ขป. จับมือ กฟผ. คุมการระบายน้ำเขื่อนบางลาง ให้กระทบท้ายน้ำน้อยที่สุด

กรมชลประทาน เร่งช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วม 3 จังหวัดชายแดนใต้ ระดมเครื่องจักรเครื่องมือเร่งระบายน้ำ พร้อมจับมือ กฟผ. วางแผนบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง ลดผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำให้ได้มากที่สุด

ดร. ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ว่าปัจจุบัน บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกของประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแห่งๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พบว่า ลุ่มน้ำโก-ลก ที่สถานีวัดน้ำสะพานลันตู อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส มีน้ำล้นตลิ่งที่บริเวณเทศบาลสุไหงโก-ลก 2.02 เมตร แนวโน้มลดลง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณชุมชนท่าประปา ชุมชนท่าโรงเลื่อย และชุมชนหัวสะพานลันตู เทศบาลเมืองโก-ลก โครงการชลประทานนราธิวาส ได้เปิดบานประตูระบายน้ำ 9 แห่ง เพื่อพร่องน้ำและขุดเปิดสันทรายบริเวณปลายคลองพรุบาเจาะสายใหญ่ เพื่อเร่งผลักดันน้ำให้ไหลลงทะเลโดยเร็ว

ส่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำบางนรา ที่สถานีวัดน้ำคลองตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.79เมตร แนวโน้มลดลง สำนักงานชลประทานที่ 17 นำรถแบคโฮ ขุดลอกตะกอนทราย บริเวณปากแม่น้ำด้านท้ายประตูระบายน้ำแบ่ง อำเภอตากใบ เพื่อเร่งระบายน้ำในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางนราพร้อมควบคุมบานระบายอาคารเพื่อป้องกันน้ำเค็มและพร่องน้ำในพื้นที่

ด้านแม่น้ำสายบุรี ที่สถานีวัดน้ำบ้านซากอ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส น้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.78 เมตร แนวโน้มลดลง ส่วนลุ่มน้ำปัตตานี สถานีวัดน้ำบ้านท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 2.13 ม. แนวโน้มเพิ่มขึ้น และที่สถานีวัดน้ำบ้านบริดอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ระดับน้ำ สูงกว่าตลิ่ง 0.86 ม. นวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน

สำหรับสถานการณ์น้ำที่เขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา กรมชลประทาน ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ควบคุมปริมาณน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ปัจจุบัน (8 ม.ค.63) เขื่อนบางลางมีปริมาณน้ำในอ่างฯ ประมาณ 1,486 ล้านลูกบาศก์เมตร เกินความจุร้อยละ 4 ของความจุอ่างฯ

ในขณะที่ยังคงมีฝนตกทางตอนบนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังคงมีน้ำไหลลงอ่างฯเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องระบายน้ำในอัตราวันละ 40-66 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้มีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายเขื่อนริมตลิ่งแม่น้ำปัตตานี ตั้งแต่อำเภอบันนังสตา อำเภอกรงปีนัง และอำเภอเมืองยะลา

กรมชลประทาน ได้ควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนปัตตานีในอัตรา 42.13 ล้าน ลบ.ม. /วัน และระบายผ่านทางประตูระบายน้ำฉุกเฉินอีกปรมาณ 3.31 ล้าน ลบ.ม./วัน พร้อมกับตัดยอดน้ำเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่ 2 สาย รวมกันปรมาณ 4.33 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน อีกทั้งได้บริหารจัดการน้ำด้านท้ายเขื่อนปัตตานี โดยใช้ประตูระบายน้ำปรีกี ควบคุมการระบายน้ำสลับกับการระบายน้ำผ่านแม่น้ำปัตตานีและคลองตุยงเป็นช่วงๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับด้านท้ายน้ำให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เข้าไปเสริมจากเดิมที่ติดตั้งไว้แล้ว เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ พร้อมกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงภัยตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนประตูระบายน้ำทุกแห่งให้เปิดบานพ้นน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่อ่าวไทย ลดผลกระทบต่อประชาชนและพื้นที่การเกษตรให้เร็วที่สุด

ซึ่งกรมชลประทาน จะช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด  หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร. 1460 สายด่วน กรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา