ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
มะพร้าวกะทิ พบได้ทั่วไปในแหล่งที่ปลูกมะพร้าวในเขตร้อน ไม่ว่าจะที่ ฟิลิปปินส์ อินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่วนในบ้านเราพบตามแหล่งปลูกมะพร้าวที่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สมุทรสงคราม และนครศรีธรรมราช
ผลการวิจัยที่ฟิลิปปินส์พบว่า เมื่อใช้ต้นมะพร้าวที่เคยมีประวัติการเกิดให้ผลมะพร้าวกะทิ ให้มีการผสมตัวเอง แล้วนำผลมะพร้าวที่ได้ไปปลูกจะมีโอกาสได้ผลผลิตมะพร้าวแกง 3 ส่วน และมะพร้าวกะทิ 1 ส่วน หรืออาจจะไม่เป็นไปตามสัดส่วนขั้นต้นหากต้นพันธุ์ที่นำมาปลูกนั้นไม่ได้มีพันธุกรรมที่เป็นมะพร้าวกะทิ
แต่ในปัจจุบัน มีผู้สามารถเพาะสายพันธุ์มะพร้าวกะทิได้ทั้งต้น แบบไม่ต้องรอผลผลิตออกตามธรรมชาติเหมือนอย่างในอดีตแล้ว
คุณสมศักดิ์ แซ่ลิ้ม หรือ คุณเล็ก อยู่ที่บ้านเลขที่ 130/13 หมู่ที่ 9 ตำบลทับสะแก อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เจ้าของสวนมะพร้าวกะทิ เล่าให้ฟังว่า ผลิตภัณฑ์มะพร้าวกะทิของแบรนด์ THAPSAKAE SELECT เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นจากสามพี่น้องที่ช่วยเข้ามาปรับเปลี่ยนสวนมะพร้าวของบรรพบุรุษ จากเดิมที่เป็นสวนมะพร้าวแกงที่มีราคาผันผวนสูง จึงได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนและเลือกที่จะมาทดลองปลูกมะพร้าวกะทิ ด้วยเหตุผลที่ความต้องการในมะพร้าวกะทิยังมีอีกมาก แต่ยังผลิตได้น้อยและคาดการณ์ได้ยาก จากเดิมที่ต้องรอผลผลิตกะทิจากธรรมชาติที่มีปริมาณน้อยมากและคาดการณ์ผลผลิตได้ยากมาก ทั้งนี้ จึงได้ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ทำการเพาะและขยายพันธุ์มะพร้าวกะทิที่เป็นสายพันธุ์แท้ที่ให้ผลผลิตกะทิล้วน โดยคาดการณ์ไว้ว่าผลผลิตรอบแรกจะออกมาให้เก็บเกี่ยวได้ภายในเดือนมกราคม 2565 และได้มีการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตว่าอาจจะได้มะพร้าวกะทิออกมาไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นที่เหลือนั้นเป็นเรื่องของปัจจัยแวดล้อมในเรื่องของพื้นที่ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้อาจจะมีเกสรของมะพร้าวสายพันธุ์อื่นปลิวมาปะปน ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตที่อาจไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์
เริ่มต้นปลูกมะพร้าวกะทิ 3 ปี
คาดการณ์ผลกำไรได้ 6,000 บาทต่อต้น
คุณเล็ก บอกว่า โดยหลักๆ กิจกรรมที่ทางสวนทำอยู่ตอนนี้เรียกได้ว่าทำแบบครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการแปรรูปและการตลาด และที่สวนค่อนข้างมีความสนใจในตัวมะพร้าวกะทิเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้มีการรวบรวมไว้หลายสายพันธุ์ บนพื้นที่ 12 ไร่ เช่น มะพร้าวกะทิน้ำหอม มะพร้าวกะทิแกงสายพันธุ์พื้นเมือง มะพร้าวกะทิสายพันธุ์นาฬิเกร์ มะพร้าวกะทิสายพันธุ์นกคุ่ม มะพร้าวกะทิสายพันธุ์พวงร้อย มะพร้าวกะทิสายพันธุ์ทะลายร้อย เป็นต้น เพื่อการอนุรักษ์และเพื่อศึกษาพัฒนาต่อไป ตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นของที่สวน และได้แบ่งพื้นที่อีก 30 ไร่ ไว้ปลูกมะพร้าวกะทิเพื่อการค้าที่มีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเนื้อเยื่อที่จะได้ผลผลิตออกมาเป็นมะพร้าวกะทิทั้งหมด โดยที่สวนได้ลงมือปลูกมาแล้วเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี
เทคนิคการปลูกมะพร้าวกะทิ
คุณเล็ก บอกว่า สำหรับการปลูกมะพร้าวกะทิขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่นำมาปลูก ถ้าเป็นมะพร้าวกะทิจากมะพร้าวน้ำหอมก็จะใช้เวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 3 ปีครึ่ง เหมือนมะพร้าวน้ำหอมทั่วไป แต่ถ้าเป็นมะพร้าวกะทิสายพันธุ์ที่ให้ลูกใหญ่อาจจะต้องใช้เวลาปลูกนานประมาณ 5 ปี ถึงจะได้เก็บผลผลิต
สำหรับเกษตรกรที่สนใจอยากปลูกมะพร้าวกะทิ อันดับแรกต้องเลือกก่อนว่าต้องการที่จะปลูกแบบไหน 1. เป็นการปลูกแบบเพาะเนื้อเยื่อ หรือ 2. การเพาะผลพันธุ์ ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้จะได้ผลผลิตที่ออกมาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือหากเกษตรกรเลือกที่ปลูกจากการเพาะผลพันธุ์ จะได้ผลผลิตที่เป็นมะพร้าวกะทิเพียงบางต้น ซึ่งมีโอกาสที่จะได้ต้นพันธุ์ที่ให้ผลกะทิจาก 4 ต้นจะได้ต้นพันธุ์ที่ให้ผลเป็นกะทิเพียง 1 ต้น และต้นที่ให้ผลเป็นมะพร้าวกะทิจะให้ผลกะทิเพียง 25 เปอร์เซ็นต์
เพราะฉะนั้น จึงอยากแนะนำสำหรับท่านที่อยากเริ่มทำสวนมะพร้าวกะทิ ให้เริ่มต้นปลูกจากการเพาะเนื้อเยื่อ ถึงแม้ราคาต้นพันธุ์จะสูงแต่สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้ว่าจะออกมาเป็นมะพร้าวกะทิแน่นอน และสามารถประมาณการผลผลิตล่วงหน้าได้เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำตลาด เพราะว่าถ้าคาดการณ์ผลผลิตไม่ได้ การทำตลาดก็จะเป็นไปค่อนข้างลำบาก และอีกข้อสำคัญคือมะพร้าวกะทิเป็นผลผลิตที่เน่าเสียได้ง่าย ถ้าเราปลูกไว้แล้วไม่มีการตลาดมารองรับ จากที่จะได้รายได้เยอะก็อาจจะกลับกลายเป็นศูนย์เลยก็ได้
การปลูก จะมีวิธีการปลูกเหมือนกับมะพร้าวทั่วไป ที่สวนจะปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 8×8 เมตร การเตรียมดินขุดหลุมลึกxกว้างxยาว 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมก่อนปลูกด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก
การดูแลรดน้ำ สภาพพื้นที่สวนเป็นพื้นราบ ไม่ได้ขุดคลอง จึงต้องมีการขุดท่อเพื่อทำระบบน้ำมินิสปริงเกลอร์ ในช่วงแรกที่เริ่มปลูกจะมีการให้น้ำ 2 วันครั้ง จะช่วยให้ต้นมะพร้าวเจริญเติบโตได้ดี
ปุ๋ย ปีแรกใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 โดยที่สวนจะพยายามใส่ปุ๋ยให้ได้ทุกเดือน เน้นใส่บ่อยๆ แต่ใส่ในปริมาณที่น้อย โดยรวมทั้งปีจะให้ปุ๋ยไม่เกินต้นละ 1 กิโลกรัม หลังจากนั้น พอเริ่มเข้าปีที่ 2 ก็ยังคงใส่ปุ๋ยสูตรเดิมและเน้นใส่ปุ๋ยทุกเดือนอยู่ เพียงแต่เพิ่มปริมาณการใส่ขึ้นจากเดิมอัตราต้นละ 1 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นมาเป็นอัตรา 2 กิโลกรัม เนื่องด้วยมะพร้าวกะทิเป็นผลผลิตที่มีราคาแพง ดังนั้น จึงต้องมีการบำรุงใส่ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ ใส่ใจกว่าการดูแลมะพร้าวทั่วไป และหมั่นตัดหญ้ากำจัดวัชพืชให้ได้ทุกเดือน
คำแนะนำในการปลูกมะพร้าวกะทิ โดยทั่วไปตามหลักการจะต้องปลูกให้ห่างจากมะพร้าวชนิดอื่นๆ ในระยะที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ลมหรือแมลงพัดพานำเกสรของมะพร้าวชนิดอื่นมาปะปน แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่มีอย่างจำกัดและหนีสวนมะพร้าวไม่ได้เพราะสวนเราอยู่อำเภอทับสะแกซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนมะพร้าว ซึ่งแน่นอนว่าที่สวนก็ต้องทำใจไว้แล้วว่าโดยหลักการจะได้ผลผลิตมะพร้าวกะทิออกมา 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในทางปฏิบัติอาจจะได้ไม่ถึง อาจจะลดลงมาเหลือ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ยังถือว่าอยู่ในจุดที่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่หากอยากให้ผลผลิตออกมา 100 เปอร์เซ็นต์ ก็จะต้องมีการจัดการกับเกสรจากมะพร้าวอื่นที่จะมาผสม เช่น การทำแนวกันชน หรือหาพื้นที่ที่ห่างไกลจากแหล่งปลูกมะพร้าวอื่น เป็นต้น
ผลผลิตต่อต้น ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดภายในเดือนมกราคม 2565 ผลผลิตจะออกมาเก็บเกี่ยวรอบแรก และคาดการณ์จากสายพันธุ์ไว้ว่าต่อเดือนเมื่อหักต้นทุนค่าใช้จ่ายไปแล้วเกษตรกรจะเหลือกำไรจากการขายลูกมะพร้าวกะทิประมาณ 500-600 บาทต่อต้นต่อเดือน หรือคิดเป็นปีจะมีรายได้ประมาณ 6,000 บาทต่อต้นต่อปี โดยราคาหน้าสวนซื้อขายตามไซซ์ มีตั้งแต่ราคาลูกละ 50-150 บาท ซึ่งมีรายได้ที่แตกต่างไปจากเดิมที่ทำสวนมะพร้าวแกงก่อนหน้านี้
วางแผนการตลาดนำการผลิต
มีตลาดรองรับไม่ขาดสาย
คุณเล็ก เล่าถึงหลักการทำตลาดของผลิตภัณฑ์มะพร้าวกะทิให้ฟังว่า สำหรับผลิตภัณฑ์มะพร้าวกะทิ ภายใต้แบรนด์ THAPSAKAE SELECT จะประกอบไปด้วย เนื้อมะพร้าวกะทิสดแช่แข็ง มะพร้าวกะทิเชื่อม มะพร้าวกะทิ และไอศกรีมมะพร้าวกะทิ โดยวัตถุดิบที่นำมาแปรรูปและขายผลสดมาจากสวนของตนเองส่วนหนึ่งและรับซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้ทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งกันไว้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่มีมากขึ้น โดยการทำตลาดจะให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศให้แข็งแรงก่อน และถ้ามีโอกาสก็จะขยายสู่ตลาดต่างประเทศ รวมถึงการขายผ่านช่องทางออนไลน์และขายผ่านหน้าร้านของตนเองด้วย ส่งผลไปถึงการสร้างรายได้ที่ยังไม่มาก เพียงประมาณหลักแสนบาทต่อเดือน แต่ในอนาคตเมื่อผลผลิตของที่สวนออกมาครบ 100 เปอร์เซ็นต์ อนาคตสดใสแน่นอน
เกษตรกรมือใหม่เริ่มต้นยังไง
“แนะนำสำหรับมือใหม่หัดปลูก อันดับแรกหากอยากปลูกไว้รับประทานเองสักต้นก็คงทำได้ไม่ยาก แต่สำหรับท่านที่อยากปลูกเพื่อการค้าสำคัญที่สุดคือต้องหาแหล่งต้นพันธุ์ที่น่าเชื่อถือ เพราะเมื่อปลูกไปแล้วต้นทุนของเกษตรกรที่แท้จริงคือ เวลาและพื้นที่ปลูก เวลา คือถ้าเราปลูกไปต้นที่ได้มาไม่ใช่กะทิ ก็เสียเวลาไป 3-5 ปี เพราะฉะนั้น ควรหาแหล่งต้นพันธุ์ที่เชื่อถือได้ หากสนใจปลูกแบบเพาะลูกพันธุ์ควรจะต้องเห็นว่าลูกที่เพาะพันธุ์ถูกนำมาจากต้นที่มีประวัติการให้ผลที่เป็นกะทิจริงๆ ถึงจะมีโอกาสได้ต้นพันธุ์ที่มีผลเป็นกะทิ หรือถ้าสนใจต้นพันธุ์แบบเพาะเนื้อเยื่อจากทางสวนได้ในราคาขายปลีกต้นละ 2,500 บาท แต่ถ้าสำหรับเกษตรกรที่อยากปลูกและทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งกับที่สวน ก็จะมีรายละเอียดเงื่อนไขในส่วนของราคาและการรับซื้อผลผลิตคืนกลับมาเพิ่มเติมในส่วนนี้” คุณเล็ก กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 096-121-8317 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : Thapsakae Select – ทับสะแกซีเล็ค มะพร้าวกะทิแปรรูป
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ.2565