“มหกรรมยางพารา 2564” วันที่สอง กยท. จัดเต็ม! กิจกรรมชวนลุ้น “กรีดยาง-นกกรงหัวจุก-ธิดาชาวสวนยาง”

ภาพรวมบรรยากาศ มหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” จัดโดย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ 9 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่สองของการจัดงาน ยังคงเป็นไปอย่างคึกคัก เกษตรกรสวนยางพาราและประชาชนทั่วไป ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง ทยอยมาร่วมงานอย่างหนาตาตลอดทั้งวัน เพื่อเข้าชมนิทรรศการสาระความรู้เกี่ยวกับยางพารา ฟังเวทีเสวนา และเข้าร่วมเวิร์กช็อป ที่สามารถนำไปใช้กับการทำสวนยางได้จริง รวมทั้งมาร่วมลุ้นร่วมเชียร์กิจกรรมต่างๆ มากมายตลอดทั้งวัน

ทั้ง การแข่งขันกรีดยางพาราชิงแชมป์ประเทศไทย การประกวดนกกรงหัวจุก และ การประกวดธิดาชาวสวนยาง 2564 สร้างสีสันให้มหกรรมยางพารา 2564 สนุกสนานยิ่งขึ้น โดยการจัดงานครั้งนี้ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน เป็นไปภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

จัดเต็มสาระความรู้ “ยางพารา” ครบวงจร 

มหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” นำเสนอนิทรรศการความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมยางพารา การแสดงขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น วิถีชาวสวนยาง มีการจัดแบ่งโซนนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ โซนนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ โซนนิทรรศการ นครฯ เมืองแห่งยางพารา โซนนิทรรศการพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี โซนนวัตกรรมยางพารา จากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทั้ง 7 เขตทั่วประเทศ

ภายในงานยังนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลในแวดวงการยาง อาทิ แอปพลิเคชั่น Rubber Way ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำสวนยาง รวมถึงแอปฯ Rubbee ที่ กยท. รวบรวมข้อมูลทุกด้านที่ควรรู้เกี่ยวกับยางพารา พร้อมอัพเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทั้งราคาซื้อ-ขาย ข่าวสารกิจกรรม สิทธิประโยชน์และโปรโมชั่นต่างๆ ที่สมาชิกจะได้รับภายในแอปฯ เดียว และยังมีโซนจับคู่ธุรกิจและเจรจาการค้า เพื่อส่งเสริมและผลักดันการค้ายางพาราไทยสู่การค้าระดับสากล

นอกจากนี้ ยังมีโซนเมืองนครฯ มาร์เก็ต ตลาดสินค้าชุมชนต้นแบบ ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้มีตลาดและคู่ค้าที่ขยายวงกว้างขึ้น ซึ่ง กยท. ได้รวบรวมสินค้าและผลิตภัณฑ์จากยางพารามาจัดแสดงและจำหน่าย พร้อมส่งเสริมอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ยางพาราท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักแก่ภูมิภาคอื่นๆ เป็นการพัฒนาธุรกิจยางพารา รวมทั้งช่องทางการตลาด ยางพาราทั้งระบบในอนาคตต่อไป

ชาวสวนยางจังหวัดพิษณุโลก ไม่พลาดร่วมงาน 

ร.ต.อ. สมพงษ์ พรหมมณี ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จังหวัดพิษณุโลก วัย 73 ปี กล่าวว่า ตนเองมีสวนยางขนาด 50 ไร่ และทำงานช่วยเหลือขับเคลื่อนชาวสวนยางอยู่แล้ว เมื่อทราบข่าวว่ามีมหกรรมยางพารา 2564 จึงเดินทางมาจากจังหวัดพิษณุโลก เพราะต้องการมาเยี่ยมชมนิทรรศการ และองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมต่างๆ เกี่ยวกับยางพารา หวังว่างานนี้จะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางจากทั่วทั้งประเทศได้พบปะพูดคุยสานสัมพันธ์กัน เพื่อประโยชน์ของชาวสวนยางทุกคนในอนาคต

“ภาคใต้เปรียบเสมือนเมืองหลวงของยางพารา แต่ก่อนชาวสวนยางอาจพูดคุยสนิทสนมกันเฉพาะในภูมิภาคเดียวกัน แต่งานนี้ทำให้ได้พบเจอชาวสวนยางจากทั่วประเทศ ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น รู้เขารู้เรา รู้ว่าต้องทำสวนยางอย่างไรจึงจะมีผลผลิตและได้ราคาดี และทำให้เราเดินไปข้างหน้าด้วยกันได้ หากใครสามารถเดินทางมาดูสิ่งที่น่าสนใจในงานนี้ได้ ก็อยากให้มากันเยอะๆ” ร.ต.อ. สมพงษ์ เชิญชวน

เปิดตัวกรวยยางอุดระเบิดเหมือง ผู้ว่าการ กยท. ปลื้ม กำชับเร่งจดสิทธิบัตร 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เดินทางมาดูแลความเรียบร้อยของการจัดงานส่วนต่างๆ ตั้งแต่เช้า พร้อมกล่าวทักทายและต้อนรับประชาชนที่มาร่วมงาน รวมทั้งร่วมในการเปิดตัวกรวยยางธรรมชาติอุดรูระเบิดเพื่อการเหมืองแร่ “FlexzBlast” ผลงานการวิจัยของคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ และสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ผ่านการทดสอบและทดลองใช้จริงในเหมืองแร่ 7 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช ยะลา และชุมพร

นายณกรณ์ เผยว่า ดีใจที่เห็นการวิจัย ทดลอง และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่ายางพาราให้เกษตรกรชาวสวนยางไทย และยังมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่ ช่วยลดความเสียหายในระยะยาวจากการระเบิดเหมืองรูปแบบเดิมได้มหาศาล ขอให้เร่งจดสิทธิบัตร และขอรับใบอนุญาต มอก. เพื่อจัดจำหน่ายจริง จะได้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนโดยเร็ว

รศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ม.อ. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีงานวิจัยเพื่อนำยางพารามาเพิ่มมูลค่าเป็นประจำ แต่อาจไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์มากเท่าที่ควร

“งานนี้ได้รับการสนับสนุนจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อหวังเป็นกลไกสำคัญที่จะนำผลิตภัณฑ์ยางพาราไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และจะช่วยต่อยอดให้เกิดการวิจัยพัฒนา สร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อยกระดับประเทศไทยอีกหลายประการตามมา”

ขณะที่ นายวัชรินทร์ ไชยานุพงศ์ อุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรวยอุดระเบิดจะช่วยลดแรงอัดด้านบนดินเวลาระเบิดเหมือง ลดการปลิวของหิน เพิ่มประสิทธิภาพการระเบิด ให้เกิดหินก้อนเล็กลง และง่ายต่อขั้นตอนการโม่ ค่าใช้จ่ายในการระเบิดเหมืองอาจสูงขึ้น เพราะต้องซื้อกรวยเหล่านี้มาใช้ แต่ก็แลกกับการลดจำนวนระเบิดที่ต้องใช้ และลดต้นทุนได้มหาศาลในระยะยาว

ผู้สนใจรับตัวอย่างกรวยยางอุดระเบิดไปทดลองใช้ฟรี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ม.อ. โทร. 074-282-267-69 และ บริษัท อิสระ โกลบอล เทคโนโลยี แอนด์ เซอร์วิส จำกัด โทร. 094-887-8978

อบรมการผลิตถุงมือเคลือบยาง สร้างอาชีพเสริมชาวสวนยาง

ด้านกิจกรรมเวิร์กช็อป “ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา” โดย ดร.จิณณ์ดี ทัฟฟรีย์ และ ดร.เอกวิทย์ เพียรอนุรักษ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช นั้น ดร.จิณณ์ดี ให้ความรู้เรื่องการผลิตถุงมือเคลือบยางว่า เป็นอาชีพทางเลือกที่น่าสนใจในขณะนี้ เพราะถุงมือเคลือบยางเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากขึ้น และมีหลายเกรดให้เลือกซื้อ เช่น ถุงมือคอตตอน (ฝ้าย) ไนลอน พอลิเอสเตอร์

ถุงมือเคลือบด้วยน้ำยางธรรมชาติ จะมีความแข็งแรง ชุบติดง่าย ราคาถูก ทนต่อความร้อนเพิ่มขึ้นได้โดยผสมสารเคมีลงไป แต่ไม่ทนน้ำมัน ดังนั้น การผลิตถุงมือผ้าเคลือบยาง จึงเป็นสินค้าใหม่ที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง เพราะน้ำยางมีค่ากว่าที่คิด โดยถุงมือผ้าเคลือบน้ำยางธรรมชาติสองชั้น เหมาะสำหรับงานก่อสร้างและภาคเกษตร มีราคาซื้อขายในต่างประเทศ คู่ละ 48-49 บาท

“การผลิตถุงมือเคลือบยางธรรมชาติ ทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก ถุงมือผ้าฝ้ายในท้องตลาด ราคาคู่ละ 5-6 บาท เมื่อผ่านกระบวนการเคลือบน้ำยาง สามารถขายได้คู่ละ 15-40 บาท ตามขนาดความหนาของน้ำยางที่นำมาใช้เคลือบ ถุงมือยางเป็นที่นิยมสูงในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจก่อสร้างและภาคเกษตร สินค้าตัวนี้จึงเป็นอาชีพที่น่าสนใจ ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรสวนยางได้ไม่ยาก” ดร.จิณณ์ดี กล่าว

นักวิชาการ-กยท. มั่นใจ องค์ความรู้ไทยใช้ได้จริง ใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่ายางพารา

ภายในงานมีการเสวนา หัวข้อ “นวัตกรรมยางพารา และอนาคตยางพาราไทย” ดำเนินรายการโดย ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

รศ.ดร.เจริญ นาคะสรรค์ อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และกรรมการ กยท. กล่าวตอนหนึ่งว่า นวัตกรรมหมายถึงสิ่งใหม่ ที่สร้างขึ้นจากความคิดแปลกใหม่ และนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง แต่การเกิดนวัตกรรมจำเป็นต้องเกิดองค์ความรู้ ที่ผ่านการลองผิดลองถูกเป็นเวลานานก่อน จึงจะสามารถนำไปใช้งานได้

“เราต้องเสริมสร้างการสร้างวัฒนธรรมในการคิดค้นนวัตกรรม เพื่อใช้แก้ปัญหาทุกภาคส่วนเกี่ยวกับยาง ตั้งแต่การปลูก การแปรรูป การดูแลรักษา เพื่อให้สิ่งที่เคยเป็นปัญหาได้รับการแก้ไขจนดีขึ้น เช่น การคิดค้นปุ๋ยสูตรใหม่ หาวิธีกรีดยางแบบใหม่ การใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยมาช่วยดูแลสวนยาง รวมถึงสิ่งที่หลายคนอาจไม่คิดว่าเป็นนวัตกรรม คือ สวนยางยั่งยืน ซึ่งเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการสวนยาง”

นายศุภเดช อ่องสกุล รองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า นวัตกรรมมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับเริ่มต้น ที่ทุกคนสามารถพัฒนาเองได้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต ใช้พลังงานน้อยลง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ระดับต่อมาคือ การเอาความรู้ที่คนอื่นทำได้ดีมาพัฒนาต่อ ซึ่งคนที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากในหลายแวดวงธุรกิจ มักไม่ใช่คนแรกที่ทำสิ่งเหล่านั้น เพราะองค์ความรู้ในปัจจุบันเกิดขึ้นเร็วมาก ทำให้คนที่มาทีหลังแซงคนมาก่อนได้ เป็นสิ่งที่ชาวสวนยางและผู้ประกอบการไทยทุกคนต้องตระหนักและตื่นตัวเสมอ

“ประเทศไทยมีความรู้เรื่องยางพารา มีความรู้งานวิจัยมานาน เรารวบรวมข้อมูลที่มีประโยชน์มาต่อยอด เราบอกไม่ได้ว่าความรู้ของเราเป็นที่ 1 ในเรื่องยาง เพราะหลายประเทศต่างก็เคลมว่า มีองค์ความรู้ที่เยอะกว่า แต่เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน ผมขอย้ำว่า ประเทศไทยต้องไม่หยุดทำสิ่งที่ดีขึ้น เพื่อให้คุณภาพยางพาราดีขึ้น และมีความสม่ำเสมอ”

งานเสวนานี้ ยังมี นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการด้านบริหาร การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และ ผศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องนวัตกรรมยางพารากับชาวสวนยางด้วยเช่นกัน

รมว.เกษตรฯ เปิดมหกรรมยางพารา 2564 สุดยิ่งใหญ่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พิธีเปิดมหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ ในเวลา 18.00 น. วันที่ 9 เมษายน โดยมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี พร้อมกล่าวเปิดงานในหัวข้อ “นวัตกรรมยางพาราไทย กับเศรษฐกิจยุคใหม่”

ทั้งนี้มี นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานกรรมการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและเอกชนที่สนับสนุนการจัดงาน เข้าร่วมพิธีเปิด

หลังทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว รมว.เกษตรฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการและซุ้มต่างๆ ด้วยความสนใจ พร้อมร่วมถ่ายภาพกับประชาชนที่เข้าร่วมงานอย่างเป็นกันเอง และร่วมเปิดตัวแอปพลิเคชั่น Rubbee แอปฯ ที่เกษตรกรสวนยางสามารถเช็กข้อมูลต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์ และสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ กยท. ได้อย่างรวดเร็วทันใจ

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า พึงพอใจในงานมหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” ที่จัดขึ้น เพราะมีการจัดแสดงนิทรรศการ และนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่มีประโยชน์ต่อชาวสวนยาง ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร ผู้แปรรูป มาพูดคุยและเจรจาธุรกิจร่วมกัน ซึ่งจะช่วยขยายปริมาณความต้องการของยางเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

รมวเกษตรฯ ยังย้ำด้วยว่า 1 ปีจากนี้ก่อนหมดวาระ จะทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยจากการเป็นผู้ตาม สู่การเป็นผู้นำด้านการยางในเวทีโลกให้จงได้

“อีก 1 ปีจากนี้ จะเดินหน้าทำงานตลอด จะรักษาเสถียรภาพราคายางให้มากที่สุด และเร่งขยับขยายในส่วนนโยบาย ขอพี่น้องเชื่อใจในการทำงานอย่างทุ่มเท เพราะสิ่งที่ต้องการก็คือ พัฒนาการของอุตสาหกรรมยางพารา และหวังว่าจะเราการก้าวไปเป็นผู้นำ ไม่เป็นผู้ตามอีกต่อไป” รมว.เกษตรฯ ยืนยัน

สุดมัน “แข่งขันกรีดยาง-ประกวดนกกรงหัวจุก-ประชันธิดาชาวสวนยาง” 

มหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” วันที่สอง ยังมีหลากหลายกิจกรรม ที่สร้างความเพลิดเพลินให้เกษตรกรชาวสวนยางและประชาชนทั่วไป ได้ร่วมลุ้นและร่วมเชียร์

เริ่มด้วยกิจกรรมแข่งขันกรีดยางพาราชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 70,000 บาท โดย ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางทั้ง 7 เขตจากทั่วประเทศ อาทิ เชียงราย บึงกาฬ ยะลา ฯลฯ รวม 60 คน ลงแข่งขันรอบคัดเลือกในช่วงเช้า และแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในช่วงบ่าย

หลักเกณฑ์การตัดสิน ผู้แข่งขันต้องกรีดยางให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีดกรีดถึงท่อน้ำยางใกล้เยื่อเจริญไม่บาดเนื้อไม้ หน้ายางเรียบสม่ำเสมอ ความหนาบางของเปลือกที่ถูกกรีดบาง 2 มิลลิเมตร และรักษามุมกรีด 30 องศา ผู้ชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลพร้อมเงินรางวัล จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้ ผู้ชนะอันดับที่ 1-3 จะได้รับมอบผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มคาราบาวแดง จาก บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการจัดแข่งขันกรีดยางพาราครั้งนี้อีกด้วย

ในงานยังมีการประกวดนกกรงหัวจุก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวสวนยางภาคใต้ โดยมีเกษตรกรชาวสวนยางและประชาชนในพื้นที่ที่สนใจ ร่วมส่งนกกรงหัวจุกเข้าแข่งขันกว่า 150 ตัว พร้อมส่งเสียงเชียร์และลุ้นกันอย่างสนุกสนาน

ส่วนช่วงค่ำ มีการประกวด “ธิดาชาวสวนยาง 2564” ชิงมงกุฎ สายสะพาย ถ้วยรางวัล และเงินสดรวมมูลค่ากว่า 120,000 บาท ปิดท้ายเวทีความบันเทิง ด้วยการแสดงจากศิลปิน “วงพัทลุง” ที่รู้จักกันดีจากเพลงดัง “มหาลัยวัวชน”

กยท. จังหวัดบึงกาฬ มาแรง! คว้ากรีดยาง 2 รางวัล

หลังโชว์ทักษะและฝีไม้ลายมือการกรีดยางกันตั้งแต่เช้า ท่ามกลางเสียงเชียร์อย่างสนุกสนานของผู้เข้าชมงาน ในที่สุดการแข่งขันกรีดยางพาราชิงแชมป์ระดับประเทศ ก็ได้ผู้ชนะเลิศ คือ นายสมร ศรีดี สังกัด กยท. จังหวัดบึงกาฬ คว้าเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณไปครอง

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ นายภิญโญ ฉิมปากแพรก สังกัด กยท. จังหวัดชุมพร ได้เงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ นายราวี ไชยสุข สังกัด กยท. จังหวัดบึงกาฬ ได้เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ และรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้รับเงินรางวัลคนละ 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ นายวาลี อูเซ็ง สังกัด กยท. จังหวัดเชียงราย และ นายสุรเขตต์ สุวัตถี สังกัด กยท. จังหวัดกำแพงเพชร

นายสมร กล่าวด้วยความดีใจหลังคว้าแชมป์ว่า มีประสบการณ์กรีดยางตั้งแต่อายุ 15 ปี จนปัจจุบันอายุ 28 ปีแล้ว ฝึกฝนการกรีดยางมาเรื่อยๆ จนได้แชมป์กรีดยางระดับอาเซียน ที่จังหวับึงกาฬ เมื่อปี 2559 แม้ครั้งนี้อาจโชว์ฝีมือไม่ดีเท่าตอนได้แชมป์อาเซียน แต่ก็ภูมิใจกับความสำเร็จในวันนี้มากๆ

“การแข่งขันครั้งนี้ มีนักกรีดยางเดินทางมาจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทุกคนต่างมีประสบการณ์ ต่างเคยเป็นแชมป์หลายเวทีกันมาก่อน การได้แข่งกับทุกคนเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามากครับ ขอขอบคุณการยางแห่งประเทศไทย ที่เชิญมาแข่งในงานนี้ หลังจากนี้ยังไม่มีแผนว่าจะไปแข่งที่ไหนต่อ แต่ถ้ามีโอกาสก็พร้อมสู้เสมอครับ”

ตั้งเป้าจัดแข่งขันกรีดยางชิงแชมป์ระดับโลก ย้ำบัลลังก์เจ้ายุทธจักรยาง 

นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการด้านบริหาร การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในฐานะประธานพิธีเปิดการแข่งขันกรีดยางพาราชิงแชมป์ประเทศไทย กล่าวว่า หลักการกรีดยางที่ดี ต้องกรีดให้ได้น้ำยางมาก หน้ายางเสียหายน้อยที่สุด กรีดให้เปลืองหน้ายางน้อยที่สุด และกรีดยางให้ประหยัดที่สุด อาชีพการกรีดยาง ไม่ใช่ใครก็ทำได้ ต้องอาศัยทักษะฝีมือ หากกรีดยางพาราไม่ถูกต้องและไม่ถูกวิธี อาจทำให้ต้นยางพาราได้รับความเสียหาย ผลผลิตน้ำยางน้อย และไม่สามารถให้ผลผลิตน้ำยางในระยะยาว

ดังนั้น กยท. จึงจัดโครงการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ หลักสูตรการกรีดยางอย่างถูกวิธี เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถในการเปิดกรีดยางให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ทำให้สวนยางที่เปิดกรีดมีอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวนาน คุ้มค่ากับการลงทุนปลูก

“กยท. เคยจัดประกวดแข่งขันกรีดยางครั้งแรก ที่จังหวัดสงขลา เมื่อปี 2535 หลังจากนั้นขยายการแข่งขันระดับประเทศ และชิงแชมป์กรีดยางระดับอาเซียน โดยเชิญเกษตรกรสวนยางจากอินโดนีเซีย ลาว พม่า บรูไน มาร่วมแข่งขันกรีดยางที่ประเทศไทย ต่อมาเจอปัญหาโควิด จึงต้องหยุดไป แต่ในอนาคต กยท. คาดหวังว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันชิงแชมป์ระดับโลกอีกครั้ง เพื่อตอกย้ำบทบาทของไทยในการเป็นเจ้าแห่งยุทธจักรยาง รวมทั้งประชาสัมพันธ์บทบาทและวิสัยทัศน์ของ กยท. ในฐานะองค์กรผู้นำด้านยางพาราระดับโลกอีกทางหนึ่ง”

เกษตรกรชาวสวนยางพาราและประชาชนที่สนใจ สามารถเข้าร่วมงานมหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” จัดโดย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ถึงวันที่ 10 เมษายนนี้ ที่สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด