“จิ้งหรีด” แมลงเศรษฐกิจ ทำกำไรให้เกษตรกรโคราช ปีละ 49,429 บาท

คุณสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “จิ้งหรีด” เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีอนาคต สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี ตลาดมีความต้องการต่อเนื่อง อีกทั้งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ส่งเสริมให้คนทั่วโลก หันมาบริโภคจิ้งหรีด เพราะเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนับเป็นแหล่งผลิตแมลงเศรษฐกิจจิ้งหรีด อันดับ 1 ของประเทศ เนื่องจากสภาพอากาศค่อนข้างร้อน เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีด ประกอบกับประชาชนในพื้นที่นิยมบริโภค ทำให้ตลาดมีความต้องการ โดยตลาดสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่นและกาฬสินธุ์

สศท.5 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิต ต้นทุน และผลตอบแทนจิ้งหรีดของจังหวัดนครราชสีมา พบว่า ปัจจุบัน มีเกษตรกรผู้เลี้ยงรวม 77 ราย (ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ณ 4 พฤศจิกายน 2564) แหล่งผลิตครอบคลุมในหลายพื้นที่ ได้แก่ อำเภอพิมาย อำเภอสีคิ้ว อำเภอจักราช อำเภอขามสะแกแสง อำเภอคง และอำเภอห้วยแถลง เกษตรกรนิยมเลี้ยงพันธุ์ทองดำ พันธุ์ทองแดง และจิ้งหรีดบ้าน (สะดิ้ง) เนื่องจากเป็นพันธุ์ทางการค้า ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น ได้ผลตอบแทนเร็ว ซึ่งเกษตรกรจะนิยมเลี้ยงเป็นคอกหรือบ่อตามพื้นที่บริเวณบ้านประมาณ 9 บ่อต่อครัวเรือน โดยระยะเวลา 1 ปี สามารถเลี้ยงจิ้งหรีดได้ 5-6 รุ่น

คุณสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา

สำหรับต้นทุนการผลิตจิ้งหรีดทั้ง 3 สายพันธุ์ เฉลี่ยอยู่ที่ 1,200.56 บาทต่อบ่อ หรือ 49.61 บาทต่อกิโลกรัม (บ่อขนาด 1.25×2 เมตร) ให้ผลผลิตจิ้งหรีดเฉลี่ย 24.20 กิโลกรัมต่อบ่อ ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ราคาขายส่งจิ้งหรีดแบบตัวสดเฉลี่ยอยู่ที่ 95 บาทต่อกิโลกรัม และราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 105 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2,299 บาทต่อบ่อ หรือ 95 บาทต่อกิโลกรัม ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 1,098.44 บาทต่อบ่อ หรือ 45.39 บาทต่อกิโลกรัม หากคิดเป็นผลตอบแทนตลอดทั้งปีเกษตรกรจะได้กำไร 5,492.19 บาทต่อบ่อต่อปี หรือคิดเป็นผลกำไรทั้งสิ้น 49,429.71 บาท ต่อปี

ด้านสถานการณ์ตลาดจิ้งหรีดของจังหวัดนครราชสีมาพบว่า เกษตรกรมีการจำหน่ายจิ้งหรีด 2 รูปแบบ คือ จำหน่ายแบบตัวสด ร้อยละ 57 และแบบแปรรูป (ต้มสุก) ร้อยละ 43 สำหรับช่องทางการจำหน่าย ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 65 เกษตรกรจะเน้นการขายปลีกตามหมู่บ้านหรือตลาดในพื้นที่ ส่วนผลผลิตร้อยละ 35 จำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง หรือผู้รวบรวมในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อนำไปแปรรูปต้มสุกแล้วแช่แข็งจำหน่ายให้พ่อค้ารายย่อยต่อไป อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เกษตรกรบางส่วนได้มีการปรับตัว สร้างโอกาส สร้างรายได้ให้ตนเอง โดยขายจิ้งหรีดทั้งแบบสด และแบบแปรรูป (ต้มสุก) ผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook หรือ Line  

 

ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวเพิ่มเติมว่า จิ้งหรีดเป็นแมลงเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการผลิต เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ ใช้ระยะเวลาดูแลต่อวันไม่มาก สร้างรายได้ดี และสามารถแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้ ซึ่งในส่วนของจังหวัดนครราชสีมาได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่และสร้างเครือข่ายเพื่อผลิตและบริหารจัดการร่วมกัน เกิดการพัฒนาและความยั่งยืนของการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ เกษตรกรควรเฝ้าระวังเรื่องของสภาพอากาศที่เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งส่งผลให้จิ้งหรีดไม่ค่อยกินอาหาร ทำให้โตช้า ต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงนานขึ้น หากอากาศหนาวจัดอาจจะต้องใช้พลาสติกและผ้าคลุมบ่อในช่วงเวลากลางคืน ทั้งนี้ เกษตรกรหรือท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตจิ้งหรีดของจังหวัดนครราชสีมา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 โทร. 044-465-120 หรืออีเมล zone5@oae.go.th    

……………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ.2565