หนุ่มพะเยาหัวใส ใช้เวลาว่างช่วงโควิด-19 เลี้ยงหนูพุกพันธุ์พื้นเมืองขาย สร้างรายได้เรือนแสน

หนุ่มวัย 45 ปี ชาวบ้านป่าห้วยแข้ หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยลาน อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ใช้เวลาว่างเว้นจากการขายก๋วยเตี๋ยวหลังได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 หันมาเพาะพันธุ์หนูพุกขนาดใหญ่ เป็นพันธุ์พื้นเมืองพะเยา สร้างรายได้ โดยมุ่งหวังจะขยายพันธุ์จำหน่ายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เนื่องจากหนูพุกปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดมาก

หนูพุกที่เลี้ยงในบ่อ

หนูพุก หรือ หนูแผง Bandicoot rats เป็นสกุลของสัตว์ฟันแทะในวงศ์ Murinae ในวงศ์ใหญ่ Muridae ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bandicota มาจากภาษาเตลูกู คำว่า pandikokku หมายถึง “หนูหมู”

หนูพุก มีรูปร่างลักษณะทั่วไปคล้ายกับหนูทั่วไปในวงศ์ Murinae แต่ทว่ามีรูปร่างที่ใหญ่กว่าหนูในสกุล Rattus มาก และมีจุดเด่นที่มีขนสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลดำที่รุงรังไม่เป็นระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนบริเวณหลังที่เป็นแผงแข็ง หลังตีนเป็นสีดำ หางยาวมีเกล็ดสีเดียว เป็นหนูที่มีอุปนิสัยดุร้าย เมื่อถูกคุกคามจะขู่และพร้อมที่จะกัด

หนุพุก แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด มีหนูพุกอินเดีย (B. bengalensis) หนูพุกใหญ่ (B. indica) หนูพุกเล็ก (B. savilei) พบได้ในประเทศไทย 2 ชนิด

หนูพุกถือว่าเป็นหนูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยอาจจะมีความยาวจากปลายจมูกจรดปลายหางได้ถึง 23-28 เซนติเมตร น้ำหนัก 400-1,000 กว่ากรัม ตัวเมียสามารถผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ในขณะที่ตัวผู้อายุ 6 เดือนขึ้นไป แต่เป็นหนูที่จะพบได้เฉพาะในพื้นที่เกษตรกรรม เช่น นาข้าว เท่านั้น กระจายพันธุ์ตั้งแต่อนุทวีปอินเดียจนถึงเอเชียอาคเนย์ อาศัยอยู่ในรูตามคันนาที่ขุดไว้ โดยมีขุยหรือก้อนดินที่ขุดขึ้นมากระจายเป็นเม็ดอยู่รอบๆ

บ่อซีเมนต์ที่ใช้เลี้ยง

หนูพุกจัดเป็นศัตรูพืชที่สำคัญที่กินข้าว โดยเฉพาะข้าวที่ออกรวงเป็นอาหาร และยังกินสัตว์อย่างอื่นในนา เช่น ปูนา หรือหอยเชอรี่ เป็นอาหารอีกด้วย แต่เกษตรกรเมื่อจับได้จะนิยมนำมาบริโภค เนื้อมีรสชาติอร่อย มีการล่าและขายกันในหลายพื้นที่ ปัจจุบันมีการเลี้ยงเป็นอาชีพ

คุณโสภณ พานทอง กับหนูพุกที่เลี้ยง

คุณโสภณ พานทอง อายุ 45 ปี เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดนายชัย ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านป่ากล้วยแข้ ตำบลห้วยลาน อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เลี้ยงขยายหนูพุกขนาดใหญ่พันธุ์พื้นเมืองพะเยา โดยใช้วิธีเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ที่เป็นระบบปิด หลังใช้เวลาว่างจากการขายก๋วยเตี๋ยว ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำการเพาะขยายพันธุ์หนูพุกพันธุ์พื้นเมืองพะเยา ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก และเป็นที่ต้องการของตลาด

คุณโสภณ เจ้าของชนะชัยฟาร์ม ที่ใช้เลี้ยงหนูพุก เล่าว่า หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ขายก๋วยเตี๋ยว จึงหันมาเริ่มต้นเลี้ยงและขยายพันธุ์หนูพุกดังกล่าว แรกเริ่มเลี้ยงประมาณ 20 ตัว โดยปล่อยลงบ่อซีเมนต์ และให้อาหารเป็นพวกรำข้าวและอาหารของเป็ดไก่ รวมถึงหญ้าเนเปียร์ ต่อมาจึงทำการขยายพันธุ์ เพราะหนูพุกจะใช้เวลาเจริญเติบโตจนพร้อมจะขยายพันธุ์ประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นทุก 21 วันจะเกิดลูกอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมีหนูพุกที่เพาะพันธุ์อยู่กว่า 1,000 ตัวแต่ยังไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย โดยราคาเริ่มต้นหากอายุได้ประมาณ 1 เดือนก็จะขายคู่ละ 200 บาท ต่อตัว อายุ 2 เดือนคู่ละ 500 บาท อายุ 3 เดือนคู่ละ 800 บาท และหากอายุเลย 4 เดือนขึ้นไปก็จะจำหน่ายเป็นหนูพ่อแม่พันธุ์ ขายคู่ละ 1,000 บาท

ป้ายฟาร์มเลี้ยงหนูพุกในนามชนะชัยฟาร์ม

หนูพุกพันธุ์พื้นเมืองพะเยาที่เลี้ยงจะมีตัวขนาดใหญ่มาก มีน้ำหนักกว่า 1 กิโลกรัม และเป็นที่ต้องการของตลาด ปัจจุบันในเรื่องตลาดของหนูพุกนั้นมีกว้างมาก โดยเฉพาะหนูเนื้อซึ่งตนเองไม่สามารถผลิตได้ทันกับความต้องการของตลาด เพราะเป็นที่นิยมมาก

อาชีพการเลี้ยงหนูพุกใหญ่นั้นสามารถสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี เนื่องจากปัจจุบันก็มีผู้สั่งซื้อทางออนไลน์และในกลุ่มเลี้ยงหนูด้วยกัน ซึ่งยิ่งถ้าไม่มีไวรัสโควิด-19 ก็จะยิ่งจำหน่ายได้มาก จนเพาะพันธุ์แทบไม่ทันและไม่เพียงพอกับความต้องการตลาดทีเดียว

สนใจติดต่อสอบถาม คุณโสภณ พานทอง โทร. (085) 590-5675 ร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดนายชัย บ้านป่ากล้วยแข้ ตำบลห้วยลาน อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา