อภัยภูเบศร แนะวิธีปลูกกัญชาให้ได้ผลผลิตที่ดี

มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสมุนไพรในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง “กัญชา” เป็นสมุนไพรตัวล่าสุดที่ “อภัยภูเบศร” ใช้เวลา 2 ปี บุกเบิกปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ จนกลายเป็นต้นแบบเรื่องการปลูกกัญชา พร้อมเป็นพี่เลี้ยงแบ่งปันองค์ความรู้เรื่องการปลูก การเก็บเกี่ยว และแปรรูปกัญชาเบื้องต้น ให้กับเกษตรกรและโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้แก่ประชาชน

“โมเดลการปลูกกัญชาของอภัยภูเบศร” มีรูปแบบอย่างไรนั้น สามารถหาคำตอบได้จากคำกล่าวของ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ดังต่อไปนี้ (ถอดความจากเวทีเสวนาหัวข้อ “‘กัญชา’ ครบวงจรกับอภัยภูเบศร” ภายในงานมหกรรมกัญชง กัญชา 360 องศา จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564)

จุดเริ่มต้นปลูกกัญชาของอภัยภูเบศร

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์และกัญชงเพื่อเศรษฐกิจของรัฐบาล โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในฐานะผู้ปฏิบัติงาน ได้ดำเนินเรื่องกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมายและหลักวิชาการมาตั้งแต่พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐและเอกชน ทำให้การปลูกกัญชา การสกัด และการทำยากัญชากลายเป็นเรื่องง่ายและถูกต้องตามกฎหมาย จึงอยากเผยแพร่ประสบการณ์เรื่องการปลูก เก็บเกี่ยว แปรรูปกัญชาและกัญชงให้กับผู้สนใจทั่วไป

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร

ปลูกกัญชา 3 รูปแบบ

ปัจจุบัน โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปลูกกัญชาใน 3 รูปแบบ ได้แก่ โรงเรือนระบบปิด โรงเรือนเพาะปลูกพืช (Green house) และระบบแปลงเปิด ซึ่งแต่ละรูปแบบมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป

ปลูกกัญชาในโรงเรือนระบบปิด

ในระยะแรก อภัยภูเบศร ทดลองปลูกกัญชาในตู้คอนเทนเนอร์ พบว่า ตู้คอนเทนเนอร์มีขนาดเล็ก ดูแลจัดการยาก จึงเปลี่ยนมาปลูกกัญชาในห้องขนาดใหญ่ขึ้น สามารถวางระบบควบคุมการทำงานได้ดีขึ้น ปัจจุบันได้พัฒนาการปลูกในรูปแบบโรงเรือนระบบปิดขึ้นมาใหม่ สามารถรองรับการทำงานต่างๆ ได้ดีขึ้น

ข้อดีของการปลูกระบบนี้คือ เหมาะกับสายพันธุ์ลูกผสม ต้นไม่สูงมาก ปลูกได้ 3-4 รอบต่อปี (สายพันธุ์ Chemdawg 16 ต้น ผลิตน้ำมันได้ประมาณ 4,700 กรัม) ใช้กระบวนการปลูกแบบ Aeroponics และ Deep water culture (DWC) ควบคุมสภาวะการปลูกได้ ทั้งกระแสลม ความชื้น แสง กันลม กันแมลง ได้ผลผลิตต่อต้นสูง คุณภาพดี มีความแน่นหนา ปลอดภัย แต่มีข้อจำกัดคือ ต้นทุนสูงกว่าการปลูกลงแปลงและระบบโรงเรือน

ปลูกกัญชาในโรงเรือนเพาะปลูกพืช (Green house)

อภัยภูเบศร ปลูกกัญชาในโรงเรือนเพาะปลูกพืช (Green house) จำนวน 2 แห่ง เน้นปลูกเพื่อเปรียบเทียบผลผลิตและสารสำคัญของกัญชา ระหว่างการปลูกพืชในระบบน้ำ (Hydroponics) กับการปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์พบว่า การปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ เป็นแนวทางเหมาะสมที่สามารถแบ่งปันความรู้ให้กับเกษตรกรได้ในอนาคต โดยอภัยภูเบศร ปลูกกัญชาสายพันธุ์ Charlotte’s Angel (เชอร์เล็ต แองเจิล) ที่มีลักษณะเด่นคือ ให้สาร CBD สูงถึง 15% THC ต่ำแค่ 0.7% เหมาะสำหรับใช้รักษาอาการทั่วไป

ปลูกกัญชาในระบบแปลงเปิด

ในระบบแปลงเปิด อภัยภูเบศร เน้นปลูกกัญชาสายพันธุ์ไทย เช่น กัญชาพันธุ์หางกระรอก โดยปลูกกิ่งปักชำจากเมล็ด เพื่อนำ ราก ใบ ลำต้น มาใช้เป็นวัสดุในการผลิตตำรับยาไทย มีข้อดีของการปลูกระบบนี้คือ ต้นทุนต่ำ ได้ผลผลิตดี

อภัยภูเบศร ปลูกกัญชาในระบบแปลงเปิด โดยปูพื้นรองเพื่อป้องกันวัชพืชและเชื้อโรคที่มาจากดิน ปลูกกัญชาสายพันธุ์ไทย โดยนำกิ่งพันธุ์ที่ได้จากวิธีปักชำต้นแม่พันธุ์ อภัยภูเบศรปลูกกัญชาสายพันธุ์เชอร์เล็ต แองเจิล เพื่อใช้ดอกตัวเมีย โดยไม่มีตัวผู้อยู่ในพื้นที่ เพราะเสี่ยงต่อการติดเมล็ดภายในดอกเชอร์เล็ต แองเจิล ในดอกตัวเมีย ส่งผลให้สารสำคัญบริเวณช่อดอกลดลง เนื่องจากมีการย้ายถ่ายเทสารสำคัญจากบริเวณช่อดอกไปยังเมล็ดแทน

การปลูกกัญชาในระบบโรงเรือนเพาะปลูกพืช (Green house) ของอภัยภูเบศร มีการพัฒนาโรงเรือนให้เหมาะสมกับการปลูกกัญชามากขึ้น โดยออกแบบแก้ไขปัญหาความร้อนในโรงงานด้วยระบบอีแว้ป (Evap) ติดตั้งพัดลมเพื่อลดความร้อน เพิ่มความชื้นให้กับโรงเรือน ในระยะทำวัย

อภัยภูเบศร เน้นปลูกกัญชาสายพันธุ์ โฟโต้พีเรียด : Photoperiod (ซึ่งต้นกัญชาเติบโตตามช่วงแสง แสงมากทำใบ แสงน้อยจะเริ่มทำดอก) จึงต้องควบคุมปริมาณการให้แสง ในระยะทำวัย เน้นเพิ่มแสงเวลากลางคืนเพื่อยืดอายุ หรือป้องกันการออกดอกของกัญชาก่อนถึงเวลาที่กำหนด

การพ่นสารชีวภัณฑ์ ทางอภัยภูเบศรเลือกใช้สารชีวภัณฑ์ที่มีเชื้อจุลินทรีย์ออกฤทธิ์ทำลายศัตรูพืชเฉพาะชนิด เน้นฉีดพ่นในเวลาค่ำหรือเย็น เพื่อป้องกันไม่ให้โดนแสงโดยตรง เพราะจะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ที่ฉีดพ่นออกไปไม่ได้ผล เพราะเชื้อตาย ทั้งนี้ จะใช้สารชีวภัณฑ์ตั้งแต่ต้นกัญชาอยู่ในช่วงวัยอนุบาลจนถึงระยะทำดอก ประมาณ 5-6 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นจะเลิกฉีดสารชีวภัณฑ์ในระยะทำดอก เพราะเสี่ยงเกิดเชื้อราตรงบริเวณช่อดอก เนื่องจากต้นกัญชาสะสมความชื้นมากเกินไป แก้ปัญหานี้โดยลดการฉีดสารชีวภัณฑ์ในช่วงเย็น และใช้กำมะถันหรือสารอื่นทดแทน

แปลงเพาะปลูกกลางแจ้ง มีตาข่ายคลุมเพื่อป้องกันไม่ให้นกเข้ามาจิกทำลายผลผลิต (จากการสังเกต ในระยะแรกนกมาเป็นฝูง เมื่อไล่จะบินหนีตามธรรมชาติ ผ่านไปสักระยะ นกจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป หากคนเดินไปไล่นก นกจะไม่บินหนี แต่เดินหลบซ่อนตัวอยู่ในภาชนะปลูกหรือต้นกัญชาที่มีลักษณะใหญ่แทน)

การรักษาความปลอดภัยในแปลงปลูกกัญชา

อภัยภูเบศร ดูแลรักษาความปลอดภัยในแปลงปลูกกัญชาโดยติดตั้งกล้องวงจรปิดรอบพื้นที่ ใช้ระบบสแกนลายนิ้วมือ เพื่อเข้าถึงแปลงปลูกด้วย มีรั้วล้อมรอบแปลงปลูกถึง 2 ชั้น โดยชั้นแรกเป็นรั้วลวดหนาม รั้วที่สอง เป็นรั้วโปร่ง มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอดเวลา มีระบบไฟส่องสว่างในช่วงเวลากลางคืนและจุดมุมอับต่างๆ มีระบบแจ้งเตือนเมื่อมีบุคคลเข้ามาในพื้นที่เพาะปลูกอีกด้วย

ระบบควบคุมคุณภาพ

อภัยภูเบศร ควบคุมคุณภาพตั้งแต่วัสดุปลูก น้ำ และปุ๋ย ก่อนใช้งาน นำวัสดุตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์หาโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง เพื่อให้มั่นใจว่า วัสดุปลูกทุกชนิดปราศจากสารเคมีและไม่มีโลหะหนักตกค้างเกินค่ามาตรฐาน เพื่อให้สามารถนำกัญชาไปผลิตยาได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากต้นกัญชามีความสามารถในการดูดซับโลหะหนักและธาตุอาหารต่างๆ เก็บสะสมได้มาก จึงจำเป็นต้องตรวจวิเคราะห์วัสดุปลูก ให้มีผลผลิตที่มีความปลอดภัยทั้งในแง่ของผู้ปลูกและประชาชนที่นำยากัญชงไปใช้งาน

ผลผลิต

“ไตรโคม” สะสมสารสำคัญของกัญชาประเภท สาร THC สาร CBD และสารอื่นๆ อีกกว่า 400 ชนิด ไตรโคมจึงเป็นส่วนสำคัญที่สุดของต้นกัญชา ต้นกัญชาที่เติบโตขึ้นจะมีไตรโคม (ขน) ลักษณะคล้ายเรซิ่นใส เมื่อต้นกัญชาเติบโตสมบูรณ์เต็มที่ ไตรโคมเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น พร้อมเก็บเกี่ยว

เมื่อต้นกัญชาเติบโตครบอายุ จะใช้วิธีตรวจสอบสีของไตรโคม ซึ่งแบ่งสีไตรโคมได้ 3 ระยะ ได้แก่ สีใส มิลกี้ (สีขาวขุ่น) และสีเหลืองอำพัน โดยเก็บเกี่ยวช่อดอกในระยะดอกมีสีขาวขุ่น (มิลกี้) ประมาณ 70% เก็บเกี่ยวระยะสีเหลืองอำพัน ประมาณ 30% ซึ่งระยะนี้ต้นกัญชาให้สารสำคัญสูงมาก เริ่มเก็บเกี่ยวในช่วงเช้า ตั้งแต่เวลา 05.00-07.00 น. จากนั้นนำผลผลิตไปชั่งน้ำหนักสดก่อนนำไปแขวนตากในห้องทึบแสงที่ควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่ 22-24 องศาเซลเซียส ที่มีการหมุนเวียนอากาศที่ดี

การตากแห้ง นับเป็นขั้นตอนสำคัญ เพราะตากในห้องที่มีระบบไหลเวียนอากาศไม่ดี มีความชื้นสูง อาจเกิดปัญหาเชื้อราบริเวณช่อดอกได้ ใช้เวลาตากแห้ง 10-14 วัน เพื่อให้ได้ช่อดอกที่แห้งสนิท (สังเกตได้จาก หักกิ่ง ก้าน กัญชาแล้วเกิดเสียงดังเป๊าะ) เมื่อช่อดอกแห้งแล้วนำไปตัดแต่ง ใส่กล่องบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด เก็บไว้ในห้องทึบแสง ควบคุมอุณหภูมิห้องไม่เกิน 24 องศาเซลเซียส ก่อนนำไปผลิตยาในขั้นต่อไป ส่วนกิ่งหรือก้านกัญชาที่ถูกคัดแยกออกจากช่อดอกจะถูกบันทึกน้ำหนักแห้ง ก่อนนำไปทำลายต่อไป

“หัวใจของการปลูกกัญชา”

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร กล่าวว่า การปลูกกัญชาให้ประสบความสำเร็จ มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การจัดการดิน น้ำ ธาตุอาหารประเภท N P K ธาตุเหล็ก (Fe) สังกะสี หรือซิงก์ (ZINC) รวมทั้งดูแลจัดการศัตรูพืชอย่างเหมาะสม

ดินปลูก

ต้องมีความโปร่ง ระบายน้ำและอากาศได้ดี หากปลูกในดินแข็งแน่นหรือดินแฉะเกินไป จะทำให้รากกัญชาเจริญเติบโตได้ไม่ดี เสี่ยงต่อการเกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้ง่าย ดูแลป้องกันโดยใช้สารไตรโคเดอร์มา กำจัดเชื้อรากเน่า โคนเน่า ประการต่อมา เลือกวัสดุปลูกคุณภาพดี ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ขุยมะพร้าว แกลบเผา กาบมะพร้าวสับ หินเพอร์ไลต์ ทั้งนี้ อภัยภูเบศร นิยมใช้วัสดุปลูกประเภทกาบมะพร้าว ขุยมะพร้าว เป็นหลัก โดยนำวัสดุไปหมักก่อน เพื่อลดความร้อนจากวัสดุปลูกที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการย่อย เติมจุลินทรีย์กับน้ำตาลลงไป ใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน จึงค่อยนำไปใช้งาน

ธาตุอาหาร

อภัยภูเบศร แบ่งธาตุอาหารเป็น 2 ส่วน สำหรับแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรเครือข่ายที่ปลูกระบบเกษตรอินทรีย์ จะใช้ปุ๋ยหมักที่ผ่านการรับรองธาตุอาหารแล้วว่า มีปริมาณโลหะหนักไม่เกินค่ามาตรฐาน ผลิตจากวัสดุในท้องถิ่น เช่น แกลบ ฟางข้าว ขุยมะพร้าว กากมะพร้าว ฯลฯ

ส่วนโรงเรือนกรีนเฮ้าส์ ที่ปลูกกัญชาในระบบน้ำ (Hydroponics) อภัยภูเบศรได้พัฒนาสูตรปุ๋ย AB ขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยปรับสูตรให้เหมาะสำหรับปลูกกัญชามากยิ่งขึ้น เนื่องจากปุ๋ยบางชนิดหากใส่มากเกินไป จะทำให้ต้นกัญชาดูดซึมธาตุอาหารได้น้อยลง หรืออาจส่งผลต่อการสังเคราะห์แสงของต้นกัญชา

อภัยภูเบศรเติมธาตุอาหารให้ต้นกัญชาในสัดส่วนความเข้มข้นที่เหมาะสม โดยวัดจากค่าการนำไฟฟ้า (EC : Electrical Conductivity) เป็นตัวกำหนดปริมาณธาตุอาหารของต้นกัญชา มีการควบคุมธาตุอาหารและน้ำ ไม่ให้ค่า pH เกินค่ามาตรฐาน หากมีค่า pH สูงหรือต่ำกว่าค่ามาตรฐาน จะทำให้ต้นกัญชาดูดซับธาตุอาหารไปใช้ได้ไม่ดีพอ ทำให้ปุ๋ยที่เติมเข้าไปไม่เกิดประโยชน์และอาจเป็นพิษต่อต้นกัญชาได้

น้ำ

อภัยภูเบศรคอยตรวจวัดค่า pH ในน้ำอยู่ในอัตราที่เหมาะสม รดน้ำแค่พอชุ่มชื้น น้ำไม่ขัง น้ำที่นำไปใช้งานแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ น้ำที่ใช้ละลายธาตุอาหาร คือน้ำ RO ซึ่งมีค่าความเสถียรเรื่องความสะอาดของธาตุอาหาร ไม่มีเชื้อโรคเจือปน และอุณหภูมิน้ำนิ่งกว่าน้ำปกติ ส่วนน้ำที่ใช้รดต้นกัญชา มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ผ่านการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณโลหะหนักและเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อความปลอดภัยก่อนนำไปใช้งาน

ศัตรูพืช 

โดยธรรมชาติ ต้นกัญชามีศัตรูพืชและแมลงหลายชนิด ได้แก่ เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว ไรแดง หนอน และผีเสื้อ ดูแลกำจัดโดยใช้สารชีวภัณฑ์ ประเภทสารบีที สารบิวเวอเรีย เมตาไรเซียม หรือกาวดักแมลง จากการปลูกทดสอบในแต่ละฤดูพบว่า มีการแพร่ระบาดของศัตรูพืชแตกต่างกันออกไป ที่ผ่านมาอภัยภูเบศรเน้นป้องกันมากกว่ากำจัด โดยฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ทุกสัปดาห์

ปัญหาเชื้อราบริเวณช่อดอก มักเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 6 เป็นต้นไป โดยมีสาเหตุสำคัญคือความชื้นสะสมภายในช่อดอก ทำให้ไม่สามารถนำไปผลิตยาได้ ต้องทำลายทิ้งอย่างเดียว จึงต้องคอยดูแลควบคุมความชื้นในพื้นที่ปลูกและใช้สารชีวภัณฑ์ฉีดร่วมด้วย

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร กล่าวโดยสรุปว่า กัญชา เป็นพืชที่ไวต่อแสงในช่วงออกดอก จึงต้องปรับแสงให้เหมาะสม เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว แสงมักสั้นกว่า 8 ถ้าเกินกว่า 8 ต้องสร้างกำแพงบังเอา เช่น สมัยโบราณ หากอยากปลูกกัญชาในฤดูร้อน ต้องปลูกกัญชาบริเวณหุบเขา เพื่อให้หน้าผาบังแสง ส่วนกัญชาสายพันธุ์ต่างประเทศ เช่น เชอร์เล็ต แองเจิล เป็นสายพันธุ์เมืองหนาว แสงต้องไม่ต่ำกว่า 12 หากแสงต่ำกว่า 12 จะเริ่มออกดอก หากนำไปปลูกกลางแจ้ง จะทำให้กัญชาออกดอกเร็ว ได้ผลผลิตน้อย ต้องติดไฟเพื่อขยายเวลากลางวันให้มากขึ้น

เมื่อเกษตรกรเข้าใจธรรมชาติและการเติบโตของต้นกัญชา ในลักษณะ “หัวร้อนตีนเย็น” คือได้แสงพอสำหรับกระตุ้นให้สร้างสาร ส่วนตีนเย็นคือ มีความเย็นระดับหนึ่งที่เพียงพอสำหรับดูดออกซิเจน (ออกซิเจนในดินต้องไม่ร้อนเกินไป ในน้ำก็เช่นกัน) ต้นกัญชามีรากเยอะมาก จึงต้องการออกซิเจนจำนวนมาก หากให้น้ำมากเกินไป ต้นกัญชาสำลักน้ำได้ง่าย จึงต้องใช้ดินปลูกที่มีสภาพร่วนซุย ต้นกัญชากินจุมาก หากปลูกในกระถางเล็ก ไม่ทันออกดอกก็ตายเสียแล้ว เกษตรกรต้องคอยหมั่นสังเกตการเติบโตของต้นกัญชา เมื่อเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของต้นกัญชา มีการดูแลจัดการแปลงเพาะปลูกอย่างเหมาะสม การปลูกกัญชาให้ได้ผลผลิตคุณภาพดีก็เป็นเรื่องง่าย ที่ใครๆ ก็ทำได้ไม่ยาก

………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2564