ศพก. เมืองตรัง ปลูก “ผักเหมียง” ร่วมยาง เพิ่มรายได้หลักแสน

ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือเรียกย่อๆ ว่า ศพก. โดย กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดตั้ง ศพก. ขึ้นทั่วประเทศ อำเภอละ 1 ศูนย์ รวมเป็น 882 ศูนย์ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของชุมชนสำหรับแก้ไขปัญหาของชุมชน และสามารถตอบสนองความต้องการด้านการเกษตรของชุมชนได้ และเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเกษตรโดยเน้นการเรียนรู้จากเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรในประเด็นการเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาคุณภาพและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต ตลอดจนยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

คุณชัยวัฒน์ เพชรเล็ก ประธาน ศพก. อำเภอเมืองตรัง

คุณวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานของ ศพก. โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูกาลผลิต เกษตรกรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรต้นแบบในลักษณะของเกษตรกรสอนเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรที่มาเรียนรู้เกิดความรู้ความเข้าใจและเกิดจิตสำนึกในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่มีการใช้ปัจจัยการผลิตได้อย่างเหมาะสม และนำองค์ความรู้ที่ได้รับจาก ศพก. ไปปรับใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ผลิตสินค้าที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม และมีระบบการผลิตที่พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งยังเป็นจุดที่ให้บริการข้อมูลข่าวสารและบริการด้านการเกษตรต่างๆ กับเกษตรกร อีกทั้งยังใช้เป็นจุดนัดพบในการพบปะพูดคุยของเจ้าหน้าที่กับเกษตรกร และเกษตรกรกับเกษตรกรด้วยกันเอง

.เกษตรตำบลแนะนำส่งเสริมการดำเนินงานของ ศพก.

คุณจรูญ ภักดีโชติ เกษตรอำเภอเมืองตรัง กล่าวถึงสถานการณ์ด้านการเกษตรของอำเภอเมืองตรัง ว่า เกษตรกรในพื้นที่มากกว่า ร้อยละ 70 ประกอบอาชีพหลัก คือ ทำสวนยางพารา มีพื้นที่ปลูกยางพารากว่าแสนไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่มีรายได้หลักจากการทำสวนยางพารา เมื่อราคายางพาราตกต่ำทำให้กระทบความเป็นอยู่ของเกษตรกรอำเภอเมืองตรังโดยตรง จึงจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพารา โดยการผลิตยางพาราให้มีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต และสร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกรโดยใช้พื้นที่สวนยางพาราให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่า ศพก.อำเภอเมืองตรัง จึงจัดตั้ง ณ แปลงยางพารา หมู่ที่ 6 ตำบลหนองตรุด อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ของเกษตรกรต้นแบบ คุณชัยวัฒน์ เพชรเล็ก ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ใช้พื้นที่สวนยางพาราให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยทำกิจกรรมเสริมรายได้ในสวนยาง เช่น การปลูกผักเหมียง สะละอินโด มังคุด ร่วมยางพารา การเลี้ยงไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ ปลาดุก กบ ผึ้งโพรงไทย การทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำหมัก เป็นต้น

คุณชัยวัฒน์ เกษตรกรต้นแบบ ประธาน ศพก.อำเภอเมืองตรัง จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์  จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2550 ได้เข้ามาช่วยงานด้านการเกษตรของบิดา คุณเชื่อง เพชรเล็ก อย่างเต็มกำลัง ซึ่งขณะนั้นพื้นที่ทำการเกษตรเป็นสวนยางพาราปลูกใหม่ ยังไม่ได้เปิดกรีด บนพื้นที่ 16 ไร่ จึงทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกผักเหมียง สะละอินโด และมังคุด ร่วมกับยางพารา ด้วยความสนใจใฝ่รู้ด้านการเกษตรจึงมุ่งมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ได้เข้ารับการอบรมที่กับหน่วยงานต่างๆ ร่วมกับบิดาอยู่เป็นประจำ และมีจิตอาสาทำงานเพื่อส่วนรวม โดยได้สมัครเป็นอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน หมอดินอาสา ครูบัญชีอาสา และเข้าร่วมอบรม เป็น Young Smart Farmer ปี 2560 ได้รับตำแหน่งกรรมการ Young Smart Farmer จังหวัดตรัง จึงนำความรู้มาปรับใช้ในพื้นที่สวนยางพาราตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งการทำกิจกรรมด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และการปรับปรุงบำรุงดิน จนสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ สำหรับกิจกรรมเด่นในศูนย์ที่จะนำเสนอในครั้งนี้ ได้แก่ การปลูกผักเหมียงร่วมยางพาราเสริมรายได้

การปลูกผักเหมียงร่วมยางพารา

งานปลูกผักเหมียง

ผักเหมียง หรือ ผักเหลียง เป็นผักที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ มีสารเบตาแคโรทีนสูง มีสรรพคุณทางยา ช่วยบำรุงร่างกาย เส้นเอ็น กระดูก และสายตา การปลูกผักเหมียงมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน ช่วยให้หน้าดินมีความชุ่มชื้น เอื้อต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืชหลัก เจริญเติบโตได้ดีในสภาพร่มเงามาก ปลูกได้ในสวนยางพาราอายุ 4 ปีขึ้นไป ควรปลูกในฤดูฝน ห่างแถวยางพาราประมาณ 2.5-3 เมตร ระยะปลูกระหว่างต้น 3 เมตร วางต้นพันธุ์ให้เอียง 45 องศา และกลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม ประมาณ 1-2 ปี หลังปลูก จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ควรตัดแต่งกิ่งก้านและยอดให้สูงประมาณ 1 เมตร เพื่อสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว การขยายพันธุ์ทำได้หลายวิธีทั้งการตอนกิ่ง การชำราก หรือใช้ต้นจากรากแขนง การปักชำกิ่ง และการเพาะเมล็ด

วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิต

การใช้ประโยชน์ของผักเหมียงจะอยู่ที่ส่วนใบเป็นหลัก นำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น แกงเลียง ต้มกะทิ ผัดวุ้นเส้น ฯลฯ ใบเหมียงที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวควรเป็นส่วนยอดอ่อนถึงยอดเพสลาด ควรเด็ดใบเหมียงให้ชิดข้อ ไม่ควรเด็ดหรือตัดข้อกลาง เพราะจะทำให้การแตกยอดอ่อนครั้งต่อไปช้า เมื่อเก็บยอดผักเหมียงแล้วประมาณ 15 วัน ก็จะแตกยอดอ่อน แล้วอีก 15 นับจากวันแตกยอดอ่อน ก็จะเก็บผลผลิตจำหน่ายได้อีก รวมแล้ว 30 วัน ต่อการเก็บผักเหมียง 1 รอบ เมื่อเก็บยอดอ่อนผักเหมียงมาแล้ว ควรเก็บไว้ในที่ร่ม อย่าให้ถูกแสงแดดและลม พรมน้ำแต่พอชุ่ม จะสามารถเก็บให้สดอยู่ได้นาน 5-6 วัน

การดูแลรักษาผักเหมียง ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่/ปี ร่วมกับปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ  ก็สามารถเก็บยอดผักเหมียงขายได้ตลอดทั้งปี

กิ่งตอนผักเหมียงพร้อมจำหน่าย

ผลตอบแทน

ผลตอบแทนจากการปลูกผักเหมียงร่วมยางพารา ของ ศพก. อำเภอเมืองตรัง ซึ่งมีต้นผักเหมียงร่วมยางพารา ประมาณ 3,000 ต้น มีผลผลิตออกมาใน 2 รูปแบบ คือ

1) การเก็บยอดผักเหมียง สัปดาห์ละอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งละ 10-20 กิโลกรัม ขายส่งกิโลกรัมละ 50-60 บาท หรือบางโอกาสก็นำผักเหมียงไปจำหน่ายในตลาดเกษตรกร ตลาดจริงใจ ในท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และงานออกร้านต่างๆ โดยขายปลีกเป็นมัด มัดละ 10 บาท ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ประมาณ 40,000 บาท/ปี

2) การตอนกิ่งผักเหมียง ขายในราคากิ่งละ 20-25 บาท ปีละประมาณ 1,000 กิ่ง (หรือตามคำสั่งซื้อ) ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 บาท/ปี

นำผักเหมียงจำหน่ายที่ตลาดเกษตรกร จ.ตรัง

คุณชัยวัฒน์ เล่าว่า ผักเหมียงเป็นผักที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาด มีความนิยมบริโภคกันแพร่หลายมากขึ้นไม่เฉพาะแต่ในภาคใต้ มีคำสั่งซื้อในปริมาณมาก แต่ตนเองไม่สามารถจัดหาผลผลิตตามความต้องการของตลาด จึงพยายามส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราในชุมชนใช้พื้นที่ว่างในสวนยางพาราให้เกิดประโยชน์มากขึ้น โดยแทนที่จะปล่อยให้พื้นที่ว่างระหว่างแถวยางพารามีหญ้ารกโดยเปล่าประโยชน์ ให้หันกลับมาปลูกผักเหมียงร่วมยางพารา ซึ่งปลูกและดูแลรักษาง่าย ทั้งยังขายได้ราคาดี เป็นช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่ม และตั้งเป้าหมายจะใช้ ศพก. อำเภอเมืองตรัง เป็นจุดรวบรวมผลผลิตผักเหมียงของเกษตรกรในชุมชนเพื่อส่งจำหน่ายต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ศพก. อำเภอเมืองตรัง ได้ขอการรับรองมาตรฐาน GAP ให้กับผักเหมียงในแปลง เพื่อเป็นแบบอย่างในการผลิตสินค้าที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ สร้างความมั่นใจให้กับตลาดและผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

สนใจในเรื่องการปลูกผักเหมียงร่วมยางพารา สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณชัยวัฒน์ เพชรเล็ก เบอร์โทรศัพท์ (061) 867-3975 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรัง เบอร์โทรศัพท์ (075) 218-681

 

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันพฤหัสที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2564