กรมชลประทาน เตรียมแผนรับมือน้ำเค็มรุกเจ้าพระยา-บางประกง

กรมชลประทาน จับมือกรุงเทพมหานคร การประปานครหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนรับมือน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 28 มีนาคม-3 เมษายน 2565 นี้ เพื่อลดผลกระทบจากน้ำเค็มรุกแม่น้ำเจ้าพระยา-บางปะกง

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้มีการเตรียมความพร้อมโดยวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงวันที่ 28 มีนาคม-3 เมษายน 2565 โดยกำหนดมาตรการควบคุมความเค็ม ด้วยการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ และควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ตลอดจนดูแลควบคุมการระบายน้ำผ่านอาคารชลประทานที่สำคัญ อาทิ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนพระรามหก รวมทั้งการระบายน้ำจากคลองพระยาบรรลือผ่านทางสถานีสูบน้ำพระยาบรรลือและสถานีสูบน้ำสิงหนาท 2 ให้มีความสอดคล้องกับระดับการขึ้น-ลงของน้ำทะเล

สำหรับพี้นที่แม่น้ำบางปะกง กรมชลประทาน ได้ใช้วิธีการควบคุมความเค็มโดยการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำทางตอนบนของลุ่มน้ำบางปะกง-ปราจีนบุรี ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อ่างเก็บน้ำคลองระบม อ่างเก็บน้ำคลองพระสทึง และอ่างเก็บน้ำคลองพระปรง ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และสามารถพิจารณาปรับเพิ่มหรือลดการระบายน้ำให้สอดคล้องได้ตามสถานการณ์

รวมทั้งมีการพิจารณาในจุดเฝ้าระวังและกำหนดจุดควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำบางปะกง-ปราจีนบุรี มาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมไปจนถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการช่วยเหลือการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก และปราจีนบุรี รวมไปถึงการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาฉะเชิงเทรา ด้วย

ซึ่งปัจจุบันได้ทำการควบคุมค่าความเค็มที่จุดสูบน้ำการประปาส่วนภูมิภาค สาขาปราจีนบุรี และประตูระบายน้ำหาดยาง อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ไม่ให้เกิน 1 กรัมต่อลิตร เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา และกิจกรรมการใช้น้ำของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้มีการเตรียมแผนเพื่อควบคุมค่าความเค็มตลอดฤดูแล้งนี้ ร่วมกับสำนักการระบายน้ำ (กทม.) การประปานครหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากการคาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุนของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด