กล้วยตากระบบพาราโบลาโดม กล้วยตากขึ้นชื่อของคนบ้านนาชมภู

“ตอนนี้มีรายได้จากกล้วยน้ำว้าขายให้กับกลุ่มด้วย รวมกับผลผลิตอื่น ๆ จากสวน รายได้ขั้นต่ำวันหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 200 บาท”

นางบรรเทา วิสาขา ประธานกลุ่มกล้วยตากพาราโบลาโดมระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ อยู่บ้านเลขที่ 102 หมู่ 8 บ้านนาชมภู ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี กล่าวถึงรายได้ที่เกิดขึ้น ซึ่งเธอยืนยันว่า สามารถดำรงชีพได้เป็นอย่างดี

“ที่มีวันนี้ได้เพราะ พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงช่วยเหลือ จึงทำให้วันนี้เราสามารถพัฒนามาสู่การจัดตั้งเป็นกลุ่มกล้วยตากขึ้น ซึ่งทำการผลิตกล้วยตากในระบบที่เรียกว่า พาราโบลาโดม หรือ ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก”

“เดิมนั้น ในพื้นที่ตำบลบ้านก้องของเรานั้น ชาวบ้านจะปลูกกล้วยน้ำว้ากันเยอะมาก แต่ต้องประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ พ่อค้าคนกลางกดราคา ให้ราคากล้วยหวีละ 2 บาท 3 บาท  เดือดร้อนกันอย่างมาก และฟ้าก็มาโปรดเพราะ ในปี 2555 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนาชมพู และได้มีชาวบ้านยื่นถวายฎีกา บอกท่านว่า เราเดือดร้อน ผลผลิตกล้วยน้ำว้าล้นตลาด โดนพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ พร้อมบอกท่านด้วยว่า ชาวบ้านอยากได้ทำแปรรูปพวกกล้วย ให้ได้หลายรูปแบบ จากเราขายวัตถุดิบ เราเพิ่มมูลค่าเอามาแปรรูปเพิ่มมาอีก พระองค์ท่านพอทราบเรื่อง ท่านก็รับสั่งบอกเจ้าหน้าที่ว่า ให้ดูแลราษฎรด้วยนะ มีอะไรช่วยเค้าได้ก็ช่วย ”

จากพระเมตตาได้นำมาสู่การแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านนาชมพู เกิดโครงการแปรรูปกล้วยด้วยระบบพาราโบลาขึ้น ภายใต้การสนับสนุนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดมแปรรูปกล้วยด้วยระบบพาราโบลาโดม ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนาชมพู ซึ่งนอกจากนักเรียนจะได้ประโยชน์ในการเรียนรู้ และแปรรูปกล้วยตากเพื่อเป็นอาหารกลางวันแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ยังได้รับประโยชน์ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้วิธีการทำเช่นกัน และได้เกิดการพัฒนาจนจัดตั้งเป็นกลุ่มที่ดำเนินงานมาจนถึงทุกวันนี้” พี่บรรเทากล่าว

สำหรับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนาชมภู อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จังหวัดอุดรธานี เปิดทำการสอนตั้งแต่ พ.ศ.2538 ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึงระดับประถมศึกษา และโรงเรียนแห่งนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ได้เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีส่วนร่วมดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพระบบงานเกษตร ภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน หลักสูตรการแปรรูปกล้วยด้วยระบบพาราโบลา

ทั้งนี้ โครงการเพิ่มศักยภาพระบบงานเกษตร ภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จะเน้นการส่งเสริมโภชนาการและสุขอนามัยที่ดีให้กับเด็กนักเรียน ด้วยการทำระบบการเกษตรในโรงเรียน เพื่อผลิตอาหารกลางวันให้เพียงพอกับความต้องการบริโภค และที่สำคัญอีกประการยังสนับสนุนให้เป็นศูนย์เรียนรู้ของผู้ปกครอง ให้เป็นแหล่งผลิตอาหารเสริมให้กับกิจกรรมโรงเรียน ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ปกครองแทนที่จะต้องไปซื้อจากพ่อค้ารายอื่น อีกทั้งเพิ่มความมั่นใจได้ว่าเป็นผลผลิตที่ปลอดภัยเนื่องจากผู้ปกครองปลูกให้ลูกหลานกินนั่นเอง

“เรื่องคุณภาพและความปลอดภัย เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ ซึ่งวันนี้เราสามารถพัฒนาการผลิตกล้วยตาก จนได้มาตรฐาน GMP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดีอีกทางหนึ่ง” พี่บรรเทากล่าว

“ตอนนี้กล้วยตากพาราโบลาโดมทั้งของกลุ่มและของโรงเรียนได้กลายเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย  อย่างทางโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนาชมภูก็ได้รางวัลจากการประกวดมาแล้วหลายที่ เด็กก็ได้มีความรู้ มีรางวัลกลับมาเขาก็พากันดีใจ คนที่ไม่ได้ไปก็อยากไป คนที่ไปมาแล้วก็มาคุยให้ฟังนะว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ ได้รางวัลอย่างนั้นอย่างนี้ ได้ความรู้นอกพื้นที่มาสอนเพื่อน หรือมีบอกผู้ปกครองที่ไม่ได้ไป แบบว่าเขาพัฒนากันแบบนั้นแบบนี้นะแม่”

สำหรับการผลิตกล้วยตากระบบพาราโบลาโดม พี่บรรเทาบอกว่า กล้วยน้ำว้าที่เป็นวัตถุดิบสำคัญ จะมาจากสวนของเกษตรกรสมาชิกเป็นหลัก ซึ่งจะเน้นการปลูกแบบธรรมชาติและปลอดภัย อีกทั้งมีการคัดเลือกกล้วยน้ำว้าที่มีคุณภาพและอยู่ในระดับที่มีความสุกห่ามพอดี เพื่อเมื่อนำมาแปรรูปเป็นกล้วยตากแล้วจะให้รสชาติที่หวานและอร่อยตามธรรมชาติ

“การผลิตกล้วยตากในระบบพาราโบลา มีข้อดีมากมาย โดยเฉพาะสีของกล้วยตาก จะสวยน่ากิน มีสีอมน้ำตาล ให้กลิ่นที่หอมมาก ซึ่งเป็นลักษณะที่ลูกค้าชอบ อีกทั้งยังมีความแห้งพอดี เพราะสามารถป้องกันความชื้นได้ เพราะเป็นโดมใช้พลาสติกเป็นตัวกันฝนและน้ำค้าง อีกทั้งพลังงานความร้อนที่ใช้ในการตาก คือ พลังงานแสงอาทิตย์โดยตรง จนทำให้ได้กล้วยตากคุณภาพ เรียกว่าแตกต่างจากการตากแบบเดิมที่เคยทำกันมา พร้อมกันนี้ยังได้มีการพัฒนาทั้งรูปแบบการบรรจุและหีบห่อ อย่างเช่น นำเสียบไม้แบบไอติมให้ออกมาน่ารัก ทานง่ายไม่เลอะมือ เป็นต้น”

ในส่วนด้านการตลาด พี่บรรเทาบอกว่า นอกจากการจำหน่ายในชุมชนแล้ว ปัจจุบันยังเน้นการจำหน่ายตรงไปสู่ผู้บริโภค โดยมีทั้งระบบให้ลูกหลานที่เป็นคนในหมู่บ้าน ที่ไปทำงานในกรุงเทพและจังหวัดอื่น ๆ รับไปจำหน่ายให้กับเพื่อนฝูงคนรู้จักโดยตรงแล้ว ยังได้เน้นการจำหน่ายผ่านFacebookทั้งส่วนตัวและWebsiteต่าง ๆ

กล้วยตากระบบพาราโบลาโดม ผลผลิตขึ้นชื่อของบ้านนาชมพูในวันนี้ คืออีกหนึ่งการพัฒนาที่เกิดขึ้นตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ได้ส่งผลให้เกิดการสร้างอาชีพและรายได้ นำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุขแก่ประชาชนในพื้นที่แห่งนี้ตลอดไป