“พาณิชย์” เผยโอกาสการส่งออกผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งของไทยช่วงโควิด-19

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยถือเป็นผู้ส่งออกสินค้าผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง (พิกัดศุลกากร 07) ที่มีศักยภาพ โดยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 14 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ในอาเซียน  ในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าผักสดแช่เย็นแช่แข็งและผักแห้งสู่ตลาดโลก 305 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากปี 2561

และในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2563 ไทยส่งออกสินค้าผักฯ สู่ตลาดโลก 143 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ได้แก่

(1) ผักแช่แข็ง 58.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 41.17 ของการส่งออกสินค้าผักทั้งหมด) อาทิ ถั่วแช่แข็ง ส่งออกมูลค่า 37.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว ร้อยละ 0.5 ข้าวโพดหวานแช่แข็ง ส่งออกมูลค่า 9.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว ร้อยละ 17.7

(2) ผักสดและแช่เย็น  69.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 48.79 ของการส่งออกผักทั้งหมด) อาทิ หอมกระเทียมสดหรือแช่เย็น ส่งออกมูลค่า 13.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว ร้อยละ 124  พริกสดหรือแช่เย็น ส่งออกมูลค่า 8.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว ร้อยละ 33

(3) ผักแห้ง และผักอื่นๆ 14.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 10.04 ของการส่งออกผักทั้งหมด)

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าผักสดแช่เย็นแช่แข็งและผักแห้งสู่ประเทศที่ไทยมี FTA ด้วย 188.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 62 ของการส่งออกสินค้าผักทั้งหมดของไทย) สำหรับในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2563  ไทยส่งออกสินค้าผักไปประเทศ FTA รวม  94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 66 ของการส่งออกสินค้าผักทั้งหมดของไทย)

โดยประเทศคู่ FTA ที่เป็นตลาดหลักในการส่งออกสินค้าผักฯ คือ ญี่ปุ่น (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 36 ) สินค้าส่งออกสำคัญคือ พืชตระกูลถั่วแช่แข็ง อาเซียน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมา และเวียดนาม (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 22) สินค้าส่งออกสำคัญ คือ หอมกระเทียมสด พริกสด และ ฮ่องกง (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ

4) สินค้าส่งออกสำคัญ คือ ผักแช่แข็ง  โดยภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีอยู่ 13 ฉบับกับ 18 ประเทศคู่ค้า ปัจจุบัน 13 ประเทศคู่ FTA ได้แก่ จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น  ชิลี เปรู และอาเซียน 6 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา และบรูไน ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าผักสด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งให้ไทยแล้ว

สำหรับ 5 ประเทศคู่ FTA ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผักจากไทย ได้แก่ เกาหลีใต้ อินเดีย กัมพูชา ลาวและฟิลิปปินส์ ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผักฯ ในบางรายการ เช่น

เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้า มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ที่อัตราร้อยละ 5 พริกหวาน อัตราร้อยละ 270 กระเทียม อัตราร้อยละ 360

อินเดีย เก็บภาษีนำเข้ามะเขือเทศ พริก แครอท ข้าวโพดหวานแช่แข็ง ถั่วแช่แข็งที่อัตรา ร้อยละ 30 กระเทียม ที่อัตราร้อยละ 100 และหอมหัวใหญ่ ที่อัตราร้อยละ 5

กัมพูชา เก็บภาษีนำเข้ามะเขือเทศ กะหล่ำปลี ถั่ว แครอท ที่อัตราร้อยละ 5

ลาว เก็บภาษีนำเข้ามะเขือเทศ หัวหอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วและข้าวโพดหวานแช่แข็ง ที่อัตราร้อยละ 5

ฟิลิปปินส์ ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าผักทั้งหมดให้ไทย ยกเว้นเพียงมันเทศ ที่เก็บในอัตรา ร้อยละ 5

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกผักฯ ของไทยในปี 2562 กับปี 2535 ก่อนที่ไทยจะมีความตกลงการค้าเสรีฉบับแรกกับอาเซียน พบว่าการส่งออกผักฯ ของไทยสู่ตลาดโลกขยายตัว ร้อยละ 332

และหากพิจารณารายตลาด พบว่าตั้งแต่ความตกลง FTA แต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ มูลค่าการส่งออกผักฯ ไปตลาดส่งออกสำคัญที่เป็นคู่ FTA เติบโตอย่างน่าพอใจในหลายตลาด อาทิ อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 947 เกาหลีใต้ ขยายตัว ร้อยละ 756 จีน ขยายตัว ร้อยละ 9,313 และ ญี่ปุ่น ขยายตัว ร้อยละ 23 เป็นต้น