เกษตรฯ เร่ง เพิ่มพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ ปูพรมอีก 10 จังหวัด ที่มีศักยภาพ

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการขยายผลการพัฒนาด้านเกษตรอินทรีย์ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนำ “ยโสธรโมเดล” ซึ่งเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ (Model) ไปพัฒนาต่อยอดการผลิตเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ พร้อมขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นที่มีศักยภาพด้านการผลิตเพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 10 จังหวัด อาทิ จังหวัดพัทลุง หนองคาย อุบลราชธานี ลำพูน ลำปาง เพชรบูรณ์ สงขลา กาฬสินธุ์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มพื้นที่และชนิดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศมากขึ้น

ภายใน ปี 2561 ตั้งเป้าพื้นที่จังหวัดยโสธรเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น 60,000 ไร่ จากเดิมที่มี ประมาณ 40,000 ไร่ รวมเป็น 100,000 ไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตข้าวเปลือกอินทรีย์กว่า 35,000 ตัน รวมทั้งผลิตผลอินทรีย์อื่นๆ อาทิ แตงโม ผักต่างๆ รวมถึงสัตว์น้ำและไข่ไก่ ป้อนเข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังมุ่งขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศเพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 10% และมีเป้าหมายส่งเสริมขยายตลาดเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิก (Organic) ได้ประมาณ 20-30%

“ปี 2559 นี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มีแผนเร่งพัฒนาความรู้และสนับสนุนการผลิตเกษตรอินทรีย์ โดยมีเป้าหมายจัดตั้งและพัฒนาศูนย์ต้นแบบ/ศูนย์เรียนรู้ปศุสัตว์อินทรีย์ และขยายผลการผลิตปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ 32 แห่ง พร้อมพัฒนาและส่งเสริมหมู่บ้านผลิตข้าวอินทรีย์ 7 หมู่บ้าน และส่งเสริมการผลิตไก่ไข่และเป็ดไข่อินทรีย์ จำนวน 14,230 ตัว นอกจากนั้น ยังสนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่กลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ 51 กลุ่ม เกษตรกร จำนวน 242 ราย และจัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐาน 3,740 ราย ตลอดจนเร่งศึกษาวิจัยประสิทธิภาพ คุณภาพ และต้นทุนการผลิตไก่ไข่ เป็ดไข่ โคนมในระบบอินทรีย์ จำนวน 14 เรื่อง ด้วย” ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

ด้าน นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ มกอช. ได้มีแผนร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและกระทรวงพาณิชย์เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตและผู้ประกอบธุรกิจเกษตรอินทรีย์ระดับภาค นำร่องที่จังหวัดพัทลุงและขอนแก่น โดยใช้แนวคิดจากยโสธรโมเดลเป็นต้นแบบในการเชื่อมโยงธุรกิจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านทิศทางการผลิต ข้อมูลแนวโน้มความต้องการด้านการตลาด รวมถึงมาตรฐานสินค้าและช่องทางการจำหน่าย ระหว่างแหล่งผลิต เครือข่ายผู้ค้าและผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าออร์แกนิก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการรับรองมาตรฐาน รองรับการขยายพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต และเป็นการตอบสนองเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติปี 2559-2564 ด้วย

การเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ระหว่างผู้ผลิตและผู้ประกอบธุรกิจเกษตรอินทรีย์ สามารถช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับเกษตรกร และทำให้เกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ซึ่งคาดว่า เกษตรกรผู้ผลิต ผู้แปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์จะมีการวางแผนการผลิตเชื่อมโยงกับแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า และผู้ส่งออกได้ ทั้งยังเกิดการรวมกลุ่มวางแผนการผลิตและระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ให้เกื้อกูลกันอย่างครบวงจร และมีตลาดรองรับที่แน่นอน คาดว่าจะได้ภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่เชื่อมโยงกันในระดับภาคและระดับประเทศในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะแอปพลิเคชั่นไลน์ (Application Line) เป็นต้น

 

 “ปัจจุบัน ไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทร์ ประมาณ 160,000 ไร่ เกษตรกรกว่า 5,000 ราย ได้ผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ประมาณ 50,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวอินทรีย์ คิดเป็น 60%  ที่เหลือเป็นพืชอื่นๆ สมุนไพร รวมทั้งสินค้าประมงและปศุสัตว์อินทรีย์ มีมูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท สำหรับสินค้าอินทรีย์ที่มีศักยภาพการผลิตและส่งออกสูงคือ ข้าวอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังส่งออกผักและผลไม้อินทรีย์ไปต่างประเทศด้วย อาทิ กล้วยหอม สับปะรด เงาะ มะม่วง มังคุด ทุเรียน ผักสลัด แครอต กระเจี๊ยบเขียว ชา และกาแฟอินทรีย์ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา สำหรับตลาดส่งออกที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มดีในอนาคต ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นต้น” เลขาธิการ มกอช. กล่าว