กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านทุ่งขี้เหล็ก ตรัง ส่งเสริม 11 ฐานเรียนรู้ พัฒนาสู่อาชีพ

เด็กและเยาวชน ถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนในทุกมิติให้สามารถรับมือและเท่าทันโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยที่จะเข้าถึงสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เมื่อพิจารณาคุณภาพการพัฒนาเด็กและเยาวชนพบว่ายังมีประเด็นท้าทายของการพัฒนาและส่งผลกระทบต่อเนื่องกับภาคการเกษตรของไทย

กลุ่มยุวเกษตรกร

และเพื่อให้เกิดความปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพการเกษตรและยอมรับว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติและมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ส่งเสริมและพัฒนาภาวะผู้นำ รวมถึงให้เยาวชนได้มีความรู้ทักษะด้วยการปฏิบัติจริงและนำไปประยุกต์ใช้ทันตามสถานการณ์โลกปัจจุบัน

จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งและการดำเนินงานของกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านทุ่งขี้เหล็ก หมู่ที่ 6 ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ซึ่งจัดตั้งเป็นกลุ่มยุวเกษตรกรเมื่อปี พ.ศ. 2555 ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก 32 คน โดยมี นางสร้อยนัดดา ใจคง เป็นที่ปรึกษายุวเกษตรกร ซึ่งได้รับรางวัลที่ปรึกษายุวเกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัด ปี 2564 สำหรับกิจกรรมฐานเรียนรู้ที่กลุ่มได้ดำเนินการอยู่มีทั้งหมด 11 ฐานเรียนรู้ ดังนี้

1. ฐานปาล์มน้ำมัน เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรในอำเภอสิเกา มีการปลูกปาล์มน้ำมันเป็นส่วนใหญ่และเป็นที่ตั้งของโรงงานแปรรูปปาล์มน้ำมันหลายแห่ง และในพื้นที่โรงเรียนมีการปลูกปาล์มไว้ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการให้กลุ่มยุวเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ รวมถึงเรียนรู้วิธีดูแลบำรุงรักษาต้นปาล์มน้ำมัน การใส่ปุ๋ย การตัดปาล์มน้ำมันจัดจำหน่าย รวมทั้งการทำบัญชีรายรับรายจ่ายนั้น จึงถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับการปลูกฝังแนวทางที่ถูกต้องในการปลูกปาล์มน้ำมัน

2 .ฐานเพาะเห็ดนางฟ้า มีกิจกรรมให้กลุ่มยุวเกษตรกรเรียนรู้วิธีการเพาะเห็ด ตลอดจนนำเห็ดมาแปรรูป และการนำเห็ดมาประกอบเป็นอาหารกลางวันในโรงเรียน และการทำบัญชีรายรับรายจ่าย

3. ฐานเพาะถั่วงอก ในฐานการเรียนรู้นี้เป็นการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ในการเพาะถั่วงอกโดยใช้ระบบน้ำวน การปลูกพืชในพื้นที่จำกัดโดยใช้เครื่องตั้งเวลา (Timer) มาควบคุมการให้น้ำ ซึ่งเพาะด้วยวิธีนี้นอกจากจะใช้พื้นที่น้อยแล้วยังประหยัดน้ำอีกด้วย เนื่องจากเป็นการเพาะแบบระบบน้ำหมุนเวียน นอกจากนี้ มีการแปรรูปอาหารจากถั่วงอก และการทำบัญชีรายรับรายจ่ายด้วย

เกษตรตำบลและสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร

4. ฐานน้ำหมักชีวภาพ เป็นฐานที่ฝึกให้กลุ่มยุวเกษตรกรได้เรียนรู้การทำปุ๋ยอินทรีย์โดยใช้วัสดุเหลือ ซึ่งมีทั้งปุ๋ยหมักและน้ำหมัก โดยปุ๋ยหมักและน้ำหมักที่ได้นี้นำไปใช้กับพืชผักและปาล์มน้ำมันที่กลุ่มยุวเกษตรกรปลูกนั่นเอง

5. ฐานมะพร้าวน้ำหอม ในพื้นที่โรงเรียนมีการปลูกมะพร้าวน้ำหอมบริเวณรอบสระเลี้ยงปลาเพื่อให้กลุ่มยุวเกษตรกรฝึกและเรียนรู้การดูแลรักษามะพร้าวน้ำหอม ตลอดจนนำมะพร้าวน้ำหอมมาแปรรูปและทำบัญชีรายรับรายจ่ายด้วย

6. ฐานปลูกผักและผักสวนครัว เป็นการฝึกให้กลุ่มยุวเกษตรกรได้เรียนรู้ การเตรียมดิน การเพาะกล้า การปลูก การดูแลรักษา และการขายผัก รวมทั้งการทำบัญชีรายรับรายจ่าย

ฐานเพาะเห็ดนางฟ้า

7. ฐานทำน้ำยาล้างจาน กลุ่มยุวเกษตรกรได้นำตะลิงปลิงมาแปรรูปเป็นน้ำยาล้างจาน ซึ่งเป็นการแปรรูปที่น่าสนใจมาก เป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเกษตรมาประยุกต์สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้ภายในครัวเรือน และในอนาคตอาจนำผลไม้ชนิดอื่นมาทดลองแทนตะลิงปลิง

8. ฐานเลี้ยงหอยขม เนื่องจากหอยขมในธรรมชาติมีอยู่น้อยมาก เพราะแหล่งน้ำตามธรรมชาติไม่สะอาด อีกทั้งหอยขมสามารถขยายพันธุ์ได้เร็ว โตไว การฝึกให้กลุ่มยุวเกษตรกรสามารถเลี้ยงและดูแลหอยขมอาจเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมในครัวเรือนของสมาชิกได้

9. ฐานเลี้ยงปลาในกระชัง เป็นฐานที่บ่มเพาะการทำประมงให้กับกลุ่มยุวเกษตรกรได้เป็นอย่างดี โดยทางกลุ่มจะได้ฝึกให้อาหารและดูแลบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งมีทั้งปลานิลและปลาบ้า รวมถึงปลาดุก โดยเฉพาะปลานิล และปลาบ้า (ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาตะเพียน) ซึ่งทางโรงเรียนได้ทำเรื่องขออนุเคราะห์รับพันธุ์ปลาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง ทั้งนี้ ได้มีการแนะนำจากประมงอำเภอสิเกา นายศุภมงคล สกุลราช ในการดูแลให้อาหาร โดยให้อาหารวันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) และค่อยเพิ่มปริมาณอาหารสัปดาห์ละครั้ง ควรหาผักตบชวามาปลูกในบ่อเพื่อให้ร่มเงาและลูกปลาสามารถกินแพลงตอนในรากผักตบชวาได้ และการให้ปลากินอาหารเม็ดที่คลุกกับ EM (Effective Microorganisms) ถือเป็นการบำบัดน้ำได้ทางหนึ่งด้วย

เครื่องตั้งเวลา (Timer) ในฐานเพาะถั่วงอก

10. ฐานปลูกมะนาวในท่อ เนื่องจากมะนาวเป็นพืชสวนครัวที่ทุกครัวเรือนบริโภคกัน สามารถขายได้ราคาดี โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งราคายิ่งพุ่งสูงมาก และในการปลูกในบ่อซีเมนต์นั้น มีข้อดีคือง่ายต่อการดูแลและการให้น้ำมีประสิทธิภาพ รวมถึงป้องกันโรคบางชนิดได้ง่ายจากสภาพดินที่ไม่เหมาะสม ในการให้กลุ่มยุวเกษตรกรได้ฝึกดูแลและเรียนรู้การปลูกมะนาวเพราะสามารถนำไปต่อยอดได้ ได้เรียนรู้ทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรที่ต้องการให้มะนาวสามารถออกลูกนอกฤดู และง่ายต่อการงดน้ำเพื่อบังคับให้ออกลูกนอกฤดู

11. ฐานการแปรรูป เป็นฐานที่ฝึกให้กลุ่มยุวเกษตรกรเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต โดยนำผลผลิตทางการเกษตรที่กลุ่มได้ดำเนินการมาแปรรูป ได้แก่ เห็ดทอด เห็ดสวรรค์ มะพร้าวแก้ว น้ำสมุนไพร น้ำยาล้างจาน

ฐานเลี้ยงปลาในกระชัง

จากทั้งหมด 11 ฐานเรียนรู้ นำไปสู่ฐานที่ 12 คือ ฐานเรียนรู้สหกรณ์ร้านค้าและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปสู่การประกอบอาชีพในอานาคต ซึ่งเป็นการนำผลผลิตทุกอย่างออกสู่ตลาด โดยทางโรงเรียนจะจัดกิจกรรมตลาดนัดอาชีพเดือนละ 1 ครั้ง เน้นสร้างประสบการณ์ตรงให้กับกลุ่มยุวเกษตรกรมีเพื่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง โดยกลุ่มยุวเกษตรกรได้รู้จักการซื้อขาย การจำหน่าย การผลิต การโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้า การทำบัญชีและการออมทรัพย์ การนำผลงานที่เกิดจากการเรียนรู้ของตนเองมาจำหน่าย รวมถึงเป็นการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันด้วย

สมาชิกยุวเกษตรกรและผลผลิตทางการเกษตร

จากฐานเรียนรู้ทั้งหมด จะทำให้กลุ่มยุวเกษตรกรรู้จักการวางแผนการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข มุ่งมั่นพัฒนางาน และภูมิใจในผลงานของตนเอง สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และมีความรู้สึกที่ดีต่ออาชีพสุจริต และหาความรู้เกี่ยวกับอาชีพที่ตนเองสนใจได้เป็นอย่างดี และสามารถสร้างอาชีพให้กับตนเองหลังจบการศึกษาได้ด้วย

มะพร้าวแก้ว ผลผลิตแปรรูปทางการเกษตร

สอบถามเพิ่มเติมหรือให้การสนับสนุนส่งเสริมการทำกิจกรรมยุวเกษตรกรของโรงเรียนบ้านทุ่งขี้เหล็ก ติดต่อได้ที่ กลุ่มยุวเกษตรกร ที่ทำการกลุ่ม หมู่ที่ 6 ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง โทรศัพท์ 080-147-5059 Facebook โรงเรียนบ้านทุ่งขี้เหล็ก สิเกา ตรัง หรือสำนักงานเกษตรอำเภอสิเกา โทรศัพท์ 075-291-124