กุลเดช พัวพัฒนกุล เสริมแกร่งยางพาราไทย พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเกษตรกรมีรายได้ยั่งยืน

ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยพื้นที่ปลูกยางพารามีมากในหลายจังหวัดของประเทศ จึงทำให้พืชอย่างยางพาราสามารถใช้ประโยชน์ทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้งานวิจัยและการสนับสนุนส่งเสริมในพืชชนิดนี้มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเกิดรายได้ที่ยั่งยืน และสามารถสร้างความมั่นคงทางอาชีพที่ส่งต่อไปให้กับลูกหลานสามารถทำกินบนที่ดินของตัวเองได้

คุณกุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า การยางแห่งประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีการจัดการกระบวนเกี่ยวกับยางพาราทั้งประเทศ โดยบทบาทที่สำคัญมีทั้งการทำงานทางด้านการวิจัยและงานสนับสนุนส่งเสริมเพื่อยางพาราของไทยมีคุณภาพ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งการทำงานนี้เองเป็นผลอันเกิดจากการทำงาน รวมกันของ 3 องค์กร ได้แก่ สถาบันวิจัยยาง องค์การสวนยาง และสำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยาง มีการทำงานกันอย่างเป็นระบบที่ช่วยแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตหรือปัญหาต่างๆ ในแต่ละปี

คุณกุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย

“อย่างช่วงโควิดที่ผ่านมาในระยะแรกๆ ธุรกิจยางพารามีการซื้อขายลดลงบ้าง เพราะในหลายๆ ประเทศ มีการปิดประเทศ จึงทำให้การส่งออกมีการขนส่งที่ไม่เพียงพอ ทำให้เส้นทางการเดินเรือมีช้าลง ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคายางพารา เพราะในบ้านเรา ผลผลิตยางพารากว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นสินค้าส่งออกเป็นส่วนใหญ่ และอีก 30 เปอร์เซ็นต์เป็นสินค้าที่ใช้เองภายในประเทศ จึงทำให้ราคายางพารามีบางช่วงที่ยังไม่มีเสถียรภาพในเรื่องของราคา การยางแห่งประเทศไทยจึงได้เข้าไปดูแลและมีการพยุงราคา เพื่อให้ราคายางพาราเป็นราคาที่เกษตรกรยังสามารถอยู่ได้ และมีผลกำไรจากการจำหน่าย” คุณกุลเดช กล่าว

ถาดเพาะกล้าจากยางพารา

จากการแก้ปัญหาราคายางที่ไม่เสถียรภาพนี้เอง คุณกุลเดช กล่าวต่อให้ฟังว่า จึงเกิดโครงการที่เป็นรูปธรรมเพื่อทำให้เกษตรกรยังมีความมั่นคงทางรายได้จากการจำหน่ายยางพารา อาทิ โครงการชะลอขายยาง เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคายางพารา รวมไปถึงในเรื่องของการปรับเปลี่ยนอัตราการปลูกยางพาราต่อไร่ ให้มีจำนวนที่น้อยลงหรือเหมาะสมและสามารถนำพืชชนิดอื่นเข้าไปปลูกรวมกับยางพาราได้ ไม่ว่าจะเป็นพืชจำพวกกาแฟ โกโก้ หรือพืชอย่างกระท่อมที่ปลดล็อกไม่นานมานี้ ก็ช่วยให้เกษตรกรเกิดรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการปลูกยางพาราได้ดี

ซึ่งจากการวิจัยที่ได้ทดลองการปลูกยางพาราให้มีจำนวนต้นที่เหมาะสมนั้น จากเดิมที่เคยปลูกอยู่ที่ 70 ต้นต่อไร่ ลดจำนวนต้นปลูกลงมาให้เหลืออยู่ที่ 40 ต้นต่อไร่ สามารถให้น้ำยางที่ไม่แตกต่างกัน และเกษตรกรชาวสวนยางพารายังสามารถปลูกพืชอื่นๆ ร่วมกับการทำสวนยางพาราได้อีกด้วย โดยเฉพาะตอนนี้มีเกษตรกรในหลายพื้นที่มีการเลี้ยงปศุสัตว์ภายในสวนยางพารา จึงช่วยให้เกษตรกรเกิดรายได้หลากหลายช่องทางจากการทำเกษตรที่ไม่ได้รับจากการกรีดยางเพียงอย่างเดียว จึงเป็นการสร้างความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“เรามีศูนย์วิจัยเกี่ยวกับยางพารา มีงานวิจัยและทำการวิจัยกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการแปรรูปยางพารา เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งหาช่องทางการใช้ยางพาราให้มากขึ้น เพื่อเป็นการรักษาระดับของราคายางพาราให้ได้ ปัจจุบันเราได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคม ใช้ยางพารามาทำอุปกรณ์ด้านการจราจรต่างๆ รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เอง ก็ได้ให้ทางกรมชลประทานใช้ยางพาราไปเป็นส่วนผสมกับการทำถนนเหนือคลองชลประทาน ทำให้ถนนมีความแข็งแรงมากขึ้น จากเดิมที่เป็นถนนที่มีฝุ่นก็ปราศจากฝุ่น ทำให้สะดวกต่อการสัญจรมากขึ้น จุดนี้เองจึงทำให้ผลผลิตทางยางพาราได้ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง และเป็นการช่วยให้ยางพาราได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่องภายในประเทศ” คุณกุลเดช กล่าว

สำหรับในเรื่องของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ คุณกุลเดช กล่าวว่า ยางพาราที่ชาวสวนผลิตออกมา ทางการยางแห่งประเทศไทยได้มีการสร้างมาตรฐานและควบคุมคุณภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีคุณภาพสูงสุด จึงได้มีการพัฒนายางพาราให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ในต่างประเทศ โดยมีการผลิตยางเครปซึ่งมีคุณภาพที่ดีกว่ายางแท่งและมีราคาที่ถูกกว่า เป็นสินค้าที่ผู้ผลิตล้อรถยนต์ค่อนข้างให้ความสนใจเป็นอย่างมากในยางเครป

ดังนั้น ในการจัดงานมหกรรมยางพาราในครั้งนี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นอกจากจะจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของงานวิจัย และนวัตกรรมที่เกี่ยวกับยางพาราแล้ว ยังได้เชิญชวนผู้ที่ทำธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ให้มีการเจรจาร่วมจับคู่ธุรกิจทางการค้าได้มาพบปะเจอกันภายในงานนี้ เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยาง นักธุรกิจ นักลงทุนในสายต่างๆ ได้มาติดต่อซื้อขายกันภายในงานนี้ วิธีนี้จึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางการขยายตลาดให้กว้างขึ้น เพื่อให้มีการใช้ยางพาราทั้งในและต่างประเทศได้ต่อเนื่องและเกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง

“ในอนาคตต่อไป ทางการยางแห่งประเทศไทย เราเองก็เตรียมความพร้อม เตรียมเสริมความแกร่งให้กับการยางแห่งประเทศไทย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของเรามีความเข้มแข็ง จากนั้นก็เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ไปให้กับพี่น้องเกษตรกรต่อไป การจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีการทำงานที่เป็นระบบและได้มาตรฐาน เพื่อให้ราคายางพารามีเสถียรภาพ ดังนั้น ในเรื่องของการตลาดเราจึงใส่ใจและมุ่งมั่นที่จะดูแลพี่น้องชาวสวนยางได้รับผลประโยชน์มากที่สุด ดังนั้น ก็ขอเชิญชวนนะครับงานมหกรรมยางพารา ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง พี่น้องประชาชนทั่วไป หรือภาคธุรกิจ ให้มาเที่ยวงานมหกรรมครั้งนี้ด้วยกัน” คุณกุลเดช กล่าว

สำหรับท่านที่สนใจเกี่ยวกับองค์ความรู้และข้อมูลการปลูก และการแปรรูปยางพาราแบบครบวงจร ห้ามพลาด! “มหกรรมยางพารา” จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2565 ณ สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการยางแห่งประเทศไทย