ศูนย์ขยายพันธุ์พืชตรัง แหล่งผลิตขยายพันธุ์พืชพันธุ์ดีของภาคใต้

พันธุ์พืชดี มีคุณภาพ นับเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญและจำเป็นสำหรับเกษตรกรในการผลิตพืช เพื่อให้มีผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรโดยตรง เนื่องจากการใช้พันธุ์พืชที่มีคุณภาพดีจะลดปริมาณการใช้พันธุ์พืชต่อไร่ ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ที่ผ่านมา ผลผลิตพืชเศรษฐกิจบางชนิดของประเทศไทยผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ ต้องมีการนำเข้าผลผลิตหรือวัตถุดิบอื่นทดแทนจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี

กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ปรับปรุงศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) จำนวน 10 ศูนย์ เป็นศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 1-10 ซึ่งมีบทบาทและภารกิจหลักในการขยายพันธุ์พืช ใน 4 สายการผลิต คือ ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดหาแม่พันธุ์พืชพันธุ์ดี และจัดสร้างเกษตรกรเครือข่ายการผลิตขยายพันธุ์พืช รวมทั้งการจัดทำสื่อเรียนรู้ประชาสัมพันธ์และจัดงานสถานีถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตและขยายพันธุ์พืชเพื่อให้เกษตรกรได้รับรู้ถึงการดำเนินงานผลิตขยายพันธุ์พืชของศูนย์ขยายพันธุ์พืชดังกล่าวและเข้าถึงพืชพันธุ์ดีได้ต่อไป

ทั้งนี้ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง นับเป็นแหล่งผลิตพันธุ์พืชที่สำคัญครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา สตูล นราธิวาส ยะลา และจังหวัดปัตตานี โดยมีบทบาท ภารกิจ และหน้าที่รับผิดชอบ ในการศึกษา พัฒนา วิจัย ทดสอบ ประยุกต์และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชพันธุ์ดี วางแผนการผลิตพืชพันธุ์ดีให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร ผลิตพืชพันธุ์ดีให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตและขยายกระจายพันธุ์พืช เพื่อใช้ในงานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ฝึกอาชีพด้านการผลิตและขยายพันธุ์พืชแก่เกษตรกรทั่วไปและผู้สนใจ ให้บริการข้อมูลข่าวสารวิชาการด้านการผลิตขยายพันธุ์พืช และสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็น รวมทั้งให้บริการทางการเกษตรอื่นๆ

ปัจจุบัน ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง ดำเนินการจัดแปลงแม่พันธุ์พืชพันธุ์ดี ทั้งไม้ผลและไม้ประดับ จำนวน 13 แปลง เช่น มะละกอ มังคุด จำปาดะ สะตอ โกสน และแปลงสาธิต เช่น พืชสมุนไพร ไม้ป่า ไม้ยืนต้น พืชท้องถิ่น แปลงอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยพืชเด่น 4 สายการผลิตของศูนย์ ประกอบด้วย

  1. พืชที่ใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ได้แก่ กล้วย (กล้วยหิน กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมทอง) และกล้วยไม้ป่า จำนวน 20 สายพันธุ์ (สนับสนุนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)
  2. พืชที่ใช้วิธีการผลิตต้นพันธุ์ ได้แก่ พริกขี้หนูพันธุ์เดือยไก่ มะเขือเปราะพันธุ์คางกบ มะละกอฮอลแลนด์ และพริกไทย (พันธุ์ซาราวัก ซีลอน และพันธุ์ปะเหลียน)
  3. พืชที่ใช้วิธีการผลิตท่อนพันธุ์ ได้แก่ อ้อยคั้นน้ำ (พันธุ์สิงคโปร์)
  4. พืชที่ใช้วิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ ได้แก่ พริกขี้หนูเดือยไก่ ถั่วพุ่ม มะเขือเทศ และกระเจี๊ยบเขียว

สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่สนใจพันธุ์พืชพันธุ์ดี หรือหลักสูตรฝึกอาชีพต่างๆ สามารถติดต่อได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ (075) 582-312-3 ในวันและเวลาราชการ หรือเข้าชมเว็บไซต์ของทางศูนย์ ได้ที่ www.aopdt08.doae.go.th