“เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ” ตายแล้ว”อย่างเป็นทางการ”!

ฟาเบียง คอสติเยอร์ นักสำรวจใต้น้ำและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระดับแนวหน้าของโลก ผู้ก่อตั้ง “ศูนย์เพื่อการเรียนรู้มหาสมุทรฟาเบียงคอสติเยอร์” ยืนยันว่า “เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ” แนวปะการังใหญ่ที่สุดในโลก นอกชายฝั่งตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย และถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตกอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตแล้วอย่างแท้จริง หลังจากเกิดอาการ “ฟอกขาว” ขึ้นเป็นระยะๆ และสภาพฟอกขาวขนานใหญ่ในเวลานี้ทำให้แนวปะการังอยู่ในสภาพที่เกินที่จะเยียวยาแล้ว

อาการปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทร เพิ่มสูงขึ้นมากถึงระดับที่แนวปะการังไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ภาวะโลกร้อนเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าวนี้ขึ้น และทำนายเรื่องนี้เอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ไม่คิดว่าสภาพจะรุนแรงและเลวร้ายลงอย่างรวดเร็วถึงขนาดนี้ โดยเชื่อกันในเวลานั้นว่า เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ น่าจะอยู่รอดต่อไปได้อีกราว 30 ปี

คอสติเยอร์ เตือนว่า การที่ภาวะโลกร้อนส่งผลถึงขั้นทำลายการอยู่รอดของแนวปะการังได้ นับว่าเป็นเครื่องสะท้อนเป็นอย่างดีว่าสิ่งต่างๆที่หลงเหลืออยู่บนโลกนี้อาจล้มตายลงหรือระบบต่างๆล้มเหลวลงได้ในอนาคต เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนจะไม่หยุดเพียงแค่นี้แน่นอน

คอสติเยอร์ ระบุว่า “เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ” เป็นโครงสร้างที่มีชีวิตเพียงอย่างเดียวบนโลกนี้ที่สามารถมองเห็นได้จากห้วงอวกาศ ใช้เวลาในการเจริญเติบโตจนเป็นแนวปะการังมหึมานานหลายแสนปี และเป็นสถานที่บนโลกแห่งหนึ่งซึ่งมีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อนมากที่สุด ในเวลานี้ส่วนใหญ่หลงเหลือเพียงซากหินปะการังที่ไม่มีชีวิต ทั้งๆที่ในบริเวณแนวปะการังแห่งนี้มีปะการังชนิดที่เรียกว่า “ฮาร์ด โครอล” ซึ่งสามารถต่อต้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกได้ดีกว่าชนิดอื่นๆ อยู่มากมายหลายร้อยสปีชีส์ภายในระบบนิเวศแห่งนี้ก็ตาม แต่โชคร้ายที่ไม่สามารถเอาชีวิตรอดต่อไปได้จากความผันผวนของอุณหภูมิและปัจจัยประกอบอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม คอสติเยอร์กล่าวว่า ธรรมชาตินั้นนับเป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ และการปรับตัวเองก็เป็นหลักการอยู่รอดของธรรมชาติที่สำคัญเช่นเดียวกัน เมื่อสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งตายไป เกิดช่องว่างขึ้นในระบบนิเวศของแนวปะการัง สิ่งมีชีวิตอื่นๆก็จะเข้ายึดครองช่องว่างนั้นทดแทน แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราคุ้นเคยกัน หรือเป็นแนวปะการังที่เราเคยเพลิดเพลิน แต่เป็นสิ่งอื่นซึ่งสามารถใช้ช่องว่างที่หายไปเป็นประโยชน์ได้เต็มที่ อาจเป็นปะการังชนิดใหม่ สีใหม่ แต่ที่แน่นอนก็คือระบบนิเวศของมันจะไม่มากมายและซับซ้อนเหมือนที่เคยเป็น

การสูญเสียแนวปะการังแห่งนี้ ตามทัศนะของคอสติเยอร์ ถือเป็นการสูญเสียแหล่งความรู้ที่มนุษย์อาจไม่มีโอกาสได้เรียนรู้อีกแล้ว แม้ว่าในเวลานี้นักวิทยาศาสตร์จะพยายามหาทางแก้ไขภัยคุกคามนี้อยู่ด้วยการทดลองนำโครงสร้างปะการังที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติไปติดตั้งไว้ในทะเลแคริบเบียน, เมดิเตอเรเนียน, อ่าวเปอร์เซียและออสเตรเลีย โดยหวังว่าจะทำให้ “ซูแซนเทลลี” สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในเนื้อปะการังและทำให้ปะการังมีสีสันหลากหลายและสวยงามจะใช้เป็นที่อยู่และเจริญเติบโตได้

เมื่อถูกรบกวนหรืออุณหภูมิร้อนขึ้น ซูแซนเทลลี จะดีดตัวออกมาจากเนื้อปะการัง ส่งผลให้ปะการังกลายเป็นสีซีดขาวที่เรียกว่าอาการฟอกขาวนั่นเอง

Advertisement

นอกเหนือจากความพยายามสร้างปะการังเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังพยายามใช้วิชาการช่วย เพื่อให้ปะการังปรับตัวเข้ากับภาวะโลกร้อนให้ได้ แต่คอสติเยอร์เตือนว่า ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว ไม่สามารถใช้เป็นการแก้ปัญหาถาวรได้

ยกเว้นว่ามนุษย์จะยุติพฤติกรรมย่ำแย่ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนลงให้ได้นั่นเอง

Advertisement