ข้าวญี่ปุ่น ‘โรงสีข้าวจิราภรณ์’ ความอร่อยเกรดพรีเมียม เปี่ยมคุณภาพ

ข้าวญี่ปุ่น ‘โรงสีข้าวจิราภรณ์’ ความอร่อยเกรดพรีเมียม เปี่ยมคุณภาพ

รวงข้าวเหลืองอร่าม พร้อมเก็บเกี่ยวเต็มท้องทุ่งสุดลูกหูลูกตา จำนวนหลายพันไร่ในเขตพื้นที่อำเภอแม่สรวย และอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย แหล่งปลูก ‘ข้าวญี่ปุ่น’ ขึ้นชื่อของเมืองไทย ความสุขบนผืนดินที่ทำให้ คุณสนั่น สุภาวะ ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการ ‘โรงสีข้าวจิราภรณ์’ ประสบความสำเร็จเป็นผู้นำด้านการผลิตข้าวญี่ปุ่นบ้านเราในปัจจุบัน

 ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

เริ่มต้นจาก ‘เกษตรกร’ ผันตัวสู่ ‘พนักงานบริษัท’

คุณสนั่น เล่าว่า เมื่อปี 2536 มีคนรู้จักแนะนำให้ไปทำงานกับบริษัท สยามจาปอนิก้าฟลาวร์ จำกัด ซึ่งกำลังส่งเสริมการปลูกข้าวเหนียวญี่ปุ่นในเขตพื้นที่อำเภอแม่สรวย และอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เพื่อนำมาผลิตเป็นแป้งข้าวเหนียวส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น

แม้จะเรียนจบช่างยนต์ แต่ก็ทำการเกษตรมาโดยตลอด ปลูกข้าว ปลูกพริก ใช้ชีวิตเกษตรกรตั้งแต่เด็ก ก่อนที่จะไปทำงานกับบริษัท สยามจาปอนิก้าฟลาวร์ จำกัด เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวเหนียวญี่ปุ่น

‘ฟองสบู่แตก’ จุดประกายธุรกิจปลูก ‘ข้าวญี่ปุ่น’

ปี 2540 เกิดภาวะฟองสบู่แตก ส่งผลให้บริษัท สยามจาปอนิก้าฟลาวร์ จำกัด รับภาระไม่ไหวต้องปิดกิจการ คุณสนั่น ได้เผยว่า ตอนนั้นตนเองกำลังสนุกอยู่กับงาน การส่งเสริมปลูกข้าวเหนียวและข้าวเจ้าญี่ปุ่นกำลังไปได้ดี มีการประกันราคาสร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกร จึงมีความคิดว่าข้าวญี่ปุ่นยังสามารถเติบโตต่อไปได้

แม้ในปี 2541 เศรษฐกิจจะยังได้รับผลกระทบจากภาวะฟองสบู่แตก แต่กลุ่มลูกค้าร้านอาหารญี่ปุ่นที่ต้องการข้าวญี่ปุ่นยังมีอยู่ คุณสนั่น จึงได้เช่าไร่นาเพื่อปลูกข้าวญี่ปุ่น พร้อมกับการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนั้นมีเงินลงทุนค่อนข้างจำกัดจึงจำเป็นต้องเช่ารถบรรทุก จ้างโรงสีข้าว รวมถึงการเช่าตู้อบข้าวของสหกรณ์อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย และอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อทุกอย่างเริ่มลงตัวก็มีการขยับขยาย กู้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซื้อเครื่องมือเป็นของตัวเอง เช่น ตู้อบข้าว รถบรรทุก เครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ รวมถึงการสร้างโรงสีข้าว ก่อนจดทะเบียน ‘หจก.โรงสีข้าวจิราภรณ์’ ในปี 2545

ตอนเริ่มทำธุรกิจ ‘โรงสีข้าวจิราภรณ์’ มีกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรเดิมของบริษัท สยามจาปอนิก้าฟลาวร์ จำกัด ขณะนั้นมีพื้นที่ประมาณ 300-500 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรประมาณ 300 ราย จำนวน 4,400 ไร่

คุณสนั่น กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากทำบริษัทของตนเองจึงมีการเลือกปลูก ‘ข้าวเจ้าญี่ปุ่น’ เพื่อจำหน่ายร้านอาหารญี่ปุ่นโดยเฉพาะ โดยเริ่มต้นจากจังหวัดเชียงใหม่ มีการสั่งข้าวจำนวน 200-300 กิโลกรัม ต่อครั้ง หลังจากนั้นมีลูกค้าของร้านอาหารที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นร้านค้าส่งข้าวญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ให้ความสนใจ จึงจำหน่ายข้าวเพิ่มขึ้นประมาณ 3 ตัน ต่อสัปดาห์

หลังจากส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวญี่ปุ่น ช่วยเป็นอีกหนึ่งเสียงสำคัญทำให้เกิด ‘การประกันราคาข้าว’ ที่เกษตรกรยอมรับ ส่งผลให้ผลผลิตและยอดขายเริ่มเติบโต คุณสนั่น จึงปรึกษากับหุ้นส่วนว่าควรหาตลาดข้าวใหม่ๆ เพิ่มเติม ก่อนที่ ‘โรงสีข้าวจิราภรณ์’ จะติดต่อดำเนินธุรกิจกับบริษัทค้าข้าวญี่ปุ่น ซื้อข้าวเพื่อไปทำแบรนด์ของบริษัทนั้นๆ

เมื่อ ‘โรงสีข้าวจิราภรณ์’ เป็นที่รู้จัก จึงมีบริษัทต่างๆ ขอซื้อข้าวญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น โดยแต่ละบริษัทจะแจ้งว่าต้องการจำนวนเท่าไร จากนั้นคุณสนั่นก็จะวางแผนการเพาะปลูก โดยปัจจุบันมีลูกค้าสั่งซื้อข้าวเป็นประจำ 5-6 บริษัทด้วยกัน

เพิ่ม ‘Productivity’ เป็น 1,400-1,500 กก./ไร่

คุณสนั่น กล่าวว่า ด้วยลักษณะพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นที่ปลูกในปัจจุบัน มีการพัฒนาสายพันธุ์โดยศูนย์วิจัยข้าว กรมการข้าว จังหวัดเชียงราย ซึ่งผ่านการรับรองพันธุ์ข้าว 2 พันธุ์ คือ ก.วก.1 หรือพันธุ์ ซาซานิชิกิ (Sasanishiki) และ ก.วก.2 หรือพันธุ์ อาคิตะโคมาจิ (Akitakomachi) ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ ‘โรงสีข้าวจิราภรณ์’  ปลูกในปัจจุบัน

สำหรับเทคนิคการใส่ปุ๋ย การเพาะกล้า คุณสนั่นกล่าวเสริมว่า ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้กับเกษตรกรในหลายจังหวัดว่าจะทำอย่างไรให้ผลผลิตสูงขึ้น หลังจากนั้นจึงมีการประชุมกับเกษตรกรในพื้นที่ ถ่ายทอดความรู้ว่าต้องปลูกอย่างไร มีรายละเอียดปลีกย่อย-ปัจจัยอะไรบ้าง ส่งผลให้ในปัจจุบันเกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นจากการ Productivity เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 750 กิโลกรัม ต่อไร่ เป็นผลผลิต 1,400-1,500 กิโลกรัม ต่อไร่

ผมสร้างคู่มือการปลูกให้กับเกษตรกร โดยปรับปรุงมาจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ แล้วปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการปลูกข้าวญี่ปุ่น

‘อาคิตะโคมาจิ’ มีดีอย่างไร ทำไมได้ใจผู้บริโภค

คุณสนั่น กล่าวว่า ด้วยประสบการณ์ที่อยู่ในพื้นที่ส่งเสริมปลูกข้าวญี่ปุ่นมาเกือบ 30 ปี พันธุ์ข้าวญี่ปุ่น อาคิตะโคมาจิ (Akitakomachi) จะมีความเหนียวนุ่ม สามารถใช้เป็นข้าวบริโภค รวมถึงทำซูชิก็อร่อยกว่าพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกในเมืองไทย นอกจากนี้ พันธุ์ข้าวยังมีความต้านทานต่อโรคสูงด้วย

สำหรับจุดเด่นอื่นๆ ที่ใช้พิชิตใจลูกค้า ก็คือข้าวจะต้องใหม่อยู่เสมอ โดยข้าวที่พร้อมจำหน่ายต้องหมดภายใน 6 เดือน เพื่อรับข้าวใหม่ที่จะเข้ามา ซึ่งการจำหน่ายต้องมีการวางแผนเพื่อไม่ให้ข้าวค้างสต็อก

ตลาด ‘ข้าวญี่ปุ่น’ คือใคร

สำหรับเรื่องนี้คุณสนั่นเล่าว่า ตลาดข้าวญี่ปุ่นจะมีอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

  1. กลุ่มที่ใช้ข้าวมาจากญี่ปุ่นโดยตรง ซึ่งมีจำนวนไม่มาก
  2. กลุ่มที่ใช้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยเป็นส่วนใหญ่
  3. กลุ่มที่ใช้ข้าวจากอาเซียน (เวียดนาม) ซึ่งคุณภาพด้อยกว่า 2 กลุ่มแรก

คุณสนั่น บอกว่า ด้วยความที่ขณะนี้ข้าวประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำหน่ายในไทยจำนวนมาก ทำให้การแข่งขันค่อนข้างเผชิญกับปัญหาพอสมควร เนื่องจากต้นทุนข้าวในบ้านเราสูงกว่า แม้จะมีคุณภาพดีกว่าก็ตาม

ซึ่งนอกจากเรื่อง ‘ต้นทุน’ แล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่นควรให้ความสำคัญในอนาคตก็คือ Traceability หรือระบบการตรวจสอบย้อนกลับ เนื่องจากผู้บริโภคต้องการทราบแหล่งปลูกข้าวญี่ปุ่นเพื่อสร้างความมั่นใจต่อการซื้อข้าว ซึ่งเป็นกลไกกระบวนการประกันความปลอดภัยอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกันคุณภาพเกี่ยวกับการปนเปื้อนอันตราย ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียจากการเรียกคืนสินค้า ทำให้ภาคการผลิตสามารถเรียกคืนสินค้าได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และในปริมาณที่ควรจะเป็น หากผู้ประกอบการเลือกใช้ข้าวที่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้

‘ร้านอาหารญี่ปุ่น’ ในไทยโตต่อเนื่อง โอกาสทองข้าวญี่ปุ่น

ทั้งนี้ จากข้อมูลองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) ที่เผยผลการสำรวจตลาดอาหารญี่ปุ่นในไทยปี 2563 (prachachat.net วันที่ 17 ธันวาคม 2563) ระบุว่ามีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 12.6% เป็น 4,094 ร้าน จากเดิม 3,637 ร้าน ซึ่งร้านอาหารประเภทซูชิเพิ่มขึ้นสูงสุดกว่า 504 ร้าน มากกว่าปี 2562 ถึง 50.9% จากการขยายในรูปแบบแฟรนไชส์ จากเชนใหญ่ต่างๆ ที่เร่งบุกตลาด และจากผู้เล่นรายใหม่ที่กระโดดเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง

คุณสนั่น มองว่า ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ตลาดอาหารญี่ปุ่นขยายตัวสวนกระแสเศรษฐกิจ น่าจะมาจากความชื่นชอบประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการบริโภคอาหารญี่ปุ่นที่มากและหลากหลายยิ่งขึ้น รวมไปถึงตลาดอาหารญี่ปุ่นในไทยมีทางเลือกมากขึ้น ทั้งประเภทอาหารและช่วงราคา ทำให้ฐานลูกค้าขยายตัวขึ้นตามไปด้วย

จากเกษตรกรตัวเล็กๆ คุณสนั่น สุภาวะ ได้อาศัยการเรียนรู้ต่อยอดจากงานประจำ นำมาพัฒนาสู่ธุรกิจปลูกข้าวญี่ปุ่นของ ‘โรงสีข้าวจิราภรณ์’ และข้าวญี่ปุ่นแบรนด์ ‘ไทโย’ ให้เติบโตสามารถสร้างเครือข่ายเกษตรกร พร้อมด้วยการทำ ‘Productivity’ ช่วยให้การปลูกข้าวมีคุณภาพให้ผลผลิตต่อไร่สูง จนประสบความสำเร็จเป็นผู้ผลิตข้าวญี่ปุ่นแถวหน้าของเมืองไทย