สังวาลย์ พิมลรัตน์ ผอ. ป.4 ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านพะงุ้น อำเภอสวี จังหวัดชุมพร

หากเอ่ยชื่อ คุณสังวาลย์ พิมลรัตน์ หรือ “ป้านวย” หญิงสูงอายุ วัย 64 ปี ผู้ที่อยู่ในแวดวงกสิกรรมธรรมชาติ คงเคยได้ยินชื่อ เพราะป้านวย คือผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนต้นแบบบ้านพะงุ้น หมู่ที่ 2 ตำบลครน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร

ซึ่งป้านวย เล่าว่า ตนเองเกิดและเติบโตที่บ้านพะงุ้น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย มีอาชีพทำสวน ทำไร่ไถนา ปลูกผัก เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่  ในปี 2547 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีโครงการพักชำระหนี้ มีคนมาถามว่าป้านวยจะเข้าร่วมโครงการที่โครงการปฐมอโศก จังหวัดนครปฐม ด้วยไหม ป้านวยตอบว่า ป้านวยไม่มีหนี้

คุณสังวาลย์ พิมลรัตน์ หรือ ป้านวย

เขาก็บอกว่าโครงการมีโควต้าอยู่ 50 คน แต่ขาดอยู่ 1 คน ป้านวยจึงเข้าร่วมด้วยในลักษณะมวยแทน โดยได้รับความรู้จาก สมณะโพธิรักษ์ (พระโพธิรักษ์ในขณะนั้น) พล.ต. จำลอง ศรีเมือง และ คุณวิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ ได้รับความรู้ในเรื่องการทำน้ำยาอเนกประสงค์ต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การทำปุ๋ยหมัก การทำอาหารปลอดสารพิษ การทำเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ โดยลงพื้นที่จริง ป้านวยจึงรู้สึกชอบ เมื่อจบโครงการจึงนำความรู้กลับมาทำที่บ้าน

“เริ่มแรกจากการทำสบู่ ทำน้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน แล้วใช้ดี ก็เลยบอกต่อเพื่อนบ้าน ธ.ก.ส.ส่งเจ้าหน้าที่มาดู เลยขอให้เป็นวิทยากรตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ต่อมาปี 2548 ธ.ก.ส.มีโครงการอบรมเกษตรอินทรีย์ ก็เชิญให้ป้านวยไปสอนเรื่องเหล่านี้ให้ผู้เข้ารับการอบรม จากนั้นนายอำเภอสวีในขณะนั้น (คุณชาญชัย กุลมงคล) ก็ให้เจ้าหน้าที่มากางเต็นท์เปิดสอนหน้าบ้าน จนเกิดเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านพะงุ้น และเปิดเป็นศูนย์เต็มรูปแบบในปี 2552 โดยมีธนาคารต้นไม้ซึ่งเป็นเครือข่ายของ อาจารย์ยักษ์-คุณวิวัฒน์ ศัลยกำธร คุณพงศา ชูแนม และ คุณไสว แสงสว่าง เข้ามาร่วมด้วยในปี 2553” ป้านวย เล่า

คณะกรรมการศูนย์
งานของธนาคารต้นไม้

ป้านวย เล่าต่อไปว่า เดิมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านพะงุ้น มีพื้นที่ประมาณ 7 ไร่เศษ แต่เพิ่งซื้อที่เพิ่มอีก 6 ไร่ 2 งาน เปิดสอนให้ความรู้แก่เยาวชน ผู้สูงอายุ และคนพิการ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จากนั้นป้านวยก็ไปเรียนรู้เพิ่มเติมที่มาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี ที่ชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และอีกหลายแห่ง

ซึ่งคิดว่าเรียนเท่าไรก็ไม่มีวันหมด เพราะป้านวยคิดอยู่เสมอว่าตนเองไม่ใช่แก้วเต็มน้ำ ที่เติมอะไรไม่ได้แล้ว แต่ตนเองพร้อมที่จะเรียนรู้ไปตลอดจนชั่วชีวิต และพร้อมที่จะเป็นจิตอาสาในการให้ความรู้แก่ผู้สนใจ ต่อมาลูกสาวของป้านวยเป็นครูการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) คิดจะเปิดศูนย์ กศน.บ้านพะงุ้น ป้านวยจึงให้เปิดศูนย์หน้าบ้าน กลายเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและศูนย์ กศน.ควบคู่กันไป

สำหรับแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร

“ป้านวยเรียนจบแค่ ป.4 เท่านั้น แต่ตอนนี้มีรายได้จากการเป็นวิทยากรบรรยายให้คณะต่างๆ หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายก็มีคณะต่างๆ เดินทางเข้ามาดูงานเกือบทุกวันๆ 1-3 คณะ ป้านวยก็อยู่ได้แล้ว ผู้ที่เข้ามาดูงานมีทั้งจากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย สุรินทร์ ปัตตานี ยะลา จำไม่ได้แล้วมีจังหวัดอะไรอีกบ้าง คิดว่ามีปีละหลายหมื่นคน ซึ่งป้านวยไม่ได้คิดค่าหัวในการเข้ามาดูงาน เพราะต้องการถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะนี้ประมาณ 52 ชุมชนที่พร้อมจะนำความรู้ที่ได้รับจากป้านวยไปถ่ายทอดให้ผู้สนใจในชุมชนของเขา” ป้านวย กล่าว

ป้านวย เปิดเผยว่า ศูนย์แห่งนี้จะเน้นเรื่องกสิกรรมธรรมชาติและเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งเรื่องการปลูกพืชปลูกผัก ผลไม้ ปลูกข้าว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ครบวงจร ให้ทุกคนปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เพื่อให้ชีวิตรอด ถ้าเหลือจากกินก็แบ่งปัน เหลือจากแบ่งปันก็จึงนำไปจำหน่าย สำหรับผู้สนใจที่จะเข้าไปเยี่ยมชมและศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านพะงุ้น ทางศูนย์มีที่พักในลักษณะโฮมสเตย์ เสียค่าที่พักคนละ 100 บาท ต่อ 1 คืน ไม่รวมค่าอาหารที่ต้องตกลงกันว่าจะรับประทานอาหารแบบไหน จำนวนเท่าไร และขณะนี้ป้านวยได้รับอุปการะลูกบุญธรรม 1 คน เพื่อให้ช่วยทำหน้าที่วิทยากรบรรยายให้ความรู้แทนในกรณีที่ป้านวยติดภารกิจออกนอกพื้นที่ คือ ด.ญ.อารยา ตันทะเสน หรือ น้องมิ้น อายุ 13 ปี ซึ่งเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ตอนต้น กศน.บ้านพะงุ้นนั่นเอง

“ผู้สนใจเดินทางเข้ามาศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านพะงุ้น สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Youtube และ Facebook Fan Page “ป้านวย ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนต้นแบบบ้านพะงุ้น” หรือติดต่อได้ทางโทรศัพท์ (089) 594-6392 ซึ่งเป็นเบอร์ตรงของป้านวย หรือที่ (065) 005-0065 ซึ่งเป็นเบอร์ของน้องมิ้น” ป้านวย กล่าว

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังถาโถมเข้าสู่สังคมไทย การหันมาพึ่งพาตนเองด้วยการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและกสิกรรมธรรมชาติ คงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่กำลังมองหาช่องทางเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส และศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงภายใต้การดูแลของ ป้านวย-คุณสังวาลย์ พิมลรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ที่แม้จะจบการศึกษาแค่ชั้น ป.4 เท่านั้น แต่ความรู้ที่บรรจุอยู่ในสมองของป้านวย คงไม่แพ้ความรู้ของคนที่เรียนจบปริญญาตรี ปริญญาโท หรือเรียนจบด๊อกเตอร์อย่างแน่นอน 

……………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2563

………………………………..

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354