วัวแคระ-หมูจิ๋ว ‘ดงประดู่ฟาร์ม’ สัตว์เลี้ยงที่ยังน่ารักเสมอ

หลายปีมาแล้วที่ได้ยินเสียงคำร่ำลือถึง “ดงประดูฟาร์ม” ฟาร์มปศุสัตว์ ในเขตพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เสียงร่ำลือที่ได้ยินเป็นไปในแนวทางที่ดี ทำให้รู้สึกว่า ฟาร์มแห่งนี้น่าจะมีระบบการจัดการที่ลงตัว และผู้เป็นเจ้าของต้องมีใจรักในการทำฟาร์มปศุสัตว์อย่างแท้จริง

เจ้าของฟาร์มเป็นชาย รูปร่างสันทัด มีงานประจำอยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่ก็มีวันหยุดบ้างเท่าที่บริษัทเอกชนทั่วไปจะให้ เขาใช้เวลาวันหยุดที่มีทุ่มเทให้กับงานด้านปศุสัตว์ที่ใจรัก ซึ่งแม้จะเริ่มด้วยงานด้านปศุสัตว์ แต่ก็ไม่ได้เป็นงานด้านเดียวที่เขาใส่ใจ เพราะอีกด้านหนึ่งของงาน เขาพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ทำให้งานปศุสัตว์บางส่วนกลายเป็นงานปรับปรุงคุณภาพปศุสัตว์ให้เป็นสัตว์เลี้ยง สร้างรอยยิ้มให้กับคนทั่วไปได้

เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณเนติยะ ยอดเณร เจ้าของดงประดู่ฟาร์ม จึงทราบว่า เขามีเรื่องราวที่เหมาะแก่การถ่ายทอดเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรไทย ได้ศึกษาเรียนรู้และนำไปพัฒนางานเกษตรที่ดำเนินอยู่ และคุณเนติยะก็พร้อมจะให้คำแนะนำในมุมที่เขาถนัดและมั่นใจในความรู้ที่มี

จุดเริ่มต้นของดงประดู่ฟาร์ม เป็นเพียงความสนใจและรักในการทำฟาร์มปศุสัตว์ เริ่มจากการเลี้ยงวัวเนื้อ วัวนม แกะ และ แพะ สัตว์ทั้งหมดคุณเนติยะ ตั้งใจทำระบบการเลี้ยงขายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และขายผลผลิตที่ได้ เช่น น้ำนม ไม่ต้องการขายฆ่าเป็นเนื้อสำหรับการบริโภค อีกทั้งต้องการปรับปรุงพันธุ์ให้ดี จึงศึกษาระบบการจัดการฟาร์มและการพัฒนาสายพันธุ์ (Breed) ให้มีคุณภาพ จึงเริ่มศึกษาทั้งจากข้อมูลเชิงวิชาการในประเทศและต่างประเทศ และนำวิธีที่ดีที่สุดมาใช้

“ในยุคนั้น เราพยายามบรีดวัวเนื้อให้ได้สายพันธุ์ที่ดี ผสมเทียมจากน้ำเชื้อนอกทั้งหมด ไม่ใช้พ่อพันธุ์ทับจริง ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับมือใหม่อย่างผม แต่ผมก็พยายามศึกษา ทดลอง แม้กระทั่งการทำวัวในหลอดแก้วก็ตาม”

ระยะแรกของดงประดู่ฟาร์ม เป็นภาพของฟาร์มปศุสัตว์ขนาดย่อม ค่อยๆ เจริญเติบโตมาด้วยสองมือของคุณเนติยะที่ทุ่มเทเวลาทั้งศึกษาและการวางระบบฟาร์ม ซึ่งเมื่อไปได้ดี คุณเนติยะ เริ่มมองถึงพัฒนาปศุสัตว์เพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นสัตว์เลี้ยง โดยเริ่มจากแกะ สัตว์เลี้ยงในฟาร์ม ซึ่งยุคนั้นความนิยมแกะในสถานที่ท่องเที่ยวหรือจุดรองรับนักท่องเที่ยวขยายตัวมาก การจัดการแกะในฟาร์มขายเป็นสัตว์เลี้ยง จึงเป็นแนวทางที่คุณเนติยะสนใจ และเริ่มฝึกแกะให้เป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน ป้อนนมและป้องอาหาร โพสท่าถ่ายรูป อุ้มเล่นได้เหมือนสัตว์เลี้ยงทั่วไป

“การขายสัตว์เลี้ยง คือ การขายความสุข” คุณเนติยะ บอก

จากสัตว์เลี้ยงในฟาร์มปศุสัตว์อย่างแกะ คุณเนติยะ เริ่มมองมาที่ “หมูจิ๋ว” และ “วัวแคระ” ซึ่งคุณเนติยะ ยอมรับว่า วัวแคระเริ่มต้นมาก่อนหมูจิ๋ว แต่ประสบความสำเร็จทีหลัง ทำให้หมูจิ๋วเป็นที่รู้จักก่อน อีกทั้งความนิยมในหมูจิ๋วมีเข้ามาในประเทศกว้างขวางมาก ทำให้ราคาหมูจิ๋วซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศราคาถูกลงเรื่อยๆ ถึงปัจจุบัน ราคาซื้อขายหมูจิ๋วลดลงเหลือราคาหลักพันบาท แต่ดงประดู่ฟาร์ม ยังคงจำหน่ายในราคา 15,000 บาท อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ลดลงตามกระแส ซึ่งตรงนี้คุณเนติยะ อธิบายให้ฟังว่า หมูจิ๋วของดงประดู่ฟาร์ม เป็นหมูจิ๋ว Miniature ชนิด หมูพ๊อตเบลลี่เวียดนาม ที่มีการนำเข้ามาเมืองไทยประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา ระยะแรกของการนำเข้าราคาสูงถึงตัวละ 300,000 บาท

“สาเหตุที่ราคาหมูจิ๋วลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะหมูเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้เร็ว อัตราการรอดสูง เพราะมาจากประเทศข้างเคียงจึงปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศของไทยได้ง่าย ทำให้จำนวนหมูจิ๋วเพิ่มมากขึ้น และราคาตามมาตรฐานของดงประดู่ฟาร์ม อยู่ที่ตัวละ 15,000 บาท ซึ่งรับประกันได้ว่า หมูจิ๋วของดงประดู่ฟาร์มไม่เหมือนที่ใด”

คุณเนติยะ ให้เหตุผลว่า หมูจิ๋วของดงประดู่ฟาร์มคงเป็นหมูจิ๋วสายพันธุ์เดิมที่ไม่มีการผสมข้ามสายพันธุ์ ผ่านการฝึกให้เป็นสัตว์เลี้ยงมาแล้ว ซึ่งปกตินิสัยตามสายพันธุ์หมู เป็นสัตว์ฉลาด เรียนรู้ได้รวดเร็ว ขับถ่ายเป็นที่ สามารถใส่สายจูงเดินเล่นเหมือนสุนัข เรียกมาหา ป้อนอาหาร และอุ้มเล่นได้โดยไม่ร้อง ทั้งที่ปกติของหมูจะร้องเมื่อถูกอุ้ม

“หมูจิ๋ว เมื่อโตเต็มวัยจะสูงประมาณ 16-17 นิ้ว น้ำหนักเต็มที่ตามมาตรฐานสายพันธุ์อยู่ที่ 50 กิโลกรัม หมูพ๊อตเบลลี่เวียดนาม เป็นหมูพื้นเมืองของเวียดนาม ซึ่งไม่ต่างจากหมูกระโดน หมูแม้ว ของไทย โดยนิสัยทั่วไปสามารถเลี้ยงในบ้านได้ อาบน้ำได้ นอนด้วยได้ เหมือนสัตว์เลี้ยงอื่น เช่น สุนัขหรือแมว”

การดูแลหมูจิ๋ว ทำโดยการถ่ายพยาธิปีละ 2 ครั้ง โดยสัตวแพทย์ ให้อาหารเป็นผักผลไม้ที่มี และเสริมด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูป เพื่อให้หมูจิ๋วได้สารอาหารครบถ้วน การผสมพันธุ์สามารถทำได้เมื่อหมูจิ๋วโตเต็มวัย (7-8 เดือน) แต่ควรระวัง เพราะการให้ลูกแต่ละครอก หมูจิ๋วสามารถให้ได้จำนวนมากอย่างน้อย 7-10 ตัว และการส่งต่อหมูจิ๋วไปยังลูกค้าที่สนใจจะส่งให้เมื่อหมูจิ๋วมีอายุอย่างน้อย 2 เดือน อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายหมูจิ๋วให้กับลูกค้าที่สนใจ ดงประดู่ฟาร์มจะทำความเข้าใจกับผู้ซื้อถึงมาตรฐานสายพันธุ์ของหมูจิ๋วก่อน หากยึดติดกับภาพหมูจิ๋วว่าต้องตัวเล็กมากเหมือนภาพของต่างประเทศ คงไม่ได้ เพราะหากเลี้ยงต่อไปเรื่อยๆ หมูจิ๋วจะเจริญเติบโต มีน้ำหนักมากถึง 50 กิโลกรัม และมีอายุยืนมากกว่า 10 ปี ซึ่งหากลูกค้ารับไม่ได้กับมาตรฐานสายพันธุ์เหล่านี้ ดงประดู่ฟาร์มก็ขอพิจารณาไม่จำหน่ายให้ เพราะไม่ต้องการให้หมูจิ๋วกลายเป็นสัตว์ขายเนื้อบริโภค

“หากลูกค้าไม่ต้องการนำหมูจิ๋วไปขยายพันธุ์ต่อ ทางฟาร์มจะทำหมันให้กับหมูจิ๋ว แต่ถ้าต้องการเพาะขยายพันธุ์ ก็ขอทำความเข้าใจถึงมาตรฐานสายพันธุ์ให้ดีก่อน”

สำหรับวัวแคระ ซึ่งน่าจะเป็นไฮไลท์ของดงประดู่ฟาร์ม คุณเนติยะ เล่าว่า ดงประดู่ฟาร์มมองเรื่องของการท่องเที่ยวในลักษณะของการทำฟาร์มอย่างมีความสุข ขายความสุขให้กับผู้ชมหรือคนดู เมื่อดงประดู่ฟาร์มมุ่งเน้นการทำฟาร์มปศุสัตว์ต่อยอดมาถึงสัตว์เลี้ยง วัวแคระ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ โดยเริ่มจากการสังเกตว่าวัวเนื้อของต่างประเทศมีสายพันธุ์เล็ก และเลี้ยงโดยไม่ขายเนื้อบริโภค ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์หลักของฟาร์มที่ต้องการต่อยอดปศุสัตว์ในรูปแบบของสัตว์เลี้ยง

คุณเนติยะ กล่าวว่า เรานำวัวสายพันธุ์เล็กที่มุ่งทำสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะเข้ามาเป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ และพยายามคัดสายพันธุ์ที่สามารถฝึกได้ เชื่อง ตัวเล็ก โดยเฉพาะอารมณ์วัว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อนำมาบรีดกันแล้ว ทำให้ปัจจุบันเราได้วัวแคระ 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ดงประดู่ 1 ซึ่งมีความน่ารัก แต่ปัจจุบันนี้เลิกผลิตแล้ว ส่วนสายพันธุ์ดงประดู่ 2 เป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่ยังคงขยายพันธุ์อยู่ เพราะได้รับการปรับปรุงพันธุ์ให้มีหน้าคล้ายแพนด้า คือ มีหน้าขาว ขอบตาดำ ขอบบ้างมีลายบ้างหรือสีดำบ้าง ความสูงไซซ์มาตรฐานไม่เกินเอว โดยก่อนหน้านี้ที่ได้ลูกวัวแคระออกมาเกือบ10 ตัว จำหน่ายไปยังสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังหลายแห่งหมดแล้ว

สำหรับวัวแคระ คุณเนติยะ ใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์และพัฒนามานานกว่าหมูจิ๋ว เพราะต้องเรียนรู้และศึกษาเพิ่มเติมในการคัดเลือกพันธุ์ การผสมและอื่นๆ เหมือนกับนักปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งคุณเนติยะ ไม่มีพื้นฐานความรู้มาก่อน

“ก่อนหน้าที่ผมจะเริ่มมองไปที่วัวแคระ เพื่อนำมาทำเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านเรา ผมเลือกเลี้ยงวัวเนื้อขนาดเล็กออแกนิกส์ เพราะต้องการเจาะตลาดคนรักสุขภาพ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคนไทยที่รักสุขภาพส่วนใหญ่ไม่เลือกรับประทานเนื้อ แม้ว่าจะขายเนื้อออแกนิกส์ก็ทำตลาดไม่ได้ ทำให้โครงการนี้ล้มเลิกไป และมองเห็นวิกฤตในโอกาสของวัวขนาดเล็กที่สามารถปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านได้”

คุณเนติยะ ย้ำให้เห็นถึงวิกฤตที่เกิดขึ้น และพยายามชี้ให้เห็นโอกาสในวิกฤต เพื่อให้เกษตรกรไทย ซึ่งเขาเชื่อมั่นว่ามีความสามารถไม่แพ้เกษตรกรชาติใดในโลก ไม่ย่อท้อกับวิกฤตที่ประสบ และให้มองในมุมต่างที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้ได้

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ.2564