับประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการปลูกผักสร้างอาชีพ

“คุณวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด แสดงความชื่นชมคนกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยมาก ว่าทำงานได้ผลดีในวงกว้าง จนพนักงานของศรแดงที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ตกใจว่าทำกันจริงจัง จนผิดคาดหมายของคนศรแดง ที่คิดว่าคงทำกันเล่นๆ แบบไฟไหม้ฟางเหมือนราชการทั่วไป ศรแดงยินดีที่จะพัฒนาต่อยอดโครงการ เฟส 2 กับ พช. เพื่อขยายผลโครงการปลูกพืชผักสวนครัวกับ พช. ให้เกิดความยั่งยืนไปด้วยกัน” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าว

พัฒนาชุมชนต้นแบบเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงาน หรือฝึกประสบการณ์ให้กับสถานศึกษา หรือหน่วยงานต่างๆ ได้ ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เช่น

โอทอป คอมเพล็กซ์สระบุรี และประชารัฐรักสามัคคีสระบุรี ส่งเสริมเครือข่ายผู้ผลิตสินค้าโอท็อป มาเพาะกล้าสมุนไพร พืชผักสวนครัว

“อบต. โก่งธนู” จังหวัดลพบุรี ที่ส่งเสริมชาวบ้านปลูกผักปลอดสารพิษ ในชื่อโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” จำหน่ายในราคาถูก สู้ภัยโควิด-19 และ “โอทอป คอมเพล็กซ์สระบุรี และประชารัฐรักสามัคคีสระบุรี” ชักชวนพนักงานและเครือข่ายผู้ผลิตสินค้าโอท็อป มาเพาะกล้าสมุนไพร พืชผักสวนครัว กว่า 30,000 ต้น พร้อมแปรรูป (บางส่วน) เพื่อบริโภค แจกจ่าย และจำหน่าย สร้างความมั่นคงทางอาหาร เสริมอาชีพ สร้างรายได้ สู้ภัยโควิด-19

“ไม่มีใครตอบได้ว่า วิกฤตโรคระบาดนี้จะจบสิ้นเมื่อใด ทุกคนต้องปรับตัวไปสู่วิถีชีวิตปกติแบบใหม่ หรือ New Normal เพื่อให้สามารถอยู่รอดปลอดภัยจากวิกฤตโรคระบาด ผมขอเชิญชวนคนไทยทุกท่านมาร่วมปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้กับ พช. ปลูกผักเก็บกินเอง เหลือก็นำมาขาย หรือแบ่งปัน ความสุขเล็กๆ ที่เกิดขึ้นใกล้ตัวในทุกๆ เช้า อิ่มท้อง อิ่มใจ ประหยัด แถมด้วยรายได้ และมิตรไมตรี ผมขอส่งกำลังใจและความห่วงใยให้คนไทยทุกคน ผ่านพ้นวิกฤตได้โดยไวครับ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวในที่สุด

…………………………….

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่