วังน้ำเขียว ปลูกเบญจมาศปลอดโรค เกษตรกรปลื้ม รายได้เพิ่ม 20-70%

“เบญจมาศ” เป็นไม้ตัดดอกที่มีมูลค่าการผลิตสูง ติดอันดับ 1 ใน 4 อันดับแรกของไม้ตัดดอกทั่วโลก มียอดการซื้อขายทั่วโลกปีละหลายพันล้านบาท โดยแหล่งผลิตเบญจมาศที่สำคัญของโลก ได้แก่ ประเทศเนเธอร์แลนด์ โคลัมเบีย แอฟริกาใต้ สเปน อิสราเอล สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม และจีน

สำหรับประเทศไทยสามารถปลูกเบญจมาศในหลายพื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย นนทบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย และนครราชสีมา แต่พื้นที่ปลูกก็มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสายพันธุ์เบญจมาศที่ใช้เป็นต้นพันธุ์ดั้งเดิม มีการปลูกเลี้ยงมายาวนาน และใช้พื้นที่ปลูกเดิมแบบซ้ำๆ กันมาหลายปี ทำให้มีการสะสมโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งไวรัส ทำให้การผลิตเบญจมาศลดน้อยลง นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่มีการพัฒนาเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ๆ ออกสู่ท้องตลาด ทำให้ไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคได้

ทุ่งดอกเบญจมาศ พื้นที่ อบต.ไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เล็งเห็นปัญหาในการผลิตเบญจมาศ จึงเกิดแนวคิดพัฒนาสายพันธุ์เบญจมาศและระบบการผลิตต้นกล้าที่ปลอดโรค เพื่อลดปัญหาทางด้านลิขสิทธิ์สายพันธุ์ โรคและแมลงที่ติดมากับต้นพันธุ์เบญจมาศ เพื่อสร้างประโยชน์แก่อุตสาหกรรมการผลิตเบญจมาศของไทยและพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการผลิตเบญจมาศให้มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

ทีมนักวิจัยเรื่องไม้ดอกไม้ประดับ ของ วว.

วว. ได้ร่วมมือกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยารายภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ โดยได้รับสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการพัฒนาระบบการผลิตเบญจมาศปลอดโรคเชิงพาณิชย์ ภายใต้แผนโครงการ การพัฒนาศักยภาพการผลิต และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต ลิเซียนทัส เบญจมาศ และไทร ในปี พ.ศ. 2563-2564

ผศ.ดร.ณัฐพงค์ จันจุฬา หัวหน้าโครงการวิจัยเบญจมาศปลอดโรค

กว่า 10 ปี ที่ วว. ใช้องค์ความรู้ ประสบการณ์ และทรัพยากรพันธุกรรมเบญจมาศจากสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นวัตถุดิบต้นแม่พันธุ์ นำมาพัฒนาให้เกิดการกลายพันธุ์และสร้างสายพันธุ์ใหม่ๆ กว่า 30 สายพันธุ์ โดยเก็บข้อมูลการเจริญเติบโต ความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ประเมินศักยภาพของสายพันธุ์ ความเหมาะสมทั้งด้านสีสัน รูปทรงดอก ความคงทนของดอก และต้านทานโรค จนคัดเลือกสายพันธุ์เบญจมาศที่มีคุณสมบัติเหมาะสม นำไปส่งเสริมเกษตรกรปลูกขยายพันธุ์เบญจมาศเพื่อจำหน่ายเป็นไม้ตัดดอกประดับแจกัน และการปลูกเลี้ยงแบบไม้ดอกในกระถาง

ต้นพันธุ์เบญจมาศปลอดโรคจากห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

ชมเบญจมาศบานในม่านหมอก

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำผลผลิตจากงานวิจัย “การพัฒนาระบบการผลิตพันธุ์เบญจมาศปลอดโรคเชิงพาณิชย์” ของนักวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เข้าร่วมงาน “เบญจมาศบานในม่านหมอก ครั้งที่ 20” ที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก วช. เพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเบญจมาศให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.ณัฐพงค์ จันจุฬา นักวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เล็งเห็นความสำคัญและปัญหาของเกษตรกรไทย ในการเพาะพันธุ์ไม้ดอกเบญจมาศ ที่มีการใช้ต้นพันธุ์เก่ามาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ต้นเบญจมาศมีความอ่อนแอต่อโรคและแมลง จึงได้ปรับปรุงพันธุ์ดอกเบญจมาศให้ปลอดโรค รวมทั้งส่งเสริมการปลูกตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ พร้อมส่งต่อให้เกษตรกรนำไปทดลองปลูกพบว่า ดอกเบญจมาศมีความแข็งแรง ทนทานต่อโรคได้มากขึ้น สามารถลดต้นทุนด้านปุ๋ยและยา และสร้างรายได้มากขึ้น 20-70%

เบญจมาศสีสันแปลกตา ผลงานปรับปรุงพันธุ์จาก วว.

เนื่องจากตลาดไม้ดอกไม้ประดับ เป็นเรื่องของแฟชั่นตามยุคสมัย การปลูกไม้ดอกจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้บริโภคเป็นหลัก ทีมวิจัยได้นำตัวอย่างพันธุ์เบญจมาศมาวิเคราะห์หาสาเหตุตัวก่อโรคในภาคสนาม ที่แปลงปลูกและแม่พันธุ์ ก่อนตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ได้พันธุ์เบญจมาศที่ปราศจากเชื้อรา แบคทีเรีย และเชื้อไวรัส จากนั้นจึงทำการเพาะเลี้ยงกลีบดอกเบญจมาศในหลอดทดลอง จนกลีบดอกพัฒนาเป็นต้นอ่อน จึงทำการตรวจโรคด้วยเทคนิค RT-PCR เพื่อตั้งแม่พันธุ์ที่ปลอดโรคก่อน

สายพันธุ์เบญจมาศที่ผ่านการคัดเลือกจาก วว.

หลังจากนั้นทำการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนก่อนทำการย้ายต้นพันธุ์ออกสู่ Clean Nursery เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพ สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรค ก่อนมอบให้กับเกษตรกรกว่า 60 ราย ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย เลย อุดรธานี อุบลราชธานี และจังหวัดนครราชสีมา เพื่อทำการคัดเลือกและประเมินพันธุ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค และนำไปสู่กระบวนการผลิตเบญจมาศที่ปลอดโรคเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืนก่อนมอบให้กับเกษตรกรกว่า 60 ราย ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ เลย อุดรธานี อุบลราชธานี และนครราชสีมา ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้น 20-70% จากการใช้เบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ๆ และปลอดโรค และต่อเนื่อง ในปี 2565 นี้ได้ดำเนินการขยายพื้นที่เพิ่มอีก 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา และลำปาง เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการผลิตเบญจมาศอย่างยั่งยืนในประเทศไทย

วว. ส่งมอบต้นพันธุ์เบญจมาศปลอดโรคให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตเบญจมาศ

ปลูกเบญจมาศปลอดโรค

ลดต้นทุน ได้ผลกำไรสูง

คุณเกียรติศักดิ์ กตกุลสัญญา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 9 ตำบลมะเกลือใหม่ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา แกนนำกลุ่มคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับของจังหวัดนครราชสีมา ที่ปลูกเบญจมาศมานานกว่า 20 ปี กล่าวว่า ทีมนักวิจัย วว. ได้เข้ามาแนะนำให้ความรู้เรื่องการปลูกเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ปลอดโรค จากเชื้อราและแบคทีเรีย ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงและได้ผลผลิตคุณภาพดี ทำให้ได้ผลกำไรเพิ่มสูงขึ้น เฉลี่ย 100,000 บาทต่อไร่

การปลูกเบญจมาศในเชิงพาณิชย์มีศักยภาพสามารถเติบโตได้อีกไกล โดยสายพันธุ์ใหม่ของ วว.ที่เกษตรกรปลูกอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์โมนา, ขาวญี่ปุ่น, คาเมล และ F44 เป็นต้น ซึ่งการเพาะเนื้อเยื่อไว้จำนวนหลายร้อยพันธุ์ของ วว. เอื้อประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมเบญจมาศของไทยเนื่องจากเบญจมาศเป็นไม้ประดับยอดนิยมที่ตลาดมีความต้องการสูงตลอดปี ปลูกได้ปีละ 3 รุ่น ทำให้มีผลกำไรสูงถึงปีละ 300,000 บาทต่อไร่

คุณเกียรติศักดิ์ กตกุลสัญญา

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัย วว. พยายามศึกษาแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่มเบญจมาศคุณภาพเกรดรอง ในรูปแบบต่างๆ เช่น ชาดอกเบญจมาศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มเกษตรกรอยากให้ทีมนักวิจัยปรับปรุงเบญจมาศสีขาว สีเหลือง ซึ่งเป็นสินค้าเก่าที่ได้รับความนิยมจากตลาดตลอดทั้งปี ให้กลายเบญจมาศพันธุ์ปลอดเชื้อเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสทางการขายในอนาคต

ทีมนักวิจัย วว. และ วช. ได้ร่วมกันดำเนินแผนโครงการ “การพัฒนาศักยภาพการผลิต และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต ลิเซียนทัส เบญจมาศ และไทร พ.ศ. 2563-2564” ให้การสนับสนุนต้นพันธุ์เบญจมาศปลอดโรคกว่า 20,000 ต้น เพื่อใช้เป็นแม่พันธุ์ทดแทนสายพันธุ์เดิมที่อ่อนต่อโรคแก่เกษตรกร และเป็นแม่พันธุ์ใหม่ในกระบวนการผลิตเป็นเบญจมาศตัดดอก โดยในปี 2566 จะขยายผลพันธุ์เบญจมาศแก่เกษตรกรเพิ่มอีก ราว 50,000 ต้น รวมทั้งเตรียมคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่ภาคใต้อีกด้วย