สสก.ที่ 3 จ. ระยอง จัดทำแปลงเรียนรู้การใช้น้ำเพื่อเพาะปลูกอย่างเพียงพอ-รู้คุณค่า

นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ( สสก.3 ระยอง) กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้เร่งขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นา ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ในปี 2563 จำนวน 7 แห่ง ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคตะวันออก เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ ภายใต้แนวทางการส่งเสริมให้เกษตรกรได้วางแผนเพาะปลูกพืชอย่างเหมาะสม รวมทั้งวางแผนจัดการน้ำสำหรับทำการเกษตรที่ดี เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ภาคเกษตรต้องเผชิญแทบทุกปี เพราะน้ำนับเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับอาชีพการเกษตรในปัจจุบันและอนาคต

ทั้งนี้ สสก.3 ระยอง ได้ดำเนินการวางแผนก่อสร้างแปลงเรียนรู้ด้านบริหารจัดการน้ำแก่พืชต่างๆ โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจสำคัญของพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกร ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)

นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ

นายดำรงฤทธิ์ กล่าวว่า ในปี 2563 สสก.3 ระยอง ได้ดำเนินการโครงการดังกล่าว ในพื้นที่  7 แห่งของภาคตะวันออก ผ่าน ศพก. และศูนย์เครือข่าย ศพก. ใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย

จังหวัดจันทบุรี ณ แปลงเรียนรู้ หมู่ที่ 5 ตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง  ของเกษตรกรต้นแบบ คือ นางสุวรรณี  เทียนดี  โดยเน้นวางระบบน้ำแบบประหยัดในแปลงเรียนรู้สวนไม้ผล (ทุเรียน) โดยใช้น้ำจากบ่อดินที่ขุดขึ้นมาภายในสวน และสร้างแหล่งน้ำแบบกักเก็บน้ำฝนเพื่อสำรองใช้ภายในสวนเป็นของตนเองเพื่อให้มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับดูแลแปลงปลูกทุเรียน เนื้อที่ 6 ไร่

จังหวัดฉะเชิงเทรา ณ แปลงเรียนรู้ หมู่ที่ 4 ตำบลบางคา อำเภอราชสาส์น ของเกษตรกรต้นแบบ คือ นางพัทธนันท์ คชสีห์ เน้นจัดวางระบบน้ำสำหรับสวนไม้ผล (ฝรั่ง ส้มโอ ฯลฯ) เนื้อที่  4 ไร่ แม้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตชลประทาน แต่ต้องสร้างแหล่งน้ำของตนเองภายในพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองยามขาดแคลน

จังหวัดชลบุรี  ณ แปลงเรียนรู้ หมู่ที่ 11 ตำบลเกาะจันทร์ อำเภอเกาะจันทร์ ของเกษตรกรต้นแบบ คือ นายสมศักดิ์ สมานราษฎร์ เน้นวางระบบน้ำสำหรับสวนผลไม้ (ขนุน) เนื้อที่ 5 ไร่ โดยมุ่งสร้างแหล่งเก็บกักน้ำเป็นของตนเอง

จังหวัดตราด ณ แปลงเรียนรู้ หมู่ที่ 4 ตำบลท่ากลุ่ม อำเภอเมืองตราด ของเกษตรกรต้นแบบ คือ นายอิสระ ศรีนาราง เน้นจัดสร้างระบบน้ำในแปลงผลไม้ (ทุเรียน) เนื้อที่ 13 ไร่ ที่ผ่านมา สวนแห่งนี้ ใช้แหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่ใกล้เคียงกับสวน จึงจำเป็นต้องสร้างแหล่งน้ำกักเก็บน้ำฝนสำรองเป็นของตนเอง

จังหวัดปราจีนบุรี  ณ แปลงเรียนรู้ หมู่ที่ 2 ตำบลไม้เค็ด อำเภอเมือง ของเกษตรกรต้นแบบ คือ นายกนก ด้วงพิมพ์ มุ่งบริหารจัดการน้ำในสวนผลไม้ที่ปลูกแบบผสมผสาน ประกอบด้วยทุเรียน ส้มโอ และลองกอง บนเนื้อที่ 7 ไร่ ที่อาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติและขุดบ่อน้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำสำรองยามขาดแคลน

จังหวัดระยอง ณ แหล่งเรียนรู้ หมู่ที่ 4 ตำบลเขาน้อย อำเภอเขาชะเมา ของเกษตรกรต้นแบบ คือ นายชัชวาลย์ ใกล้อินทร์ มุ่งวางระบบบริหารจัดการน้ำในสวนผลไม้ (ทุเรียน) เนื้อที่ 4 ไร่ โดยสร้างแหล่งกักเก็บน้ำสำรองในพื้นที่สวนของตนเอง

จังหวัดสระแก้ว ณ แปลงเรียนรู้ หมู่ 4 บ้านหนองผักหนาม ตำบลตาหลังใน อำเภอวังน้ำเย็น ของเกษตรกรต้นแบบ คือ นางกาหลง วังศิริ เน้นสร้างระบบบริหารจัดการน้ำสำหรับอ้อยโรงงาน เนื้อที่ 15 ไร่ โดยใช้แหล่งน้ำจากคลองธรรมชาติมาบริหารจัดการ

นายดำรงฤทธิ์ กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาระบบน้ำแก่พืชอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ขั้นต้น ต้องเลือกใช้ระบบน้ำอย่างเหมาะสมกับชนิดพืชที่ปลูกอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยผ่านการคิดคำนวณก่อนการติดตั้ง ภายใต้สภาพความเป็นจริงของแปลงเพาะปลูก ได้แก่ ระยะปลูก สภาพพื้นที่/แหล่งน้ำ/แหล่งพลังงานและเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพเหมาะสม ได้แก่ หัวจ่ายน้ำ ท่อย่อย ท่อเมนย่อย ท่อเมน ระบบกรองน้ำ ปั๊มน้ำ ระบบเปิด-ปิด และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการติดตั้งระบบน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ตลอดจนความชำนาญหรือประสบการณ์การใช้งานและวิธีการบำรุงรักษาอุปกรณ์อย่างถูกต้อง เหมาะสม

“เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร กับเกษตรกรต้นแบบได้ร่วมกันวิเคราะห์ ออกแบบและวางแผนการสร้างแปลงเรียนรู้ขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการน้ำแก่พืชอย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละพื้นที่ โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่เพาะปลูกของตนเองต่อไป สสก.3 ระยอง คาดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรได้เรียนรู้การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ประหยัด และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวสู่เกษตรกรอื่นๆ ให้ผลิตสินค้าเกษตรอย่างมีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นและสามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายดำรงฤทธิ์ กล่าวในที่สุด