ขมิ้นชัน กับ PM 2.5

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นปัญหากระทบต่อสุขภาพ มีสมุนไพรทางเลือกหลากหลายชนิดที่มีข้อมูลว่าช่วยต้านพิษจากฝุ่น PM 2.5 ได้ เช่น หญ้าดอกขาว รางจืด มะขามป้อม ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น

ขมิ้นชัน

ในคอลัมน์นี้ ผู้เขียนจึงขอนำเสนอสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งคือ ขมิ้นชัน จากการศึกษาพบว่า การรับประทานแกงที่มีขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบ มีผลดีต่อระบบทางเดินหายใจ ช่วยเพิ่มสมรรถภาพของปอด และเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง ขมิ้นชันจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ผู้เขียนอยากแนะนำให้ประชาชนได้ใช้ดูแลสุขภาพในช่วงวิกฤตของสถานการณ์มลพิษจากฝุ่นละออง

การศึกษาเกี่ยวกับอาหารที่มีขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบกับการทำงานของปอดในผู้สูงอายุชาวเอเชีย

ปัจจุบัน งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสารอาหารที่มีผลต่อสุขภาพระบบทางเดินหายใจในมนุษย์ยังมีไม่ชัดเจนนัก ในขมิ้นชันมีสารเคอร์คูมินที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบที่ดี และมักถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารของชาวเอเชียเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นที่มาของแกงที่มีขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบกับการทำงานของปอดในผู้สูบบุหรี่ ผู้เคยสูบบุหรี่ และผู้ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นผู้สูงอายุชาวจีน จำนวน 2,478 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป

ผลการศึกษาพบว่า การบริโภคแกงที่มีขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบ อย่างน้อยเดือนละครั้ง มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับค่าสมรรถภาพของปอด (FEV1 และ FEV1/FVC) ที่ดีขึ้น การเพิ่มปริมาณการบริโภคแกง วัดจากความถี่ของการบริโภค ไม่บ่อยหรือน้อยตามโอกาส บ่อยและบ่อยมาก) มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับค่าเฉลี่ยของสมรรถภาพของปอดที่สูงขึ้น หมายความว่า ยิ่งบริโภคแกงที่มีขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบมาก สมรรถภาพของปอดยิ่งสูงมากขึ้น

และผลการศึกษาระหว่างกลุ่มที่บริโภคแกงที่มีขมิ้นชันและกลุ่มที่ไม่บริโภคแกงพบว่า ค่าสมรรถภาพของปอด (FEV1) มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูบบุหรี่และผู้เคยสูบบุหรี่ ค่าเฉลี่ยสมรรถภาพของปอด ในผู้ที่บริโภคแกงที่มีขมิ้นชันเพิ่มขึ้น 9.2% ส่วนในกลุ่มผู้เคยสูบบุหรี่ ค่าเฉลี่ยสมรรถภาพของปอดเพิ่มขึ้น 10.3% และในกลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่ ค่าเฉลี่ยสมรรถภาพของปอดเพิ่มขึ้น 1.5%

ฟ้าทะลายโจร

จากผลการศึกษาจะเห็นว่าสารเคอร์คูมินในขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการป้องกันการถูกทำลายของปอด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูบบุหรี่และผู้เคยสูบบุหรี่ ซึ่งควรได้รับการศึกษาทางคลินิกต่อไป

เมนูแนะนำที่มีขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบ เช่น แกงส้มปักษ์ใต้ แกงเหลือง ไก่ต้มขมิ้น ปลาทูต้มขมิ้น เป็นต้น

ข้อควรระวัง ผู้ที่แพ้พืชในวงศ์ ZINGIBERACEAE (ขิง ข่า) ควรระวังการรับประทานอาหารที่มีขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบ

มะขามป้อม

ขอบคุณข้อมูลจาก ภญ.อัญชิสา กัทลี คอลัมน์พืชใกล้ตัว อภัยภูเบศรสาร ปีที่ 18 ฉบับประจำเดือนมีนาคม 2564