เผยแพร่ |
---|
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สศก. ในฐานะองค์กรชี้นำการพัฒนาภาคเกษตรและศูนย์กลางสารสนเทศการเกษตรแห่งชาติ ภายในปี 2565 จำเป็นที่จะต้องก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ และด้วยบทบาทภารกิจสำคัญยิ่ง ที่รับผิดชอบเป็นหน่วยงานจัดทำ Big Data ด้านการเกษตรของประเทศ จึงต้องพร้อมทั้งสมรรถนะ และศักยภาพบุคลากร เพื่อให้องค์กรเติบโตสู่ Digital Transformation ในยุค New Normal
“ปัจจุบัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกได้ก้าวไปอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ทุกองค์กร และพวกเราทุกคนจึงต้องก้าวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะภาคเกษตร ที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งด้านภัยพิบัติธรรมชาติ โรคระบาดคนและสัตว์ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีนวัตกรรม ดังนั้น การดำเนินงานของ สศก. ต้องเน้นนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสม มาประยุกต์ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และในฐานะองค์กรชี้นำการพัฒนาภาคเกษตรและศูนย์กลางสารสนเทศการเกษตรแห่งชาติ จึงทำหน้าที่เปรียบเสมือนผู้นำทาง หรือ ‘เนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตร’ เพื่อชี้แนะข้อมูล ทิศทางแนวโน้มภาคเกษตร ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง” เลขาธิการ สศก. กล่าว
สำหรับนโยบายการปฏิบัติงานที่นายฉันทานนท์ ได้วางแนวทางไว้ให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ในโอกาสเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สศก. คือ การมุ่งเน้นให้ สศก. ขับเคลื่อนงานทั้งด้านข้อมูล วิจัย นโยบาย ประเมินผล และด้านบริหาร อย่างครอบคลุม โดยต้องเป็นหน่วยงานที่พัฒนา เตรียมพร้อม และสามารถรับมือต่อทุกสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อทำหน้าที่เป็นเนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตรให้แก่ประเทศด้วยความรวดเร็ว แม่นยำ ทั้งภารกิจ 5 ด้าน ดังนี้
ด้านข้อมูล พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศให้รวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ นำไปใช้ในการวิเคราะห์ วิจัย จัดทำนโยบายได้อย่างตรงประเด็น ซึ่งการจัดทำ Big data ต้องพัฒนาไปสู่ ระบบการประมวลผลที่มีการวิเคราะห์เชิงลึก (Artificial Intelligence: AI) ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เข้าใจง่าย และนำไปใช้ประโยชน์ได้
ด้านวิจัย ใช้ประโยชน์ได้ มีผลกระทบต่อคนในวงกว้าง สนองต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน
ด้านนโยบาย จัดทำและเสนอโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สนองต่อความต้องการและนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
ด้านประเมินผล ประเมินผลตามข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน
ด้านบริหาร จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลสะท้อนความเป็นจริงให้ทุกภาคส่วนรับรู้ พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขและพัฒนาอย่างชัดเจนและปฏิบัติได้จริง มีการทำงานรวดเร็ว แม่นยำ มีประสิทธิภาพ มีความเป็นทีม ทั้งภายในและภายนอก สศก. ที่สำคัญคือต้องพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ มีความเชี่ยวชาญ เป็นมืออาชีพ สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของ สศท. 1-12 ให้สามารถทำงานแทนส่วนกลางได้ และไม่ลืมในด้านคุณธรรม จริยธรรม เพื่อมุ่งสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในองค์กร
ทั้งนี้ นอกจากนโยบายแนวทางปฏิบัติงานที่ได้มอบให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ดังกล่าวแล้ว สศก. ยังคงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับนโยบายหลักของรัฐบาล รวมถึงนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีความมั่นคง เศรษฐกิจการเกษตรให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ไปสู่การพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน