กยท. จับมือ มก. พัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ จัดแข่ง “หุ่นยนต์กรีดยาง” ต่อยอดนวัตกรรม

เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา มีกิจกรรมที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดโครงการค่ายฝึกอบรมสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ด้านยางพารา ระดับอุดมศึกษา ประจำปี 2564

ดร. ฐิตาภรณ์ ภูมิไชย์ หัวหน้ากองบริหารงานวิจัย สถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า โครงการค่ายฝึกอบรมฯ เป็นโครงการที่ นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง ได้เดินทางไปเปิดโครงการค่ายฝึกอบรมฯ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา โดย กยท. ให้ความสำคัญในการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ ให้ได้แสดงออกถึงความรู้ ความสามารถ ด้านวิชาการและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งการอบรมครั้งนี้จะทำให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ทักษะทางด้านการกรีดยาง รวมถึงสรีรวิทยาของต้นยางพารา

ในการฝึกอบรม นักศึกษาที่เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับความรู้เฉพาะด้านเรื่องการกรีดยาง เพื่อปูทางในการจัดทำโครงร่างงานวิจัย กระตุ้นการพัฒนาสร้างนวัตกรรมยางพารา ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพิ่มศักยภาพการผลิต และสร้างโอกาสต่อยอดเชิงพาณิชย์

โครงการนี้ เป็นโครงการสืบเนื่องจากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยพัฒนาการบริหารวิชาการ และทรัพย์สินทางปัญญา ระหว่าง กยท. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agricultural Robot Contest 2020) หุ่นยนต์กรีดยาง และศาสตร์ด้านเกษตร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้พัฒนาหุ่นยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น อีกทั้งยังนำไปใช้ในการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์

ก่อนหน้าเปิดโครงการค่ายฝึกอบรมฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นแกนหลักในการดำเนินการ โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “งานวิจัยพัฒนา การบริการวิชาการและทรัพย์สินทางปัญญา” พร้อมเปิดตัวโครงการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับเกษตรอัจฉริยะ “All For All” ในหัวข้อ หุ่นยนต์กรีดยาง ไปแล้ว

กยท. ได้ให้พื้นที่ในสถาบันวิจัยยาง ในการจัดอบรมด้านยางพาราและจัดการแข่งขันทดสอบให้กับนิสิต-นักศึกษา ที่เข้าแข่งขันหุ่นยนต์กรีดยางและเก็บน้ำยาง ที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างศาสตร์ด้านวิทยาการหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ และศาสตร์ทางด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับยางพารา เพื่อนำมาพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำยางพารา ทั้งนี้ ได้เปิดให้นิสิต-นักศึกษา ที่สนใจ สมัครเข้ามา จำนวน 5 ทีม แต่ละทีมจะได้รับเงินสนับสนุนทีมละ 100,000 บาท เพื่อเข้าชิงรางวัล รวมมูลค่า 2,000,000 บาท

ในการประกาศรับสมัคร สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้มอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในนามของศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีองค์รวมและปัญญาประดิษฐ์ เป็นผู้จัดการโครงการ การแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ 2020 (Smart Agricultural Robot Contest 2020) ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2563 มีการคัดเลือกนิสิต-นักศึกษา ทีมเข้ารอบ เพื่อเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ 2020 (Smart Agricultural Robot Contest 2020) หุ่นยนต์กรีดยาง ได้แก่

  1. ทีมวัวชน จากมหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดพัทลุง
  2. ทีมปราสาทศีขรภูมิ จากวิทยาลัยการอาชีพศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
  3. ทีม B.A.R.T จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
  4. ทีม Happy land จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ สกลนคร จังหวัดสกลนคร
  5. ทีม RoboAC บักพร้าวน้ำหอม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพมหานคร

หลักเกณฑ์การแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ โดยย่อ คือ

  1. หุ่นยนต์ที่ทีมผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะประดิษฐ์ จะต้องสามารถตอบโจทย์หัวข้อการใช้งานตามข้อกำหนด
  2. หัวข้อการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ หุ่นยนต์กรีดยาง ต้องเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถกรีดยาง และกรีดได้ทั้งแปลง มีความแม่นยำและรวดเร็ว และสามารถเก็บน้ำยางได้
  3. ผู้สมัครต้องสมัครในนามของสถาบันอุดมศึกษา หรือ สถาบันอาชีวศึกษา สมาชิกในทีมต้องเป็นนิสิต นักศึกษา, สิ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์ ที่ส่งเข้าแข่งขัน จะต้องเป็นเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องจักรหรือเครื่องมือ และจะต้องเป็นประโยชน์ในด้านการเกษตรอัจฉริยะ ต้องทำงานได้แบบอัตโนมัติ ต้องมีระบบปัญญาประดิษฐ์ และจะต้องไม่มีการลอกเลียนแบบสิ่งประดิษฐ์ของผู้อื่น, เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ได้คิดค้น สร้างขึ้นใหม่ หรือคิดค้นเพิ่มเติมและเสร็จสิ้นจนนำไปใช้ประโยชน์ได้ และเป็นต้นแบบที่ใช้งานได้จริง มีความปลอดภัย ทนทานในการใช้งาน สามารถประยุกต์และนำเข้าสู่ภาคการผลิตและจำหน่ายได้ โดยไม่ใช่แบบจำลองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนวัตกรรม, สิ่งประดิษฐ์นั้น ยังไม่เคยได้รับรางวัลจากโครงการนี้มาก่อน

ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนน โดยย่อ อาทิ

เป็นผู้คิดค้นขึ้นเอง หรือมีการดัดแปลงปรับปรุงต่อยอดจากเดิม สามารถนำไปใช้ได้จริงในแปลงเกษตรของเกษตรกร หรือโรงงานแปรรูป, ความชาญฉลาดในการประดิษฐ์คิดค้นหรือดัดแปลง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญของการประดิษฐ์ ความคิดในการออกแบบโครงสร้าง และความรู้พื้นฐานทางทฤษฎีที่ถูกต้อง, ความแม่นยำ ความฉลาด ความเร็วของการทำงาน ประสิทธิภาพของหุ่นยนต์, ศักยภาพของการนำเอาสิ่งประดิษฐ์ต้นแบบไปผลิตในเชิงการค้า, ความพร้อม ความสะดวก ความปลอดภัยในการใช้งาน รวมถึงผลกระทบต่อพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ดร. ฐิตาภรณ์ บอกว่า ทีมที่เข้ารอบทุกทีม อยู่ระหว่างการดำเนินการในโครงการ ซึ่งต้องส่งรายงานการทำงานตามโครงการตลอดเวลา ซึ่งขณะนี้โครงการคืบหน้าไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว และคาดว่าปลายเดือนพฤษภาคม 2564 จะเป็นการแข่งขันในโค้งสุดท้าย

ถึงเวลานั้น หุ่นยนต์กรีดยาง ที่มาจากสมองและสองมือของนักวิจัย โดยเยาวชนของชาติ ก็จะถูกประดิษฐ์เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับการกรีดยางให้เกษตรกรใช้ประโยชน์กัน

ติดตามผลการคัดเลือกและแข่งขัน ได้ที่ www.facebook.com/SmartAgriculturalRobotContest2020