หนองตูม อำเภอกงไกรลาศ สุโขทัย อาณาจักรกล้วยพันล้าน

“กล้วยน้ำว้า” เป็นหนึ่งในไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดสุโขทัย มีเกษตรกรผู้ผลิตกล้วยน้ำว้าประมาณ 1,721 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกรวม 7,047 ไร่ มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอำเภอศรีสัชนาลัยเป็นแหล่งปลูกกล้วยน้ำว้ามากที่สุดถึง 668 ราย เนื้อที่ปลูก 2,905 ไร่ รองลงมาคือ อำเภอกงไกรลาศ เกษตรกรจำนวน 457 ราย เนื้อที่ปลูก 2,115 ไร่

การปลูกดูแล

กล้วยน้ำว้าเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ในทุกสภาพดิน แต่ชอบดินร่วน มีอินทรียวัตถุและความชื้นสูง ระบายน้ำดี ไม่ชอบน้ำขัง หลังจากการปลูกกล้วยน้ำว้าแล้วจะให้ผลผลิตครั้งแรกเมื่อปลูกได้ 8-10 เดือน ซึ่งในจังหวัดสุโขทัย แหล่งปลูกกล้วยน้ำว้าสามารถแตกหน่อเติบโตให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดตลอดปี โดยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้สูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ประมาณ 32 เปอร์เซ็นต์

การเตรียมแปลง ควรไถพรวนดินและตากดินนาน 1-2 สัปดาห์ และกำจัดวัชพืชก่อนปลูก วางแนวและขุดหลุมปลูกในระยะ 4×4 เมตร หรือมากกว่า หากที่ระยะถี่กว่านี้จะทำให้ต้นที่แตกใหม่เบียดกันแน่นในปีที่ 2 ขุดหลุมปลูกกว้างxยาวxลึก ที่ 50x50x50 เซนติเมตร กลบหรือโรยปุ๋ยคอก อัตรา 2-3 กิโลกรัมต่อหลุม ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 50-100 กรัมต่อหลุม พร้อมปรับดิน ผสมดินให้สูงประมาณครึ่งหนึ่งของหลุม คลุกผสมดินกับปุ๋ยให้เข้ากัน การปลูกกล้วยน้ำว้านำต้นพันธุ์ลงหลุมปลูกและกลบดินต่ำกว่าผิวดินประมาณ 10 เซนติเมตร สำหรับให้น้ำขังและสำหรับการใส่ปุ๋ยในครั้งต่อไป

แปลงปลูกกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง ของคุณพิมพร แจ่มโพธิ์

โดยทั่วไปเกษตรกรมักให้ต้นกล้วยได้รับน้ำจากน้ำฝน แต่หากพื้นที่ปลูกมีสภาพแห้งแล้งจัด และมีระบบชลประทานเข้าถึง ก็สามารถสูบน้ำเข้าแปลงเป็นระยะได้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง การใส่ปุ๋ยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเตรียมหลุมปลูก ด้วยการรองพื้นด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 2-3 กิโลกรัมต่อหลุม ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 50-100 กรัมต่อหลุม หรือประมาณ 1-2 กำมือ

ปุ๋ยคอก หลังการปลูกประมาณ 1-3 เดือนแรก ควรให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบริเวณโคนต้น อัตรา 2-3 กิโลกรัมต่อหลุม ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 100-200 กรัมต่อหลุม ปุ๋ยเคมี ระยะหลังปลูกเดือนที่ 5 และ 7 หรือระยะก่อนออกปลี ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 12-24-24 อัตรา 100-200 กรัมต่อหลุม โดยการหว่านรอบๆ กอ

โรงงานแปรรูปกล้วย

เกษตรกรนิยมไว้หน่อเพื่อให้เจริญเติบโตเป็นต้น โดยต้นกล้วย 1 กอ หรือ 1 หลุม ให้ไว้หน่อ หรือต้น 4 ต้นเท่านั้น ด้วยวิธีดังนี้ หน่อแรกที่ขึ้นหลังจากการปลูกต้นแรกให้ปล่อยไว้ไม่ตัด หน่อที่ขึ้นต่อมาในระยะ 1-2 เดือน หลังจากการปล่อยหน่อแรกแล้วให้ตัดทิ้ง เมื่อหน่อแรกอายุครบ 3 เดือน ให้ปล่อยหน่อที่ 2 ขึ้น ส่วนหน่ออื่นๆ ตัดทิ้ง ทำในลักษณะเดียวกัน ซึ่งจะได้หน่อและต้นทั้งหมดใน 1 กอ ประมาณ 4 ต้นต่อปี จนถึงการตัดเครือกล้วยจากต้นแรก ซึ่งจะทำให้มีหน่อหรือต้นเหลือ 3 ต้นต่อกอ

กล้วยน้ำว้าที่ปลูกจากหน่อจะเริ่มออกปลีหรือดอกเมื่อมีอายุหลังการปลูกประมาณ 8 เดือน หลังจากแทงปลีจนสุดแล้วจะเหลือส่วนปลายของดอกที่เรียกว่า ปลีกล้วย และมีระยะหลังการแทงดอก (ปลีกล้วย) จนถึงดอกกล้วยบานจนหมดจะใช้เวลาประมาณ 14 วัน ช่วงแทงปลีถึงระยะเก็บเกี่ยว 4 เดือน ถ้าช่วงหน้าหนาวที่มีอากาศเย็นจะใช้เวลาถึงช่วงแทงปลีนานขึ้นกว่าหน้าร้อน

คุณพิมพร แจ่มโพธิ์ ผู้บริหารบริษัท พิมพร บานาน่า อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด

การเก็บผลดิบ จะเก็บในขณะที่ยังเห็นเหลี่ยมของผลชัดเจน ซึ่งระยะนี้กล้วยจะแก่ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ ระยะนี้เหมาะสำหรับการนำกล้วยดิบไปแปรรูปหรือส่งออกต่างประเทศ หลังการตัดปลีแล้วกล้วยจะเริ่มแก่เต็มที่และเริ่มสุกภายในเวลาประมาณ 70-80 วัน หลังจากออกดอก (ปลี)

การเก็บกล้วยก่อนระยะสุก จะเก็บเมื่อผลอวบ ไม่มีเหลี่ยม เป็นระยะสำหรับเก็บจำหน่ายในประเทศเพื่อรับประทานผลสุก ซึ่งผลจะสุกเหลืองภายใน 3-7 วัน การตัดเครือกล้วยจะใช้วิธีตัดต้นกล้วย ให้ค่อยๆ ล้มลง แล้วจึงตัดเครือออก การตัดเครือควรตัดที่ต้นเครือ หรือให้เครือยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ปกติแล้วกล้วยจะแก่โดยใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน หลังจากเริ่มออกดอก การเก็บเกี่ยวจะเก็บเกี่ยวความแก่ 80-100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ แล้วแต่ความต้องการของตลาด

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเยี่ยมชมแปลงปลูกกล้วยของบริษัท พิมพรฯ

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุโขทัยระบุว่า การลงทุนปลูกกล้วยครั้งแรกเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องการเตรียมดินก่อนปลูก ค่าระบบน้ำ ค่าปุ๋ย และอุปกรณ์การเกษตร เช่น จอบ เสียม กรรไกร ฯลฯ การปลูกกล้วยน้ำว้าครั้งแรกใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี ก็เริ่มมีรายได้ให้กับเกษตรกร ลงทุนปลูกกล้วยน้ำว้า 1 ครั้ง สร้างรายได้เฉลี่ย 7-10 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการดูแลของเกษตรกรเป็นหลัก

แปลงปลูกกล้วยน้ำว้าโดยทั่วไปมีค่าใช้จ่ายดูแลระบบน้ำ ให้ต้นกล้วยมีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมให้น้ำแบบปล่อยร่อง โดยทั่วไปต้นกล้วยไม่ต้องให้น้ำบ่อย แค่เดือนละ 1-2 ครั้งก็พอแล้ว รายได้จากการจำหน่ายขึ้นอยู่กับราคากลางในตลาดซึ่งไม่คงที่

ปู่ ย่า ตา ยาย มักสอนลูกหลานว่า ห้ามปลูกกล้วยในช่วงเข้าพรรษา เพราะช่วงเวลาดังกล่าวมักเจอฝนตกชุก หากปลูกกล้วยในที่ลุ่ม หน่อกล้วยที่เพิ่งปลูกใหม่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน มีโอกาสถูกน้ำท่วมขังทำให้เกิดปัญหารากเน่าได้ง่าย หากปลูกในพื้นที่ที่ลาดชัน เสี่ยงต่อการชะล้างพังทลายของหน้าดิน

กล้วยแปรรูปแบรนด์ Chips & Chill สินค้าขายดีในตลาดจีน

อีกประการหนึ่ง หากปลูกกล้วยช่วงหน้าฝน เสี่ยงเจอปัญหาเชื้อโรคที่มาในหน้าฝน เพราะช่วงเวลาดังกล่าวมักมีฝนตกบ่อย ท้องฟ้าปิดติดต่อกันหลายวัน ไม่ค่อยมีแสงแดด เชื้อโรคในดินกระจายตัวได้มากกว่าปกติ แถมเสี่ยงเจอปัญหาฝนทิ้งช่วง หลังจากนำกล้วยน้ำว้าลงปลูกในดินเสร็จแล้ว ต้นกล้วยมักใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการเดินรากเพื่อดูดสารอาหาร หลังจากนั้นเข้าสู่ช่วงเจริญเติบโต ซึ่งอาจจะหมดหน้าฝนพอดี

หากปลูกไปแล้วเจอปัญหาฝนทิ้งช่วง อาจทำให้การเติบโตของต้นกล้วยหยุดชะงัก ความสมบูรณ์ของผลกล้วย โดยปกติกล้วยจะเริ่มแทงปลีต้องใช้เวลาประมาณ 8 เดือน นับตั้งแต่เริ่มเอาหน่อลงปลูก นั่นคือหากปลูกช่วงเข้าพรรษาก็จะครบกำหนดออกหวีออกเครือพอดีในช่วงหน้าแล้ง ส่งผลให้กล้วยมีลูกเล็กหรือลูกไม่สมบูรณ์ได้ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงเจอปัญหาดินเป็นกรดช่วงหน้าฝน ทำให้ต้นกล้วยน้ำว้าเกิดปัญหาตายพราย ซึ่งจะแสดงอาการตอนตกเครือ หากสามารถแก้ปัญหาเรื่องความเป็นกรดของดินได้ก็จะไม่มีปัญหา โดยใส่ปูนขาวปรับสภาพกรดด่างของดินก่อนปลูกกล้วยน้ำว้า

สินค้ากล้วยแปรรูปของคุณพิมพรที่ขายในประเทศ

ตำบลหนองตูม อำเภอกงไกรลาศ

แหล่งแปรรูปกล้วยใหญ่สุดในไทย

ตำบลหนองตูม อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เป็นแหล่งแปรรูปกล้วยใหญ่สุดในประเทศไทย มีปริมาณการผลิต 11,322 ตันต่อปี คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1,132 ล้านบาท เดิมชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้มีอาชีพทำนาและรับจ้างก่อสร้างเป็นหลัก ในปี 2539 ชาวบ้านเริ่มหันมาทำอาชีพแปรรูปกล้วยน้ำว้าในรูปแบบกล้วยฉาบ กล้วยตาก กล้วยอบเนย ฯลฯ

ปี 2550 ชาวบ้านได้รวมกลุ่มก่อตั้งสหกรณ์แปรรูปกล้วยตำบลหนองตูม จำกัด มีสมาชิก 40 คน มีโรงเรือนแปรรูป ผลิตภัณฑ์เกษตร (กล้วยน้ำว้า มันเทศ ฟักทอง และเผือก) 30 ห้อง 240 กระทะ ใช้ก๊าซในการผลิตสินค้าเดือนละ 6-8 แสนบาท ซึ่งจำเป็นต้องใช้ก๊าซหุงต้มปริมาณมากในการประกอบอาชีพ

บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นปัญหาของชุมชน จึงก่อสร้างโรงเรือนแปรรูปผลิตภัณฑ์ ติดตั้งระบบการส่งก๊าซและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมันดิบ (Associated Gas) ที่ฐานผลิตน้ำมันหนองตูม-เอ ให้สหกรณ์ในราคาถูก ทำให้ประหยัดค่าก๊าซได้กว่า 10 ล้านบาท

คนงานกำลังนำกล้วยรสเนยสินค้าขายดีใส่ถุงบรรจุภัณฑ์

พิมพร บานาน่า อินเตอร์ฟู้ดส์

สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัดสุโขทัย

คุณพิมพร แจ่มโพธิ์ เป็นเกษตรกรปลูกกล้วยน้ำว้า ในพื้นที่ตำบลหนองตูม ปี 2538-2539 ประสบปัญหากล้วยน้ำว้าล้นตลาด ขายสินค้าได้ราคาถูก คุณพิมพรจึงนำกล้วยมาแปรรูปสร้างมูลค่าในรูปแบบต่างๆ ขายในยี่ห้อ Chips & Chill ขายทั้งในประเทศและส่งออก สินค้ามีคุณภาพดีเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในวงกว้าง ปี 2564 ทางบริษัทได้รับรางวัลสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัดสุโขทัย (SME Provincial Champions) จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

คุณพิมพร ประธานบริษัท พิมพร บานาน่า อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น กล้วย มัน เผือก ฟักทอง ขนุน นำมาแปรรูปได้วันละ 3,000 กิโลกรัม ส่งขายในประเทศ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่งออก 50 เปอร์เซ็นต์ บริษัทให้ความสำคัญกับการยกระดับการผลิตสินค้า และใช้ประโยชน์จาก FTA สร้างแต้มต่อขยายตลาดส่งออกไปจีน เนื่องจากจีนไม่เก็บภาษีศุลกากรกับกล้วยแปรรูปที่ส่งออกจากไทย ภายใต้ FTA อาเซียน-จีน

ทุกวันนี้ บริษัท พิมพร บานาน่า อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเปิดร้านไทยพาวิลเลี่ยน จำกัด จำหน่ายสินค้าในสนามบินต้าชิง กรุงปักกิ่ง และขายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ “เถาเป่า” และ “พินตัวตัว” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ขนาดใหญ่ของจีน มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีรายได้กว่า 1.64 ล้านบาทต่อเดือน

บริษัท พิมพรฯ ได้รับรางวัลสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัดสุโขทัย

คุณอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมให้คำแนะนำบริษัท พิมพร บานาน่า อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด สมาชิกสหกรณ์กล้วยแปรรูปตำบลหนองตูม จำกัด ใช้ประโยชน์จาก FTA เจาะตลาดส่งออก การพัฒนาช่องทางการตลาด การสร้างแบรนด์ และพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ช่วยให้บริษัท พิมพรฯ ประสบความสำเร็จทางการตลาด สามารถขยายการส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน 16 ประเทศคู่ FTA ได้แก่ อาเซียน จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้ากล้วยแปรรูปจากไทย เหลือเพียงอินเดียที่เก็บภาษีกล้วยแปรรูปที่อัตราร้อยละ 30 และเกาหลีใต้ที่เก็บภาษีในอัตรา 36 เปอร์เซ็นต์ สำหรับภายใต้ความตกลง RCEP เกาหลีใต้ ลดภาษีนำเข้ากล้วยแปรรูปเพิ่มเติมให้ไทย โดยกล้วยที่ทำไว้ไม่ให้เสียโดยน้ำตาลจะทยอยลดลงจนเป็นศูนย์ในปีที่ 15 หลังความตกลงมีผลบังคับใช้ ส่วนกล้วยบรรจุในภาชนะที่อากาศเข้าออกไม่ได้ จะทยอยลดลงจนเป็นศูนย์ในปีที่ 20 หลังความตกลงมีผลบังคับใช้