นำร่องระบบเซ็นเซอร์แก้ปัญหาหมอกควัน พื้นที่กว่า 95 จุดใน จ.น่าน

อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเวทีเสวนาวิชาการ ปัญหาหมอกควันกับนวัตกรรมการจัดการอย่างยั่งยืน  เพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศโดยใช้การพัฒนาระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถส่งข้อมูลให้กับผู้เฝ้าระวังเป็นรายชั่วโมง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าให้แม่นยำและตอบสนองต่อเหตุการณ์เร็วขึ้น

ผศ.ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล  นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว.  โดยในขั้นต้น ได้ทำการทดสอบระบบดังกล่าวในพื้นที่ จ.น่าน เป็นโครงการนำร่อง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันอยู่ทุกปี  ระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศได้ถูกติดตั้งในพื้นที่ จ.น่าน ทั้งหมด 95 แห่ง โดยติดตั้ง ณ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆในแต่ละอำเภอ ทั้ง อบจ. อบต. และที่ทำการเทศบาล  ซึ่งเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งจะสามารถตรวจวัดพารามิเตอร์ทางด้านคุณภาพอากาศ ทั้งอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และปริมาณฝุ่นละอองต่างๆ ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 1 2 และ 10 ไมครอน  และส่งข้อมูลผ่าน Wifi เข้าสู่ระบบ Cloud ซึ่งจะแสดงผลตรวจวัดผ่านแอพพลิเคชั่น บนเว็บไซต์ ซึ่งปรากฏแผนที่ จ.น่าน พร้อมกับตำแหน่งของเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งไว้  และเมื่อคลิกที่เซนเซอร์แต่ละจุดก็จะทราบข้อมูลสภาพอากาศ ณ  จุดนั้นออกมาในรูปแบบกราฟ ซึ่งจากข้อมูลที่แสดงผล                  ผ่านแอพพลิเคชั่น ชี้ให้เห็นว่ามีไฟป่าเกิดขึ้นอยู่ ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  สภาพอากาศที่ตรวจวัดได้มีค่าฝุ่นละอองขนาด 2.5 และ 10 ไมครอน ซึ่งเกินค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไปในหลายพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการตรวจสอบในพื้นที่ว่าเริ่มมีการเผาพื้นที่เกษตรกรรม และมีแนวโน้มเดียวกันกับข้อมูลสภาพอากาศของปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้นอกจากแอพพลิเคชั่นจะแสดงข้อมูลตามเวลาจริงแล้ว ยังสามารถแสดงข้อมูลสภาพอากาศย้อนหลังเพื่อดูแนวโน้มการเกิดปัญหาหมอกควันได้อีกด้วย

อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ

ด้าน รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผอ.ฝ่ายสวัสดิภาพและสาธารณะ สกว. กล่าวเสริมว่า  งานวิจัยมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวจะเกิดความยั่งยืนได้ต้องอาศัยกลไกจากหลายภาคส่วน รวมถึงการติดตั้งระบบการทำงานที่เข้มแข็ง และหน่วยงานในพื้นที่ยอมรับในนวัตกรรมและพร้อมเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีดังกล่าว