ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ห้วยตาดข่า อุดรธานี ต้นแบบวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง

ในปัจจุบันการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรรายย่อยเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ภาคการเกษตรของไทยมีความเข้มแข็ง ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารปัจจัยการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเพิ่มขีดความสามารถในการทำการเกษตร อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้เล็งเห็นความสำคัญของประเด็นดังกล่าว จึงได้ดำเนิน “โครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุข” ต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี เพื่อสร้างและสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ชุมชนเกิดการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้

ล่าสุดบริษัทร่วมกับวิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ จังหวัดอุดรธานี เปิด “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ห้วยตาดข่า” ต้นแบบวิสาหกิจชุมชนกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง ชูจุดแข็งของการทำเกษตรกรรมด้วยพืชที่หลากหลาย เน้นเรื่องการเพิ่มปริมาณและพัฒนาคุณภาพของผลผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำลง รวมถึงการแปรรูปสินค้าเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่สมาชิกในกลุ่มอย่างยั่งยืน ด้วยการเพาะปลูกและการนำนวัตกรรม KUBOTA (Agri) Solutions ทุกคำตอบเรื่องการเกษตร มาใช้ในการทำเกษตรกรรม

คุณโอภาศ ธันวารชร

คุณโอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เล่าถึงที่มาของโครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า ว่าบริษัทให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาชุมชนและสังคมมาโดยตลอด สำหรับ “โครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า” ได้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งและสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนเพิ่มมากขึ้น ภายใต้แนวทางการพัฒนาด้านการเกษตรที่ยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ อีกทั้งสนับสนุนชุมชนให้เลือกใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมให้ชุมชนสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตดั้งเดิม และพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้มีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งด้านการเกษตร การทำบัญชีควบคุมต้นทุน รายได้ของชุมชนและครัวเรือน ให้มีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด รวมทั้งการศึกษาดูงานการทำการเกษตรและงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

คุณฮิโรโตะ คิมุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ที่ 4 จากขวา) และ คุณโอภาศ ธันวารชร (ที่ 3 จากขวา) กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส

“เมื่อปี 2556 บริษัทได้เปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ผักไหม ที่อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ เป็นแห่งแรก และต่อมาในปี 2557 ได้เปิดศูนย์ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-เกษตรทิพย์ ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นแห่งที่ 2 ซึ่งเกิดผลความสำเร็จ จึงทำให้บริษัทเดินหน้าเปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ห้วยตาดข่า ตำบลหนองอ้อ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ขึ้นเป็นแห่งที่ 3”

สำหรับชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ห้วยตาดข่า เกิดจากแนวคิดในการพัฒนาชุมชนของตนเองให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการทำเกษตรแบบประณีต ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ชุมชน ตลอดจนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการทำเกษตรกรรมด้วยการปลูกพืชที่หลากหลาย (Multiple Crop) จนเกิดความเชื่อมโยงกัน ทั้งการปลูกพืช ประกอบด้วย ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และพืชบำรุงดิน การเลี้ยงสัตว์ เช่น โคนม โคเนื้อ และการแปรรูปผลผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชนและเกษตรกร โดยนำระบบ KUBOTA (Agri) Solutions “ทุกคำตอบเรื่องการเกษตร” ที่สยามคูโบต้าคิดค้นขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อเป็นตัวช่วยยกระดับและพัฒนาประสิทธิภาพเกษตรกรรมของไทย ด้วยนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพ

คุณสีลา ภูจำเริญ

ด้าน คุณสีลา ภูจำเริญ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มห้วยตาดข่า เล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากที่สยามคูโบต้าเข้ามาสนับสนุน ว่ากลุ่มห้วยตาดข่า เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งด้วยอุดมการณ์และการบริหารจัดการที่เป็นระบบ และจากการที่บริษัท สยามคูโบต้า เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการเกษตรในเรื่องต่างๆ การบริหารจัดการด้านเครื่องจักรกลการเกษตร การแปรรูปผลผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งยังช่วยประสานงานกับองค์กรภาครัฐและเอกชน ทำให้ชุมชนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การนำความรู้และวิธีเพาะปลูก โดยใช้นวัตกรรม KUBOTA (Agri) Solutions คือการเลือกใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและวิธีการปลูกที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 733 กิโลกรัม ต่อไร่ เปรียบเทียบกับการปลูกด้วยวิธีการดั้งเดิมแบบหว่าน ที่ได้ผลผลิต 556 กิโลกรัม ต่อไร่ และแบบดำมือ ได้ผลผลิต 694 กิโลกรัม ต่อไร่ ส่วนมันสำปะหลัง ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 1 ตัน ต่อไร่ และอ้อย มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 4 ตัน ต่อไร่ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

แปลงถั่วเหลือง ปลูกเป็นพืชคลุมดินหลังการทำนา

ส่วนเป้าหมายของการทำงานร่วมกันในอนาคตคือ ต้องการพัฒนาสมาชิกในระดับบริหารและสมาชิกทั่วไปในชุมชน รวมทั้งพัฒนาเทคนิคการแปรรูปผลผลิตการเกษตรในชุมชนให้ได้ตามมาตรฐานและความต้องการของตลาด มียอดขายที่เพิ่มมูลค่าให้กับคนในชุมชนได้ต่อไป อีกทั้งสร้างให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มห้วยตาดข่า มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรในภาคอีสานตอนบน

โครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของไทยให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ไปพร้อมๆ กับการก้าวสู่การเป็นเกษตรกรรม 4.0