ผู้เขียน | ภัณฑิกา มีเสน |
---|---|
เผยแพร่ |
สาขาเกษตรประยุกต์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ไสใหญ่ โดย ดร.เศรษฐวัฒน์ ถนิมกาญจน์ อาจารย์นศพร ธรรมโชติ และ อาจารย์ชโลธร ศักดิ์มาศ ร่วมกันออกแบบและประดิษฐ์ “เครื่องอัดก้อนข้าวกรอบรสต้มยำกุ้ง” เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตได้เป็น 12 ชิ้น ต่อครั้ง ด้วยแรงงานเพียง 1 คน
ผลิตภัณฑ์ข้าวกรอบรสต้มยำกุ้งเป็นสินค้าโอท็อป ของกลุ่มสตรีเทศบาลตำบลถ้ำใหญ่
ซึ่งข้าวกรอบรสต้มยำกุ้งมีส่วนผสมหลักคือ ข้าวหุงสุกนำไปอบหรือตากแห้ง แล้วผ่านกระบวนการทอด เรียกว่า “ข้าวพอง” นำข้าวพองคลุกเคล้ากับส่วนผสมปรุงรสต้มยำกุ้งจนเข้ากัน หลังจากนั้น นำมาอัดขึ้นรูปเป็นก้อนโดยนำข้าวพองที่ผสมเครื่องปรุงรสแล้วใส่เบ้าพิมพ์แล้วออกแรงกด ให้ได้ขนาด น้ำหนัก และความหนาของแต่ละชิ้นที่เท่ากัน แกะออกจากเบ้า ก่อนแพ็กใส่บรรจุภัณฑ์ ต้องผ่านกระบวนการอบแห้งเพื่อไล่ความชื้น เพิ่มความกรอบ และยืดอายุของผลิตภัณฑ์ โดยรสชาติคงเดิม ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มสามารถอัดขึ้นรูปเป็นก้อนได้เพียงครั้งละ 1 ชิ้น ด้วยแรงงานคน หากต้องการผลิตจำนวนมากก็ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ซึ่งแรงงานคนจะมีข้อจำกัด เมื่อออกแรงกดไปนานๆ จะเกิดอาการเมื่อยล้า เหน็บชา หรือบางรายได้รับบาดเจ็บไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้ ส่งผลให้ทางกลุ่มไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามความต้องการ
เครื่องอัดก้อนข้าวกรอบรสต้มยำออกแบบและประดิษฐ์จากวัสดุสแตนเลสเป็นวัสดุหลักในการผลิตและมีขนาดของเครื่องโดยประมาณ 400x400x800 มิลลิเมตร มีส่วนประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ ชุดแม่พิมพ์อัดก้อนข้าวกรอบรสต้มยำกุ้ง ที่มีเบ้าใส่ข้าวกรอบรสต้มยำกุ้งลักษณะเป็นวงรีจำนวน 12 ช่อง และชุดส่งกำลังแบบเท้าเหยียบ โดยมีหลักการทำงาน เริ่มต้นโดยเปิดฝาหรือแผ่นบนสุดของแม่พิมพ์ บรรจุข้าวกรอบรสต้มยำกุ้งลงเบ้าให้เต็มช่องทั้ง 12 ช่อง ปิดฝาบนของแม่พิมพ์แล้วล็อกไว้ แล้วใช้เท้าเหยียบที่แป้นเหยียบ เหยียบแช่ประมาณ 10 วินาที จนข้าวกรอบรสต้มยำกุ้งแน่น เกาะตัวเป็นก้อน แล้วทำการเปิดฝาของแม่พิมพ์ ทำการเหยียบที่แป้นเหยียบอีกครั้ง เพื่อทำการกระทุ้งให้ก้อนข้าวกรอบรสต้มยำกุ้งออกจากเบ้าพร้อมกันทั้ง 12 ชิ้น
ปัจจุบันได้ส่งมอบ “เครื่องอัดก้อนข้าวกรอบรสต้มยำกุ้ง” ให้กับกลุ่มสตรีเทศบาลตำบลถ้ำใหญ่ ซึ่งสามารถนำไปใช้งานได้สะดวก มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน ลดการใช้แรงงานคนได้ และสามารถอัดข้าวกรอบรสต้มยำกุ้งให้มีรูปร่าง ความหนา และปริมาณเท่ากันทุกก้อน เครื่องดังกล่าวใช้ต้นทุนประมาณ 8,000 บาท ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนขนาดของรูปทรงได้โดยการสร้างบล็อกใหม่ และยังนำไปใช้อัดอาหารประเภทอื่นๆ ได้อีกด้วย
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.เศรษฐวัฒน์ ถนิมกาญจน์ อาจารย์ประจำ สาขาเกษตรประยุกต์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ไสใหญ่ โทรศัพท์ (087) 746-2379