มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ไม้ผลทำเงิน ของสระแก้ว

จังหวัดสระแก้ว ถือเป็นแหล่งผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ซึ่งมีผิวเหลืองทองน่ารับประทาน มีรสชาติหอมหวาน อร่อย ซึ่งเป็นที่นิยมสูงทั้งในประเทศและตลาดส่งออก  

คุณกระจ่าง จำศักดิ์ กับสวนมะม่วงที่อำเภอวัฒนานคร

เส้นทางสู่เกษตรกรมืออาชีพ

คุณกระจ่าง จำศักดิ์ เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองกว่า 400 ไร่ ในพื้นที่อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว โดยคุณกระจ่าง เล่าว่า ผมเกิดในครอบครัวเกษตรกร เรียนจบระดับ ปวช. สาขาเกษตร ที่อยุธยา และเรียนจบระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หลังจากนั้น ก็ทำงานในบริษัทเอกชนเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดความสนใจอาชีพการทำสวนมะม่วง เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ที่ดี ผมจึงตัดสินใจลาออก และก้าวเข้าสู่อาชีพการทำสวนมะม่วงอย่างเต็มตัว เมื่อ 14-15 ปีก่อน

เนื่องจากคุณกระจ่างขาดประสบการณ์เรื่องการทำสวนมะม่วง จึงร่วมหุ้นกับเพื่อนเช่าพื้นที่ 40-50 ไร่ในอำเภอพนัสนิคม เพื่อทำสวนมะม่วง หลังจากนั้น ก็ขยายการลงทุนมาเช่าพื้นที่ 400 ไร่ในอำเภอวัฒนานคร เพื่อทำสวนมะม่วง และประสบผลสำเร็จในอาชีพชาวสวนมะม่วงตามเป้าหมายที่วางไว้

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง สำหรับป้อนตลาดส่งออก

ความจริงเป็นสวนมะม่วงเนื้อที่ 400 ไร่แห่งนี้ เป็นของนักธุรกิจรายหนึ่ง แต่เขาไม่มีเวลาดูแลสวน จึงเปิดให้คุณกระจ่างเช่าพื้นที่ โดยเรียกเก็บค่าเช่าปีละ 500,000 บาท สำหรับสวนแห่งนี้ ปลูกมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 มะม่วงทองดำ มะม่วงฟ้าลั่น มะม่วงเขียวเสวย โดยจะเก็บผลผลิตออกขายแก่สหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วง จังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด เฉลี่ยปีละ 3 ครั้ง คือ ผลผลิตนอกฤดู (พฤศจิกายน-ธันวาคม) ผลผลิตก่อนฤดู (กุมภาพันธ์-มีนาคม) ผลผลิตในช่วงฤดู (เมษายน-พฤษภาคม)

เคล็ดลับดูแลสวนระบบจีเอพี (GAP)

คุณกระจ่าง เล่าว่า แม้พื้นที่แห่งนี้จะเป็นสวนมะม่วงเก่า แต่ผมก็ใช้ระบบเทคโนโลยีการจัดการสวนแบบใหม่ ตามมาตรฐานจีเอพี เพื่อให้สินค้ามีมาตรฐานและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค สำหรับเทคนิคการจัดสวนระบบจีเอพี ไม่มีขั้นตอนยุ่งยากอะไร แค่ปฏิบัติตามขั้นตอนการผลิตที่ปลอดภัยเป็นหลัก

เช่น เก็บรักษาสารเคมีและอุปกรณ์ทางการเกษตรให้เป็นสัดส่วน โดยแยกจากที่อยู่อาศัย มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้องเหมาะสม และปฏิบัติตามระบบการจัดการคุณภาพ จีเอพี สภาพภายในสวนเน้นรักษาความสะอาด มีการสำรวจแมลงศัตรูพืช ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคไปทำลาย กำจัดวัชพืชโดยใช้เครื่องตัดหญ้า

และมีการจดบันทึกการใช้สารเคมีไว้ทุกครั้ง เพื่อให้สามารถตรวจย้อนกลับได้ รวมทั้งสุ่มตรวจผลผลิต เพื่อตรวจสอบหาสารเคมีตกค้างก่อนเก็บเกี่ยวในแต่ละรุ่นประมาณ 2 สัปดาห์ ผลผลิตจากสวนที่ผ่านระบบจีเอพี จะมุ่งป้อนตลาดส่งออกเป็นหลัก ยอดขายตลาดส่งออกก็เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี

จุดคัดแยกเกรดสินค้า ก่อนส่งขายตลาด

ต่อมาคุณกระจ่างแยกตัวจากเพื่อน มาซื้อที่ดิน 66 ไร่ในบริเวณใกล้เคียงกับสวนแห่งนี้ เพื่อลงทุนทำสวนมะม่วงเป็นของตัวเอง โดยเน้นปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองซึ่งเป็นสินค้ายอดนิยมที่ตลาดในประเทศและส่งออกต้องการผลผลิตเป็นจำนวนมากนั่นเอง 

เทคนิคการจัดการสวนมะม่วงแบบใหม่ 

เพื่อให้สวนแห่งใหม่นี้ดูแลจัดการง่ายและสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว จึงปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ในระยะต้นชิด คือ 6×4 เมตร ดูแลไม่ให้ลำต้นสูงเกินไป การจัดการสวนแบบใหม่ โดยเว้นที่ว่างในระยะ 6 เมตร สามารถใช้รถแทรกเตอร์และรถพ่นยาวิ่งทำงานในสวนได้อย่างสบาย โดยไม่กระทบต่อการเติบโตของต้นมะม่วง

สวนมะม่วงแห่งใหม่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่า เพราะสามารถควบคุมความสูงของต้นมะม่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสวนเก่า มะม่วงมีลำต้นสูง คนงานต้องใช้ตะกร้อสอยผล แต่ละวันจะเก็บผลมะม่วงได้โดยเฉลี่ย 10 ลังต่อคน และต้องปีนบันไดขึ้นไปห่อผลมะม่วง แรงงาน 1 คนจะทำงานห่อผลได้เฉลี่ยวันละ 300 ลูก

ขณะที่สวนมะม่วงที่ปลูกใหม่ วางแผนการปลูกอย่างเหมาะสม สามารถคุมความสูงของต้นมะม่วงได้ คนงานยืนเก็บผลรอบต้นได้สะดวกสบายมากกว่า แรงงาน 1 คนสามารถเก็บผลมะม่วงได้มากขึ้นถึงวันละ 15-20 ลัง และทำงานห่อผลมะม่วงได้มากขึ้นเป็นวันละ 500-600 ลูก

จุดเปลี่ยนของแหล่งผลิตมะม่วง

ในอดีต จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตมะม่วงมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ แต่ระยะหลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน แถมเจอภาคอุตสาหกรรมรุกขยายเข้ามาในพื้นที่สวนมะม่วงของอำเภอบางคล้า พนมสารคาม และแปลงยาว ขณะเดียวกัน เกษตรกรบางส่วนเลิกทำสวนมะม่วง ไปลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งและปลูกสวนยางแทน ทำให้ตัวเลขพื้นที่ปลูกมะม่วงของจังหวัดฉะเชิงเทราปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

คนงานกำลังขะมักเขม้นสอยมะม่วงจากต้น
สวนมะม่วงที่กว้างขวาง เนื้อที่ 400 ไร่
มะม่วงเขียวเสวย เป็นที่นิยมในตลาดเวียดนาม

ปัจจุบัน สระแก้วกลายเป็นทำเลทองของการลงทุนทำสวนมะม่วงเพื่อการส่งออก เนื่องจากสระแก้วยังมีพื้นที่ว่างเพียงพอสำหรับภาคเกษตร ที่นี่ยังไม่ค่อยมีการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมมากนัก จึงหาแรงงานได้ง่าย ที่สำคัญพื้นที่แห่งนี้ ไม่ค่อยมีปัญหาโรคและแมลง  

สระแก้ว ทำเลทองของการปลูกมะม่วง

ที่ผ่านมา แหล่งปลูกมะม่วงสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา คือ อำเภอพนัสนิคม บางคล้า และพนมสารคาม มักประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคและแมลงเยอะมาก ทำให้เกษตรกรชาวสวนมะม่วงต้องแบกภาระต้นทุนที่ค่อนข้างสูง

หลังจากย้ายมาทำสวนมะม่วงที่สระแก้วปรากฏว่า เจอปัญหาเรื่องโรคและแมลงรบกวนน้อยมาก ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง  สำหรับการผลิตมะม่วงนอกฤดู เมื่อต้นมะม่วงออกช่อ เจ้าของสวนมะม่วงในจังหวัดฉะเชิงเทราจะต้องฉีดยาฆ่าแมลงถึง 10 ครั้ง ผลมะม่วงถึงจะรอดและมีผิวสวย ขณะที่สวนมะม่วงในสระแก้ว ฉีดยาแค่ 4-5 ครั้ง ก็ป้องกันแมลงได้แล้ว จึงช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรได้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี

เผยแพร่ครั้งแรก วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ.2564