ฟรีสแลนด์คัมพิน่า” ผนึกกำลัง “อ.ส.ค.” และ “ม.เกษตร” ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดทำ “หลักสูตรพัฒนาคุณภาพโคนมแห่งชาติ”

มุ่งยกระดับมาตรฐานคุณภาพน้ำนมดิบ พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรโคนม

และสร้างเสริมให้อาชีพการเลี้ยงโคนมมีความมั่นคงและยั่งยืน

 บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดทำ “หลักสูตรพัฒนาคุณภาพโคนมแห่งชาติ” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาได้นำความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละฝ่าย รวบรวมองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ เพื่อพัฒนาหลักสูตรกลางในการส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรโคนมไทยทั่วประเทศ และยกระดับการผลิตน้ำนมโคและอุตสาหกรรมโคนม ให้ได้มาตรฐานสากล อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของการเลี้ยง คนมซึ่งเป็นอาชีพพระราชทาน

ดร.โอฬาร  โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์  บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “นอกจากการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต หนึ่งในพันธกิจหลักของฟรีสแลนด์คัมพิน่า คือ การมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาโคนมและคุณภาพน้ำนม (Dairy development program) ซึ่งเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้กว่า 140 ปี ในการจัดการฟาร์มโคนม การพัฒนาคุณภาพน้ำนมและผลิตภัณฑ์นม จากเกษตรกรโคนมชาวเนเธอร์แลนด์สู่เกษตรกรชาวไทย ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ในวงการโคนมไทยที่มีการบูรณาการองค์ความรู้จากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างแนวทางในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรโคนมให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ”

“ฟรีสแลนด์คัมพิน่า มีผู้ถือหุ้นเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ปัจจุบันมีสมาชิก 19,244 ราย เป็นหนึ่งในสหกรณ์โคนมที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยทำหน้าที่ส่งมอบสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนจากนมคุณภาพให้กับทุกครอบครัวไทยมากว่า 60 ปี และยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรโคนมไทยด้วยความเชี่ยวชาญและความเป็นมืออาชีพควบคู่กับรักษามาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์นมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง” ดร.โอฬาร กล่าว

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้เป็นอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนของเกษตรกรไทย อีกทั้งยังมุ่งสร้างแหล่งความรู้ด้านกิจการ  โคนมและอุตสาหกรรมนมอย่างครบวงจรให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศไทย ณ ศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ค อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ในการดำเนินงานที่ผ่านมา อ.ส.ค.มิได้ให้ความรู้หรือให้การสนับสนุนเฉพาะสมาชิกในเครือข่ายของ อ.ส.ค.เท่านั้น ยังเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญทางด้านกิจการโคนมและอุตสาหกรรมนมครบวงจรให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของประเทศไทยในทุกเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่มีภาคเอกชนอย่างฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) ให้ความสำคัญและร่วมจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ผลจากการจัดทำหลักสูตรพัฒนาโคนมแห่งชาติ จะช่วยต่อยอดการดำเนินงานของ อ.ส.ค.ในการเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ด้านกิจการโคนมและอุตสาหกรรมนมที่ครบวงจรได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

รศ.ดร.สมเกียรติ ประสานพานิช หัวหน้าภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “ในฐานะของสถาบันการศึกษาที่มีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรดังกล่าว เพื่อนำไปพัฒนาเกษตรกรโคนมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้มอบหมายให้ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร ซึ่งมีนักวิชาการเกษตรโคนมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรกรรมโคนมในทุกด้าน ทั้งด้านการจัดการฟาร์มโคนม การจัดการอาหารของโคนม การดูแลระบบสืบพันธุ์และสุขภาพโคนม การปรับปรุงพันธุ์โคนม รวมทั้งการป้องกันและควบคุมโรค ร่วมให้การสนับสนุนในด้านวิชาการ ส่งเสริมการดูแลแนะแนวให้ความรู้และเพิ่มพูนข้อมูลเชิงทฤษฎีให้กับเกษตรกรโคนมตลอดทั้งหลักสูตร รวมทั้งยังมีบทบาทร่วมเป็นผู้ในคำแนะนำในการแก้ปัญหาด้านฟาร์มโคนมอย่างครอบคลุม ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่ต้องการสร้าง และบูรณาการองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมเกษตรของไทยให้เข้มแข็ง อีกทั้งเป็นการปูรากฐานความรู้ให้กับนักศึกษา และเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้มีทั้งความรู้ควบคู่คุณธรรม จริยธรรม และสร้างผลงานด้านเกษตรกรรมให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ”

ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการพัฒนาในส่วนต้นน้ำ ที่สอดคล้องตามแนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นม (ปี2560 – 2569) ที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมไทยทั้งระบบ ให้ได้มาตรฐานสากลภายในระยะเวลา 10 ปี โดย    พันธกิจร่วมกันของหน่วยงานทั้ง 3 ภาคส่วน ภายในระยะเวลา 2 ปีจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งทางวิชาการและภาคปฏิบัติ เพื่อพัฒนาให้เป็นหลักสูตรกลางในการส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรโคนม และนำไปใช้ทั่วประเทศ เช่น หลักสูตรการจัดการฟาร์ม หลักสูตรการสร้างบุคลากรในเกษตรกรโคนม รวมถึงการแลกเปลี่ยนวิทยากร และจัดอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในเครือข่ายของ บมจ. ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) และ อ.ส.ค. รวมจำนวนกว่า 8,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 16,700 รายทั่วประเทศ