เกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ที่โรงเรียน ตชด. บ้านห้วยฆ้อง การพัฒนาตามโครงการ กพด.-ส.ป.ก.

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)

“การเพาะเห็ดและการแปรรูปเห็ดนางฟ้า” คือ หลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ครูและเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยฆ้อง หมู่ที่ 5 ตำบลป่าก่อ อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งจัดขึ้น เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญ ดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพระบบงานเกษตร ภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในส่วนของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หรือ โครงการ กพด.-ส.ป.ก.

ส.ป.ก. ฝึกอบรมภายใต้โครงการ กพด. – ส.ป.ก. หลักสูตรการเพาะและแปรรูปเห็ดนางฟ้า

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยฆ้อง เป็น 1 ใน 57 โรงเรียน จาก 24 จังหวัด ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. กำหนดให้เป็นโรงเรียนเป้าหมายการดำเนินงานตามโครงการ กพด.-ส.ป.ก. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

โครงการ กพด.-ส.ป.ก. เป็นโครงการ ที่ ส.ป.ก. ได้มีส่วนร่วมดำเนินการสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งโครงการ กพด.-ส.ป.ก. มีวัตถุประสงค์ให้เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารได้รับโอกาสในการพัฒนา และมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตามเป้าหมายสูงสุดอันจะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560 – 2569

เรียนรู้ทฤษฎีก่อนไปปฏิบัติจริง

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มงานพัฒนาเด็กและเยาวชนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารของพระองค์เอง ในปี พ.ศ. 2523 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีโอกาสได้รับความรู้และฝึกฝนตนเอง สามารถพัฒนาตนเองให้เข้มแข้งและพึ่งตนเองได้ พร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อันเป็นแนวทางสู่ความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงยึดเป็นแบบอย่างมาโดยตลอด

ซึ่งในปี พ.ศ. 2558 ส.ป.ก. ขอเข้าร่วมโครงการภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อนุญาตให้ ส.ป.ก. เข้าร่วมและเริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2559 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมเสนองานตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารและเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานอย่างชัดเจน และได้จัดทำ “โครงการเพิ่มศักยภาพระบบงานเกษตร” ภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ โดยยึดโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง เชื่อมโยงกลไก โรงเรียน ผู้ปกครอง องค์การบริหารส่วนตำบล สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน

ส.ป.ก. มอบโรงเพาะเห็ดพร้อมก้อนเห็ดนางฟ้าภูฐาน จำนวน 1,000 ก้อน สนับสนุนโครงการระบบงานเกษตรเพื่ออาหารกลางวันประจำปีงบประมาณ 2564

” ส.ป.ก. ในฐานะหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการการทำงาน จึงมุ่งเน้นการทำงานที่เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายสูงสุด ตามการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ นั่นคือ “เด็กและเยาวชนมีโภชนาการดี สุขภาพแข็งแรง ใฝ่เรียนรู้ ซื่อสัตย์ ประหยัด และอดทน มีความรู้และทักษะทางวิชาการ และการอาชีพเพื่อเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต รักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นไทย และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติได้”

ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานดังกล่าวของ ส.ป.ก. ภายใต้โครงการ กพด.-ส.ป.ก. จึงทำให้ทุกโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ สามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จตามที่กำหนด ดังเช่นที่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยฆ้องแห่งนี้ ที่ปัจจุบันภายในโรงเรียนมีกิจกรรมการทำเกษตรที่หลากหลาย ทั้ง การเลี้ยงเป็ด ไก่ไข่ ไก่บ้าน หมู ปลา หลายสายพันธุ์ และการปลูกพืชผักสวนครัวภายในโรงเรือนและนอกโรงเรือน อาทิ พริก มะนาว บวบ น้ำเต้า และฟัก

ส.ป.ก. มอบวัสดุการเกษตรและพรรณไม้

ซึ่งกิจกรรมการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันที่เกิดขึ้นใหม่ล่าสุด คือ การเพาะเห็ดและการแปรรูปเห็ดนางฟ้า ที่ดำเนินการภายใต้โครงการ กพด.-ส.ป.ก. ที่นอกจากการสนับสนุน องค์ความรู้ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้เข้าใจในพื้นฐานเกี่ยวกับการบริหารจัดการดูแลเห็ดแล้ว ยังได้มีการมอบโรงเพาะเห็ดพร้อมก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าภูฐาน จำนวน 1,000 ก้อน ให้กับนักเรียน ได้นำไปเพาะเลี้ยงด้วยการลงมือปฏิบัติเรียนรู้จากของจริง ตั้งแต่การดูแล เก็บเกี่ยว ไปจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เห็ดชนิดต่างๆ ซึ่งองค์ความรู้ทั้งหมดที่นักเรียนได้รับยังสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ เพื่อที่จะเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต

โครงการ กพด.-ส.ป.ก. จึงนับว่า เป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรของโรงเรียนในพื้นที่เป้าหมาย อันจะนำไปสู่การลดการพึ่งพาจากปัจจัยภายนอก เกิดการพึ่งพาตนเอง รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่ทั้งเด็กและเยาวชน รวมถึงชุมชนในพื้นที่อีกด้วย