75 ปี อภัยภูเบศร ก้าวกระโดดของการพัฒนาการแพทย์แผนไทย

สมุนไพรที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน

พ.ศ. 2484 ในอดีต มีการก่อตั้งโรงพยาบาลปราจีนบุรี เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดในเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในปี พ.ศ. 2509 เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ข้าราชการสยามคนสุดท้าย ที่ปกครองเมืองพระตะบอง และเป็นเจ้าของอาคารทรงบาโรกที่ก่อสร้างขึ้น เพื่อตั้งใจให้เป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 5 หากเสด็จประพาสเมืองปราจีน ซึ่งอาคารเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นสถานที่สำคัญของจังหวัดและยังเป็นอาคารสำหรับแผนกผู้ป่วยในแห่งแรกของโรงพยาบาล นับถึงปัจจุบัน รวมการก่อตั้งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ 75 ปี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ยิ่งเมื่อประเทศไทย ได้นำการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรมาใช้ในระบบบริการสุขภาพ มาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 โดยเริ่มจากงานสาธารณสุขมูลฐานก่อน จนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 มีโครงการนำร่องในการพัฒนาระบบบริการการผสมผสานบริการการแพทย์แผนไทยในระบบบริการสุขภาพ จากนั้นมีการเปิดคลินิกการบริการการแพทย์แผนไทยในระบบบริการสาธารณสุขของรัฐหลายแห่ง

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกอภัยภูเบศร (คนกลาง ตัดริบบิ้น) และ นายแพทย์จรัญ บุญฤทธิการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้การต้อนรับ (ผู้ชายซ้ายสุด แถวหน้า)
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกอภัยภูเบศร (คนกลาง ตัดริบบิ้น) และ นายแพทย์จรัญ บุญฤทธิการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้การต้อนรับ (ผู้ชายซ้ายสุด แถวหน้า)

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็เป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการตามแนวทางการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมและบูรณาการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ถึงระดับเป็นที่รู้จักกว้างขวางในฐานะของแบรนด์ผลิตภัณฑ์สมุนไพรระดับต้นของประเทศไทย อันเนื่องมาจากการที่โรงพยาบาลเป็นผู้บุกเบิกงานด้านการพัฒนาสมุนไพร

ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงเป็น 1 ใน 14 แห่ง ที่ได้รับมอบหมายให้พัฒนาโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยตัวอย่าง และได้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2256

 

เปิดโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกอภัยภูเบศร

ในวันที่ครบรอบสถาปนาโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร 75 ปี เป็นโอกาสอันดี ในการเปิด “โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกอภัยภูเบศร” ในวันเดียวกัน โดย นายแพทย์จรัญ บุญฤทธิการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงการเปิดให้บริการโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกอภัยภูเบศร ที่เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบว่า ที่ผ่านมา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรมากว่า 30 ปี มีการพัฒนายาสมุนไพร การบริการและส่งเสริมสุขภาพในชุมชน การบริการผู้ป่วยนอก การเผยแพร่ความรู้ กระทั่งปี พ.ศ. 2556 ได้มีการเตรียมการในด้านบุคลากร อาคารสถานที่ โรค และอาการที่จะบูรณาการ มาตรฐานการตรวจวินิจฉัย การให้การรักษา การประเมินผล การบริหารความเสี่ยง การส่งต่อระหว่างการแพทย์ทั้ง 2 ระบบ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา

“โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกอภัยภูเบศร มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้มีการใช้ทฤษฎีทางการแพทย์แผนไทยในการตรวจ วินิจฉัย รักษา ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพอย่างมีมาตรฐาน มีคุณภาพ มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนาการเก็บรวบรวมองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและการใช้ยาสมุนไพรอย่างเป็นระบบ มีการวิจัยที่มีความน่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่อง และมีฐานข้อมูลสามารถสืบค้นและนำไปพัฒนาต่อยอดเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งในการทำงานร่วมกันระหว่างสหสาขาวิชาชีพด้านสาธารณสุข เกิดการเชื่อมโยงการรักษา การส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพและเป็นแหล่งฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรด้านแพทย์แผนไทยให้มีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้ป่วย และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน อนุรักษ์ซึ่งภูมิปัญญาและทำให้ประเทศและประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพได้อย่างยั่งยืน”

ปัจจุบัน มีผู้ป่วยมารับบริการเฉลี่ยวันละ 50-100 คน มีหอผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล จำนวน 18 เตียง การให้บริการ จะเน้นโรคที่เป็นจุดแข็งของการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และมีแนวทางการรักษา (CPG) ชัดเจน ได้แก่ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคสะเก็ดเงิน การดูแลมารดาหลังคลอด โรคกระดูกและข้อ โรคตับแข็ง และโรคพาร์กินสัน โดยแพทย์แผนไทยจะตรวจวินิจฉัยระบบธาตุทั้ง 4 และตรีโทษ เส้นสิบ ดูสีผิว ลิ้น และการบำบัดรักษาด้วยการนวด การอบ การประคบ และการกดจุดปรับสมดุลแต่ละที่ รวมถึงการเผายา ย่างยา การใช้ยาสมุนไพรที่ปรุงยาตามทฤษฎีแพทย์แผนไทยและตามคัมภีร์เฉพาะผู้ป่วยแต่ละรายด้วย

สำหรับกระบวนการรักษาของการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีขั้นตอนการตรวจโดยแพทย์แผนไทย หัวใจหลักคือ การดูอย่างเป็นองค์รวม และนำทฤษฎีธาตุเข้ามาใช้ โดยจะเริ่มจากการซักประวัติอาการคนไข้โดยละเอียด เพื่อหาสาเหตุของการทำให้เกิดโรค ประวัติการรักษาที่ผ่านมา ประวัติการแพ้ โรคประจำตัว ตรวจวัดสัญญาณชีพ จากนั้น เข้าสู่กระบวนการตรวจทางศาสตร์แผนไทย โดยดูธาตุเจ้าเรือนว่าผู้ป่วยมีธาตุเจ้าเรือนทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อะไรที่กำเริบ หย่อนหรือพิการ ดูความสมดุลของตรีธาตุ (ปิตตะ วาตะ เสมหะ) โดยเน้นเรื่องความสมดุลเป็นหลัก ตรวจร่างกาย โดยดูรอยโรค อาการ ลักษณะทั่วไป ดูลิ้น เยื่อบุตา สีตา ตรวจเส้นประธาน 10 และเส้นตามร่างกาย ตรวจชีพจรแบบแผนไทย (ดูลักษณะการเต้นของชีพจรซึ่งสามารถบ่งบอกอาการเจ็บป่วยได้) และตรวจกำเดา คือความร้อนในร่างกาย จากนั้น นำมาประกอบกับการรักษา เพื่อปรับเข้าสู่สมดุลก็จะไม่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย

“โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ให้บริการรักษาทางด้านแผนไทยมายาวนานกว่า 10 ปี ซึ่งโรคที่มีผู้มารับบริการมากสุดคือ กลุ่มอาการกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อ เช่น ออฟฟิศซินโดรม หัวไหล่ติด เข่าเสื่อม ปวดกล้ามเนื้อ และโรคที่แผนปัจจุบันยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เช่น สะเก็ดเงิน โดยพบว่า ผู้ป่วยที่มารับการรักษาได้รับประทานยาต้มสมุนไพรเฉพาะราย พบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มดีขึ้นกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และบางรายสามารถหยุดยาได้โดยไม่มีอาการกำเริบซ้ำ”

ส่วนหัตถการที่ให้บริการ ได้แก่ การเผายา การกักน้ำมัน การประคบแช่แผลโรคสะเก็ดเงิน และการพอกยา

การพอกยาเย็น
การพอกยาเย็น

การจัดตั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกอภัยภูเบศรนี้ นับว่าเป็นอีกทางที่จะช่วยในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านสุขภาพ โดยนำมาใช้ประโยชน์อย่างมีมาตรฐาน มีแบบแผน ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ไม่จำเป็นและเปิดโอกาสการรักษาให้กับผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในบางโรค บางอาการที่แผนปัจจุบันอาจจะยังหาคำตอบไม่ได้ แต่แพทย์แผนไทย ยาสมุนไพร สามารถตอบโจทย์ได้ เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคสตรี (หนาวใน/วัยทอง/การอยู่ไฟหลังคลอด) ฟื้นฟูอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น การแพทย์แผนไทยยังช่วยในเรื่องบำรุงร่างกายให้แข็งแรงซึ่งไม่มีในศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบัน และเชื่อว่าการจัดตั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยหันกลับมาสู่รากเหง้าที่มีคุณค่า ที่ปู่ย่าตายายทิ้งมรดกไว้ให้เราได้ใช้ประโยชน์ โดยผ่านระบบการบริการที่มีมาตรฐาน ในโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกอภัยภูเบศร

 

ก้าวสู่ยุคผลิตภัณฑ์สมุนไพร กับ ภญ. สุภาภรณ์ ปิติพร

การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนั้น ต้องให้เกียรติ ภญ. สุภาภรณ์ ปิติพร ที่เริ่มต้นวิชาชีพเภสัชกรของโรงพยาบาล หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล นอกเหนือไปจากงานประจำแล้ว ภญ. สุภาภรณ์ ยังเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครฝึกอบรมและให้ความรู้ด้านสมุนไพรแก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) ส่งเสริมการใช้พืชสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐานภายใต้นโยบายแห่งชาติด้านสาธารณสุข

ภญ. สุภาภรณ์ ได้เก็บรวบรวมความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรท้องถิ่นและการใช้ยาสมุนไพรจากหมอยาพื้นบ้าน เป็นจุดเริ่มต้นให้ ภญ. สุภาภรณ์ ใช้เวลาในช่วงวันหยุดออกไปพูดคุยและเดินป่าสำรวจสมุนไพรร่วมกับหมอยาพื้นบ้านเหล่านั้น เพื่อจดบันทึกข้อมูลและรวบรวมความรู้จากภูมิปัญญา

การสะสมความรู้เหล่านี้ มาถึงจุดเปลี่ยนในปี พ.ศ. 2529 เมื่อ พญ. อุไรวรรณ โชติเกียรติ เพื่อนร่วมงาน ได้ขอให้พัฒนายาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคเริมในปากสำหรับเด็ก ที่สามารถทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน ภญ. สุภาภรณ์ จึงได้คิดค้นพัฒนาผลิตยากลีเซอรีนพญายอ จากความรู้ภูมิปัญญาไทย พญายอ (เสลดพังพอนตัวเมีย) เป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาเริมและงูสวัดมานาน และยังรับประทานเป็นผักได้อีกด้วย งานวิจัยยังแสดงด้วยว่า พญายอ มีคุณสมบัติด้านการอักเสบและไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นพิษ ซึ่งกลีเซอรีนพญายอของ ภญ. สุภาภรณ์ ถือเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมครั้งแรกที่มีการนำพืชสมุนไพรมาเป็นส่วนประกอบในตำรับยา และนำกระบวนการผลิตและสารที่ใช้ในการแพทย์แผนปัจจุบันมาผลิตเป็นยาแผนโบราณ

นับเป็นความโชคดี ที่ นายแพทย์เปรม ชินวัทนานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขณะนั้น ริเริ่มก่อตั้งโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างครบวงจร มีวัตถุประสงค์เพื่อสาธิตและให้การฝึกอบรมแก่ชุมชนในการบูรณาการกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว การควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ การผลิตเป็นผลิตภัณณ์สำเร็จรูป ไปจนถึงการจำหน่าย โดยมีการสาธิตเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพร ภายใต้ชื่อ อภัยภูเบศร แก่สาธารณชน

ในที่สุด ความพยายามส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากพืชเกษตรอินทรีย์ในหมู่ชุมชนท้องถิ่นก็เป็นรูปธรรมขึ้น เมื่อมีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรที่ยอมรับในแนวทางเกษตรอินทรีย์ โดยกลุ่มเกษตรกรบ้านดงบัง ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เข้าร่วมเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบสมุนไพร ต่อมาได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ IFOAM และยังคงเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบหลักให้แก่โรงพยาบาล แม้ว่าจะมีกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรรายใหม่เพิ่มขึ้นมาในระยะหลัง

 

สร้างศูนย์กลางสมุนไพรฯ เพื่อความยั่งยืนทางยา

แต่ความจำเป็นที่จะให้สมุนไพรคงอยู่ เพื่อเป็นวัตถุดิบให้กับกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นปัจจัยที่ ภญ. สุภาภรณ์ ผู้ริเริ่มคำนึงถึง โดย ภญ. สุภาภรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพรอย่างถูกทางว่า พืชสมุนไพรมีหลายชนิด และในจำนวนหลายชนิดก็เข้ากับกระบวนการยาตำรับ จำนวน 80-90 เปอร์เซ็นต์ เก็บเกี่ยวจากป่า หากไม่มีระบบการจัดการที่ดี สมุนไพรก็เสี่ยงสูญพันธุ์ การแก้ปัญหาตรงนี้ได้วางแนวคิดไว้แล้ว โดยขอสนับสนุนพื้นที่จากหน่วยงานทหารในการสร้างสวนป่าสมุนไพรลดโลกร้อนโดยความยั่งยืนทางยา ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่ปลูกสมุนไพรหายากและเก็บรวบรวมสมุนไพรไว้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ชนิด อาทิ แก่นมหาด กำแพงเจ็ดชั้น ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู เป็นต้น แบ่งพื้นที่เป็นส่วนปลูกไว้สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบและศึกษาวิธีการเก็บเกี่ยวอย่างยั่งยืน อีกส่วนเป็นพื้นที่ปลูกสำหรับการวิจัย ดูการขยายตัวทางเศรษฐกิจของพืชสมุนไพร และมีแปลงสาธิตให้เกษตรกรเข้ามาศึกษาการปลูก การเก็บเกี่ยวให้ได้คุณภาพที่ดี ถ่ายทอดในมุมของเทคโนโลยี ทั้งยังเป็นเสมือนคลังสินค้าให้กับเกษตรกรในเครือข่าย เมื่อมีความรู้ในการปลูก ดูแล เก็บเกี่ยวที่ได้คุณภาพ นำไปปลูก มีการควบคุม จากนั้นอภัยภูเบศรก็เป็นศูนย์กลางการจำหน่ายวัตถุดิบให้กับเกษตรกร

ยาสมุนไพร
ยาสมุนไพร

“ตอนนี้มีการปลูกแต่เป็นลักษณะของการกระจัดกระจาย ดังนั้น สวนป่าสมุนไพรฯ นี้จะเป็นเสมือนศูนย์วิจัยสมุนไพร เป็นสถานที่แรกที่มีการวิจัยและการส่งเสริมในแห่งเดียวกัน และศูนย์กลางแห่งนี้จะช่วยรักษาระบบให้ยั่งยืน”

เมื่อวางเป้าหมายให้กับความยั่งยืนของระบบสมุนไพร การส่งต่อสู่อนาคต ก็ไม่ละทิ้ง

ที่ทราบมาคือ ในทุกปี อภัยภูเบศร โดย ภญ. สุภาภรณ์ เป็นโต้โผในการจัดกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับเยาวชน เช่น การเดินป่า และค่ายหมอยาน้อย เพื่อสนับสนุนความรู้ในการใช้ยาสมุนไพรในทางปฏิบัติ และความรักธรรมชาติให้เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมถึงค่ายรักษ์เขาใหญ่ ซึ่งเป็นค่ายฤดูร้อน เริ่มต้นจากเด็กที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปลูกฝังให้เด็กมีความรักหวงแหนในธรรมชาติ ต่อมาได้ขยายวงเป็นการจัดให้เด็กนับร้อยคนจากทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรม โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม มีจิตอาสา รู้บทบาทของตนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

กลุ่มรักษ์เขาใหญ่-ค่ายหมอยาน้อย

อนาคตของสมุนไพรไทย

นับเป็นโอกาสดีที่ได้พูดคุยกับ คุณเกรียง ฤทธิ์เจริญ ผู้จัดการส่วนพัฒนาโรงงานมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในฐานะที่เป็นเยาวชนรุ่นแรกๆ ที่ได้ร่วมกิจกรรมในการออกค่ายหมอยาน้อย ซึ่งมี ภญ. สุภาภรณ์ เป็นหัวหน้าทีม ซึ่งปัจจุบันคุณเกรียง ยังควบตำแหน่งประธานกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ เพื่อนำทีมในการจัดกิจกรรมค่ายหมอยาน้อย และการขับเคลื่อนกิจกรรมของกลุ่มรักษ์เขาใหญ่

คุณเกรียง ในวัย 41 ปี ย้อนเล่าถึงอดีตที่เขาเดินตาม ภญ. สุภาภรณ์ เมื่อครั้งเป็นเยาวชน อายุราว 18-19 ปีก่อน ให้ฟังว่า กิจกรรมเริ่มราวปี พ.ศ. 2535 ในแต่ละปีจัดกิจกรรมค่ายประมาณ 3 ครั้ง ระยะแรกเป็นเด็กที่อาศัยอยู่พื้นที่โดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และจังหวัดโดยรอบ เช่น นครนายก ปราจีนบุรี นครราชสีมา เพื่อชี้ให้เด็กเชื่อมต่อกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและภูมิปัญญา ต่อมามีเด็กที่ทราบรายละเอียดของกิจกรรมค่าย ติดต่อเข้ามา จึงขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น

“สมัยผมเด็กๆ ผมเดินตามหลังพี่ต้อม (ภญ. สุภาภรณ์) เดินป่า ชวนกันศึกษาธรรมชาติ นอนในป่า คุยภาพธรรมชาติ เขาใหญ่ สมุนไพร พูดตรงๆ ว่าตอนนั้นคิดว่าพี่ต้อมเพ้อ จะทำให้ต้นไม้ใบหญ้ามาขายเป็นเศรษฐกิจระดับร้อยล้านได้อย่างไร แต่มาถึงวันนี้ สิ่งที่พี่ต้อมคิดมันยิ่งใหญ่ เป็นจริง สร้างคนได้ สร้างเศรษฐกิจได้”

คุณเกรียง บอกด้วยว่า ในปัจจุบันแม้ว่าจะเป็นผู้จัดการส่วนพัฒนาโรงงานมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ดูแลเรื่องการผลิต แต่การทำกิจกรรมในฐานะประธานกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ ก็สามารถนำมาเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งเมื่อเด็กได้ออกค่ายเรียนรู้ธรรมชาติ ปล่อยให้เด็กลงแปลงแบบง่ายๆ ก็สรุปรวบมาถึงเรื่องขอการนำภูมิปัญญามาผนวกกับวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดสายการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรออกจำหน่ายได้

แม้ว่า ข้อมูลเรื่องต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งหมดกว่า 200 ชนิด ของอภัยภูเบศร ที่ทราบจากคุณเกรียง ทำให้เห็นภาพได้ว่า ผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพรในกลุ่มเครื่องสำอางมากกว่ากลุ่มยา อีกทั้งผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรในกลุ่มเครื่องสำอางก็จำหน่ายได้ปริมาณมากกว่ากลุ่มยาก็ตาม แต่ตัวเลขการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากกลุ่มเครื่องสำอางและกลุ่มยาไม่แตกต่างกัน คุณเกรียง อธิบายว่า การผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรในกลุ่มยามีต้นทุนที่สูงมาก และผู้บริโภคมีความต้องการไม่มากเท่าที่ควร แต่อภัยภูเบศร จำเป็นต้องผลิตและจำหน่ายในราคาถูก วัตถุประสงค์เดียวคือ ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยาสมุนไพร ยังคงอยู่ในสังคม ให้คนจดจำและรู้จัก

 

ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรอภัยภูเบศร
ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรอภัยภูเบศร

ผลิตภัณฑ์สมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

จากการผลิตกลีเซอรีนพญายอ เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีความเจริญเติบโตไปสู่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจำนวนมาก ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 200 รายการ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล เครื่องดื่ม ไปจนถึงผลิตภัณฑ์เบ็ดเตล็ดอื่น ในจำนวนผลิตภัณฑ์กว่า 200 รายการ ผลิตภัณฑ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุด ดังนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยา ได้แก่ 1. มะขามป้อมแก้ไอ 2. ขมิ้นชัน 3. ฟ้าทลายโจร 4. เพชรสังฆาต และ 5. หญ้าปักกิ่ง ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ได้แก่ 1. เซรั่มบัวไผ่ข้าว 2. แอนตี้ ดาร์ก สปอร์ต (เซรั่ม) 3. ยาสีฟันกระชาย 4. เอ็มบริก้า สกัดจากมะขามป้อม และ 5. โทนเนอร์

มะขามป้อม หรือ มะขามป้อมอินเดีย ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus emblica เป็นต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ Phyllanthaceae เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง และมีคุณค่าทางสมุนไพรด้วย มะขามป้อมเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสระแก้ว มีชื่อพื้นเมืองอื่นอีกคือ กันโตด (เขมร-กาญจนบุรี) กำทวด (ราชบุรี) มะขามป้อม (ทั่วไป) มั่งลู่, สันยาส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

มะขามป้อมจัดเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงที่สุด ในบรรดาผลไม้ทั้งหมด เพราะมะขามป้อมลูกเล็กๆ เพียงลูกเดียว ให้วิตามินซีสูงกว่าวิตามินซีสังเคราะห์ถึง 12 เท่า และมากกว่าน้ำส้มคั้นถึง 20 เท่า

การใช้ประโยชน์

ใช้รับประทานเพื่อบรรเทาหวัด แก้ไอ และละลายเสมหะได้ มีแทนนินซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านออกซิเดชัน ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ยับยั้งการสร้างเมลานิน และสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ได้

ขมิ้นชัน ชื่อวิทยาศาสตร์ :Curcuma loga Linn., Curcuma domestica Valeton ชื่อท้องถิ่น ขมิ้นแกง ขมิ้นหยวก ขมิ้นหัว ยากยอ สะยอ หมิ้น ส่วนที่ใช้ประโยชน์คือ เหง้าสดและแห้ง

การใช้ประโยชน์

มีวิตามิน เอ ซี อี เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำงานพร้อมกันทั้ง 3 ตัว มีผลทำให้ช่วยลดไขมันในตับ สมานแผลภายในกระเพาะอาหาร ช่วยย่อยอาหาร ทำความสะอาดให้ลำไส้ เปลี่ยนไขมันให้เป็นกล้ามเนื้อ ต้านอนุมูลอิสระป้องกันการเกิดมะเร็งในตับ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับผิวหนัง กำจัดเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารที่รับประทานเข้าไปแล้วสะสมในร่างกายเตรียมก่อตัวเป็นเซลล์มะเร็ง และช่วยขับน้ำนมสำหรับสตรีหลังคลอดบุตรได้ดี รองจากการรับประทานหัวปลี

ฟ้าทลายโจร อยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall ex Nees.) เป็นพืชล้มลุกฤดูเดียว ในตระกูล Acanthaceae มีถิ่นกำเนิดในอินเดียและศรีลังกา โดยในตำรายาโบราณของไทย จัดให้เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่สามารถหามารับประทานแก้โรคได้เอง สูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม แตกกิ่งมาก ใบรียาว ปลายใบแหลม ดอกขนาดเล็กสีขาว มีรอยกระสีม่วงแดง ลักษณะเป็นหลอด ฝักคล้ายฝักต้อยติ่ง เมล็ดสีน้ำตาลอ่อน ใบมีสารประกอบแลกโตน ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาแก้ไข้ โรคทางเดินหายใจ แก้เจ็บคอ แต่บางคนอาจเกิดอาการแพ้ได้ ซึ่งต้องหยุดยาทันที

การใช้ประโยชน์

ฟ้าทลายโจรมีสรรพคุณหลายประการ เช่น แก้ไข้หวัด แก้ไข้หวัดใหญ่ ระงับอาการอักเสบ ไอ เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิล หลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ รักษาโรคผิวหนัง ฝี แก้ติดเชื้อ ที่ทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย บิด และแก้กระเพาะลำไส้อักเสบ เป็นยาขมเจริญอาหาร มีฤทธิ์ระงับการติดเชื้อหรือระงับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ ซึ่งควรใช้ให้ถูกต้องด้วยจะได้ผลดีมาก

เพชรสังฆาต ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cissus quadrangularis L. จัดอยู่ในวงศ์องุ่น มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า สันชะควด (กรุงเทพฯ) ขั่นข้อ (ราชบุรี) สามร้อยต่อ (ประจวบคีรีขันธ์) เป็นต้น

การใช้ประโยชน์

ในอดีตใช้รักษาปัญหาเกี่ยวกับระบบฮอร์โมนในเพศหญิง เช่น วัยทอง ประจำเดือนผิดปกติ ความต้องการทางเพศ และใช้รักษากระดูกหัก โดยมีผลเพิ่มมวลกระดูกและช่วยให้กระดูกสมานได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังใช้แก้ปวดและรักษาริดสีดวงทวารหนัก ส่วนฤทธิ์ของเพชรสังฆาต มีการศึกษาวิจัย พบว่าทำให้นอนหลับได้เร็วขึ้นและนานขึ้น นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์กระตุ้นเซลล์สร้างกระดูกให้เพิ่มขึ้น เพิ่มการสร้างคอลลาเจนในเซลล์สร้างกระดูก และยังป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก

หญ้าปักกิ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ : Murdannia loriformis (Hassk.) ถิ่นกำเนิดของหญ้าปักกิ่งอยู่ในแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ปัจจุบันมีการปลูกหญ้าปักกิ่งทั่วไปในประเทศไทย

การใช้ประโยชน์

 

ยาจีนใช้หญ้าปักกิ่งบรรเทาอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจและขับพิษ หญ้าปักกิ่งเป็นสมุนไพรที่น่าสนใจและกำลังมีการวิจัยออกมาสนับสนุน เช่น จากการศึกษาหญ้าปักกิ่งเพื่อใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคมะเร็ง ไม่พบความเป็นพิษ เมื่อทำการวิจัยในหลอดทดลองนั้นพบว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็ง พวกมะเร็งลำไส้ใหญ่และเซลล์มะเร็งเต้านม โดยพบว่ามีสารกลัยโคสฟิงโกไลปิดส์ (จี 1 บี) ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งปานกลางของเซลล์มะเร็ง ที่สำคัญยังพบว่าหญ้าปักกิ่งมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายแข็งแรง พบว่าผู้ป่วยที่รับประทานหญ้าปักกิ่งเมื่อได้รับการรักษาแบบแผนปัจจุบันนั้น ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานลดลงจากผลข้างเคียงของการฉายแสงและคีโมเทอราปี ยับยั้งการแพร่กระจายของมะเร็งและการกลับมาเป็นอีก รวมทั้งใช้ปรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย