ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณฐนพล เสนมิม หรือ ครูหน่อง เจ้าของไร่สวนพอเพียง อยู่ที่บ้านหนองแวง ตำบลเขาพระนอน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ใช้เวลาว่างหลังงานประจำ สานต่อพัฒนาสวนพุทรานมสดของที่บ้าน เน้นคุณภาพของผลผลิต และทำหน้าที่หลักในการหาตลาดจนสามารถสร้างรายได้ จากสวนพุทราเพียง 2 ไร่ ได้หลักหลายแสนบาทต่อปี
ครูหน่อง เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำสวนพุทราว่า ตนเองประกอบอาชีพหลักเป็นครูสอนดนตรี แต่พื้นฐานที่บ้านเป็นเกษตรกรทำสวนพุทรามานานกว่า 10 ปีแล้ว ตนเองเพิ่งจะเข้ามาสานต่อได้เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี โดยตอนแรกที่สวนจะปลูกพุทรา 3 รสเป็นหลัก แต่พอมาช่วงหลังเริ่มเกิดปัญหาเรื่องของโรคแมลง การจัดการยาก ราคาต่ำ ที่สวนจึงได้มีการปรับเปลี่ยนมาปลูกสายพันธุ์ใหม่ จากพุทรา 3 รส เป็นพุทรานมสดสายพันธุ์บอมเบย์ ด้วยจุดเด่นของสายพันธุ์นี้คือ ผิวบาง รสชาติหวาน กรอบ ขนาดผลใหญ่ ขายได้ราคาดีตลอด และในแง่ของการปลูกการดูแลนั้น พุทราเป็นผลไม้ที่ปลูกดูแลง่าย ต้นทุนต่ำ เพราะที่สวนปลูกแบบอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยคอก และทำฮอร์โมนไว้ใช้เอง เพราะฉะนั้น จะเหลือกำไรต่อปีมากพอสมควร หรือพูดง่ายๆ ว่าเงินที่ได้จากการทำสวนกลายเป็นเงินเก็บก้อนโตเลยก็ว่าได้
ปลูกพุทรานมสด สายพันธุ์บอมเบย์
2 ไร่ ได้จับเงินแสน
เจ้าของบอกว่า ณ ปัจจุบันที่สวนปลูกพุทราบอมเบย์เป็นหลัก สร้างรายได้อยู่จำนวน 2 ไร่ และได้แบ่งพื้นที่อีกบางส่วนไว้ทำแปลงทดลองปลูกสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่น พุทราพันธุ์สงวนทอง และพุทราแก้ว ไว้เพื่อศึกษาจุดเด่นจุดด้อย สู่การพัฒนาให้เป็นสายพันธุ์เชิงการค้าต่อไป
การปลูก
พุทรา เป็นผลไม้ที่สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ และปลูกได้ตลอดทั้งปี เพราะฉะนั้นขั้นตอนการเตรียมดินปลูกจึงไม่มีอะไรยุ่งยาก ของที่สวนใช้วิธีไถพรวนดินธรรมดา แล้วลงมือขุดหลุมปลูกได้เลย โดยขนาดความกว้างของหลุม ประมาณ 1×1 เมตร ลึก 50 เซนติเมตร แล้วใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมปริมาณ 1 กระสอบ จากนั้นนำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูก แล้วใช้ฟางคลุมดิน รดน้ำให้ชุ่ม ระยะห่างระหว่างต้นมี 2 ระยะ คือ 5×5, 8×8 เมตร เพื่อให้กิ่งก้านสาขาแตกออกด้านข้างได้อย่างสะดวก กิ่งไม่ทับพันกันมากเกินไป ส่งผลทำให้เก็บผลผลิตได้ง่ายขึ้น และช่วยลดขั้นตอนการดูแลได้มากขึ้น
การดูแลรดน้ำใส่ปุ๋ย
ระบบน้ำของที่สวนใช้วิธีวางท่อพีวีซีเป็นท่อหลักแล้วใช้สาย PE เดินตามร่อง แล้วติดตั้งระบบมินิสปริงเกลอร์ เปิดรดน้ำทุกๆ 3 วัน หรือให้ดูสภาพอากาศควบคู่ไปด้วย หากช่วงไหนอากาศร้อนจัดก็ให้ 2-3 วันรดครั้ง แต่ถ้าหากช่วงไหนแดดไม่ค่อยมีก็สามารถเว้นระยะการให้น้ำออกมาเป็น 4 วัน รดครั้งก็ได้ เพราะพุทราเป็นผลไม้ที่ไม่ชอบน้ำแฉะ และถ้าหากให้น้ำมากจนเกินไปจะทำให้ผลของพุทราแตกได้
การให้ปุ๋ย ที่สวนเริ่มปลูกแบบอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นปุ๋ยที่ใส่จะเป็นปุ๋ยคอก และฮอร์โมนที่หมักเองทั้งหมด โดยการใส่ปุ๋ยให้นับช่วงรองก้นหลุมเป็นครั้งที่ 1 หลังจากนั้นจะเริ่มใส่ปุ๋ยอีกครั้ง ในช่วงที่ต้นเริ่มติดดอก (ครั้งที่ 2) และมีการฉีดฮอร์โมนน้ำหมักบำรุงไปด้วย หลังจากเก็บผลผลิตชุด 1 เสร็จใส่ปุ๋ยคอกอีกครั้ง (ครั้งที่ 3) ครั้งสุดท้ายหลังจากผลผลิตหมดตัดต้นก็เริ่มบำรุงต้นใหม่ใส่อีกครั้ง (ครั้งที่ 4) จะวนแบบนี้ไปเรื่อยๆ เฉลี่ยประมาณ 3 เดือนครั้ง หรือหากในกรณีที่ปุ๋ยอินทรีย์ไม่เพียงพอ สามารถใช้ปุ๋ยยูเรียได้ไม่เกินต้นละ 1 กำมือ และหมั่นดูแลกำจัดวัชพืชภายในแปลงให้สะอาดอยู่เสมอ
สูตรฮอร์โมนเร่งการติดดอก
ส่วนผสม
- ผลผลิตพุทราที่ร่วงหล่น หรือคัดทิ้ง
- ไข่เป็ด 2 แผง
- นมเปรี้ยว
- หัวเชื้อจุลินทรีย์ EM
- น้ำเปล่า
วิธีทำ
หมักในถัง ขนาด 200 ลิตร ใส่น้ำเปล่าในปริมาณ 150 ลิตร จากนั้นนำส่วนผสมทั้งหมดที่เตรียมไว้เทใส่ลงไป คนส่วนผสมให้เข้ากัน แล้วปิดฝาถังหมักทิ้งไว้เป็นระยะเวลาอย่างต่ำ 2-3 เดือน สามารถนำมาใช้งานได้
วิธีการใช้ อัตราฮอร์โมน 600 มิลลิลิตร ผสมกับน้ำเปล่า 50 ลิตร นำมาฉีดพ่นได้ทั้งทางใบ ทางดอก เพื่อช่วยกระตุ้นการออกดอก ติดผล
กางมุ้งไล่แมลง
สำหรับศัตรูตัวสำคัญของสวนพุทราคือแมลงวันทอง แต่เนื่องด้วยที่สวนตั้งใจทำเกษตรแบบอินทรีย์ ประกอบกับที่คุณแม่แพ้สารเคมี ที่สวนจึงหาทางกำจัดแมลงวันทองด้วยการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ในการไล่แมลง คือใช้เทคนิคการกางมุ้งให้กับพุทรา ถือเป็นวิธีที่ดีถึงแม้ว่าในช่วงเริ่มต้นอาจจะต้องใช้เงินลงทุนที่สูง แต่เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้แล้วนั้นนับว่าคุ้มค่ามากๆ ทั้งปลอดภัยจากสารเคมี ทำแล้วเห็นผลดีกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีแมลงมารบกวน ทำให้ได้ผลผลิตดี ในปีแรกก็คืนทุนได้แล้ว หรือถ้าหากช่วงไหนราคาผลผลิตดีๆ จะได้ทั้งทุน และเห็นผลกำไรในคราวเดียวกัน
ปริมาณผลผลิต พุทราเป็นพืชที่ปลูกง่าย ให้ผลผลิตเร็ว ปลูกปีแรกมีผลผลิตให้เก็บขายแล้ว โดยช่วงการเก็บผลผลิตของที่สวนจะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กุมภาพันธ์ โดยปริมาณของผลผลิตจะมีให้เก็บเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุและความแข็งแรงของต้น ลำต้นยิ่งใหญ่ยิ่งแข็งแรง ก็ให้ผลผลิตเยอะ ซึ่งที่ผ่านมาที่สวนจะเก็บผลผลิตได้เฉลี่ย 4 ตัน ต่อไร่ มีตลาดรับซื้อหลักอยู่ที่ขอนแก่น
สร้างผลกำไรงาม สำหรับรายได้ในการขายพุทราต่อปี ประมาณ 300,000 บาท เมื่อหักต้นทุนออกไปแล้วไม่ถึงแสน ที่เหลือคือกำไรทั้งหมด ถือเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนดี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ที่การวางแผนจัดการของทีละสวนด้วย เพราะ 1. ที่สวนมีการจัดการสวนแบบอินทรีย์จึงมีต้นทุนการดูแลต่ำ 2. ราคาของพุทรานมสดค่อนข้างมีราคาดีตลอดทั้งปี ราคาไม่ผันผวนเหมือนผลไม้ชนิดอื่นๆ รวมถึงคุณภาพที่ผลิตออกมาตรงต่อความต้องการของตลาด ก็สามารถขายได้ราคาได้แพงขึ้น
การตลาด แบ่งเป็นลูกค้า 2 กลุ่ม ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าชอบแบบไหน กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มลูกค้าที่นิยมรับประทานพุทราที่มีขนาดผลขนาดใหญ่ และกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มลูกค้าที่ชอบขนาดผลเล็ก โดยที่ขนาดของผลไม่มีผลต่อเรื่องของรสชาติ ไม่ว่าจะผลเล็ก หรือผลใหญ่ รสชาติความหวานยังคงเดิม ส่วนในเรื่องของราคาขายส่งหน้าสวน กิโลกรัมละ 20 บาท แต่ถ้าอยู่ในช่วงเทศกาลราคาอาจจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 25-30 บาท
โดยที่ผ่านมาราคาเป็นไปได้ดีอย่างต่อเนื่อง อย่างสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาที่สวนได้รับผลกระทบน้อยมาก ยังสามารถกระจายสินค้าได้ดีอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้สื่อช่องทางออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ คือช่วงโควิดตลาดปิด ออกไปไหนไม่ได้ ก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเคยขายส่งตลาดใหญ่อย่างเดียวก็ย้ายมาขายในตลาดออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นทางสวนก็กลับมาขายส่งเหมือนเดิม อาจจะลดปริมาณการขายทางออนไลน์ลง เนื่องจากไม่มีเวลาในการแพ็กของส่งลูกค้า และมองว่าในอนาคตอีก 4-5 ปีข้างหน้า พุทราก็จะเป็นพืชที่น่าจับตา ความต้องการยังมีสูง เนื่องจากที่ผ่านมาที่สวนมีออเดอร์เข้ามาเยอะมาก แต่ไม่สามารถผลิตส่งให้ได้เพราะลูกค้ามีความต้องการในจำนวนมากวันละหลายตัน แต่ที่สวนสามารถผลิตได้มากที่สุดเพียงสัปดาห์ละ 800-900 กิโลกรัมเท่านั้น
ฝากถึงเกษตรกรมือใหม่
“ต้นทุนของแต่ละคนไม่เท่ากัน ผมไม่อยากให้ทุกคนคิดว่าต้องรอให้มีเงินเยอะก่อนแล้วค่อยลงมือทำ การเกษตรสำหรับผมสามารถทำได้ทุกอาชีพ ทุกชนชั้น มีทุนน้อยก็เริ่มทำจากทุนน้อย ขอแค่มีใจรักเป็นจุดเริ่มต้น แล้วลงมือทำได้เลย และสิ่งที่ตามมาทีหลังคือความงอกเงยในอนาคต แรกๆ อาจยังไม่เห็นผลเท่าไหร่ แต่ว่าอนาคตต่อไปทำเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นอาชีพหลักได้อย่างสบาย” ครูหน่อง กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเทคนิคการปลูกพุทรากางมุ้งเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 088-555-4629
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2564