อาจารย์จักรกฤษณ์ ทัพบำรุง ปลูกเลี้ยงไม้ด่างเชิงอนุรักษ์ แนะผู้เริ่มต้นใหม่ เรียนรู้ ใส่ใจ

ในระยะนี้ถ้าพูดถึงเรื่องของวงการไม้ดอกไม้ประดับ กระแสของไม้ใบด่างค่อนข้างที่จะได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่มีการซื้อขายกันในราคาที่ค่อนข้างสูง และสามารถสร้างเป็นอาชีพให้กับเกษตรกรผู้ปลูกได้อย่างมากทีเดียว กระนั้นก่อนที่ไม้ใบด่างจะมาเป็นกระแสอย่างเช่นทุกวันนี้ ก็มีผู้ที่ชื่นชอบและพัฒนามาอยู่เรื่อยๆ จนเป็นไม้ที่เก็บสะสมมาเป็นเวลานานไว้สำหรับแลกเปลี่ยนกับผู้ที่ชื่นชอบเหมือนกัน จึงเกิดการสร้างกลุ่มเพื่อนของผู้เลี้ยงไม้ใบเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

อาจารย์จักรกฤษณ์ ทัพบำรุง

อาจารย์จักรกฤษณ์ ทัพบำรุง อยู่บ้านเลขที่ 7 หมู่ที่ 7 ตำบลย่านยาว อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เป็นอีกหนึ่งท่านที่ชื่นชอบการปลูกไม้ด่างมาหลายสิบปี โดยส่วนมากจะทำเพื่อการเชิงอนุรักษ์และแลกเปลี่ยนให้กับเพื่อนเกษตรกรที่สนใจหรือเป็นนักเล่นมือใหม่ที่ต้องการคำแนะนำ ก็จะหมั่นเข้ามาศึกษาหาองค์ความรู้เพื่อแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ท่านอยู่เสมอ

อาจารย์จักรกฤษณ์ เล่าว่า เริ่มสนใจไม้ใบด่างตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นวัยรุ่น โดยช่วงนั้นยังมีการซื้อขายที่ราคาไม่แรงหรือเป็นกระแสน่าสนใจเหมือนเช่นสมัยนี้ โดยในยุคนั้นจะรู้จักกันเพียงแต่กล้วยด่าง ใบก้ามกุ้งด่าง โดยการปลูกและการเลี้ยงจะเน้นเพื่อแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ หรือผู้ที่สนใจ ไม่ได้สนใจหรือใส่ใจในเรื่องของการค้าขายมากนัก แต่พอเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็เริ่มมีลูกค้าเข้ามาติดต่อขอซื้ออยู่บ้าง

“สมัยก่อนนั้นไม่ได้มีการซื้อขาย เราจะนำต้นไม้ของเราที่มี มาแลกเปลี่ยนกันเสียมากกว่า โดยหลักการแลกเปลี่ยน ก็จะดูจากการประเมินว่า ต้นนี้ราคาน่าจะอยู่ที่ราคาเท่าไร จากนั้นก็ตกลงกันทั้งสองฝ่าย ถ้าตกลงกันได้ก็จะแลกเปลี่ยนกัน แล้วนำต้นที่ได้ไปปลูกเลี้ยงหรือพัฒนาเป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ก็แล้วแต่ความต้องการ จึงทำให้สมัยนั้นก็จะปลูกกันแบบเป็นความรักความชอบเพียงอย่างเดียว” อาจารย์จักรกฤษณ์ กล่าว

อาจารย์จักรกฤษณ์ ให้ความรู้ว่า อาการด่างของไม้ใบด่างนั้นเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเกิดจากการเพาะเมล็ดแล้วเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นมา หรือจะเกิดจากการที่ไม้โดนสารเคมีบางชนิดจึงทำให้เกิดการด่าง แต่การด่างนั้นไม่ถาวรสามารถกลับมาเขียวได้เหมือนเดิม หรือที่ผ่านกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็สามารถที่เป็นไม้ด่างได้เช่นกัน เพราะไม้ผ่านการเจอสารเคมีต่างๆ จากห้องปฏิบัติการ

สำหรับการเลี้ยงไม้ด่างหรือการคัดเลือกสายพันธุ์ไม้ด่าง อาจารย์จักรกฤษณ์ บอกว่า จะเลี้ยงให้ไม้เติบโตจนสมบูรณ์ ในระหว่างการเลี้ยงถ้าเป็นมีไม้ที่ไม่ด่างเกิดขึ้นภายในต้นจะทำการตัดทิ้งสีเขียวกิ่งนั้นออกทันที โดยการขยายพันธุ์ส่วนใหญ่จะเน้นการปักชำ การตอน และการเสียบยอด เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนไม้ด่าง ซึ่งเมื่อได้กิ่งของไม้ด่างที่ต้องการปักชำแล้วจะนำมาปักชำลงในวัสดุที่มีส่วนผสมของดินมะพร้าวสับและอินทรียวัตถุอื่นๆ จากนั้นดูแลช่วงปักชำเป็นเวลาประมาณ 21-30 วัน รากของไม้ก็จะเดินได้เต็มที่พร้อมที่จะเคลื่อนย้ายได้

“ส่วนมากไม้ใบด่างเราจะไม่ได้ดูแลอะไรมาก หลังจากที่ปักชำเรียบร้อยแล้ว เราก็จะเน้นไปแลกเปลี่ยนและจำหน่ายได้ทันที ส่วนเรื่องของโรคและแมลงก็จะดูแลตามเป็นอาการ ส่วนมากผมก็จะใช้พวกสารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัด ก็สามารถช่วยได้ดีในระดับหนึ่ง จึงทำให้เราปลอดภัยจากสารเคมีไปด้วยในตัว” อาจารย์จักรกฤษณ์ กล่าว

สำหรับในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายใบด่างนั้น อาจารย์จักรกฤษณ์ บอกว่า ส่วนมากไม่ได้อยากที่จะเน้นเพื่อจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้แต่อยากใด แต่อยากทำเพื่อให้คนรุ่นใหม่หรือผู้ที่สนใจมือใหม่ได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน โดยเฉพาะนักเรียนหรือนักศึกษาที่ต้องการอยากจะได้ไม้ด่างแต่ไม่มีเงินซื้อ แต่ผมก็จะให้เขาเข้ามาเรียนรู้และลองลงมือทำก็จะช่วยให้เขามีไม้ที่สวยและสามารถสร้างมูลค่าให้กับตัวเองได้ในอนาคต

แต่ถ้าเป็นลูกค้าที่ต้องการเข้ามาติดต่อขอซื้อจริงๆ ก็จะมีการค้าขายบ้าง โดยอิงราคาได้จากโลกออนไลน์ที่กำลังมีการซื้อขายกัน ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ราคาหลักร้อยบาทไปจนถึงหลักหมื่นบาท ซึ่งราคาถูกและแพงอยู่ที่ชนิดและสายพันธุ์ของไม้เป็นหลัก

“พอผมเกษียณจากงานสอนมาแล้ว ได้ทำไม้ด่าง ก็รู้สึกว่ามีความสุขที่ได้มาทำในเรื่องนี้ เพราะทำให้เราได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ได้เจอคนที่อยากจะปลูก ได้สร้างแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน อย่างช่วงนี้โควิด-19 ไปมาหาสู่กันยาก เราก็จะเน้นโทร.หากัน ก็ช่วยให้หลายๆ คนได้รับความรู้และนำไปสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ เพราะฉะนั้น คนที่เป็นมือใหม่ก็อยากจะบอกว่าต้องหาความรู้ให้ครบ เรียนรู้ลงมือทำ จากนั้นก็แบ่งปันความสุขกับคนที่สนใจ เท่านี้คุณก็จะมีความสุขและเป็นรายได้ที่ยั่งยืนแน่นอน” อาจารย์จักรกฤษณ์ กล่าว

สำหรับท่านใดสนใจในเรื่องของการปลูกไม้ด่าง ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ อาจารย์จักรกฤษณ์ ทัพบำรุง หมายเลขโทรศัพท์ 081-907-2247