ตำนาน “ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” วัดทุ่งสะเดา ตำบลตาดทอง เมืองยโสธร

“ธาตุก่องข้าวน้อย” มีอยู่สองธาตุ ธาตุหนึ่งอยู่ภายในบริเวณวัดทุ่งสะเดา ตำบลตาดทอง และห่างกันไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ก็จะพบธาตุก่องข้าวน้อยที่บ้านตาดทอง อีกธาตุหนึ่ง ทั้งสองธาตุต่างมีตำนานเรื่องเล่าทำนองเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ชาวบ้านตาดทอง และบ้านสะเดา ต่างมีความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติมาเนิ่นนาน ชาวบ้านต่างเล่าเรื่องราวเป็นนิทานมุขปาฐะสืบทอดกันมายาวนานว่า ในฤดูฝนทุกครั้งแต่ละครัวเรือนต้องไถดะ ไถแปรผืนนา เพื่อเพาะหว่านข้าวกล้ากันเป็นปกติวิสัย ของชุมชนเกษตรกรรม

ครอบครัวของชายหนุ่มคนหนึ่ง ผู้กำพร้าบิดาตั้งแต่ยังเล็ก ยังคงเหลือมารดาเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูแต่เพียงผู้เดียว จวบจนถึงวัยหนุ่มฉกรรจ์ บังเอิญวันหนึ่งเขาไปไถนาแต่เช้าตามปกติ เขาไถนาอยู่นานจนสายตะวันขึ้นสูงแล้ว รู้สึกเหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลียมากกว่าที่เคยเป็นมา และรู้สึกหิวข้าวมากกว่าทุกวัน ในแต่ละวันมารดาผู้ชราจะมาส่งก่องข้าวพร้อมอาหารการกินให้ทุกเช้า

พระธาตุก่องข้าวน้อยฆ่ามาที่ชุมชน บ้านตาดทอง

แต่เช้าวันนี้ชายหนุ่มรู้สึกเหมือนว่าผู้เป็นมารดา มาส่งข้าวช้าผิดปกติ คงเป็นเพราะความหิวโหยนั่นเอง เขาจึงหยุดไถนาเข้ามาพักผ่อนอยู่ใต้ร่มไม้ ปล่อยเจ้าทุยเดินไปและเล็มหญ้าตามสบาย ขณะเดียวกัน สายตาก็เหม่อมองไปตามเส้นทางที่มารดาเคยเดินมาส่งข้าว สายตาจดจ้องรอคอยมารดาที่จะมาส่งข้าวตามเวลาที่ควรจะมา ด้วยความรู้สึกกระวนกระวายใจ ยิ่งสายตะวันขึ้นสูง แดดยิ่งร้อน ความหิวกระหายก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

ท่ามกลางไอแดดที่กำลังร้อนผ่าว พลันสายตาเหลือบไปเห็นแม่กำลังเดินเลียบมาตามคันนาเหมือนเช่นเคย ด้วยท่าทางร้อนรนพร้อมกับคอนตะกร้าก่องข้าวน้อยโงนเงนไปมาอยู่เบื้องหลัง เขารู้สึกไม่พอใจที่มารดามาส่งข้าวช้า ด้วยความหิวกระหายจนตาลาย อารมณ์พลุ่งพล่าน อีกทั้งเมื่อแลเห็นข้าวก่องนั้นน้อยมาก ดูท่าทางจะไม่พอกิน ด้วยความโมโหหิว จึงเอ่ยปากต่อว่ามารดาด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า

“มึงไปทำอะไรอยู่ จึงมาส่งข้าวให้กูช้านัก ก่องข้าวก็เอาก่องน้อย มาให้กิน กูจะกินอิ่มหรือ”

ผู้เป็นแม่เอ่ยปากตอบลูกว่า “ถึงก่องข้าวน้อย แต่แม่ก็ยัดแน่นในดอกลูกเอ๋ย ลองกินเบิ่งก่อน”

อดีตผู้ใหญ่บ้านตาดทอง กำลังเล่

ด้วยความหิว ประกอบกับ ความเหน็ดเหนื่อยและโมโหหุนหัน ส่งผลให้หูอื้อตาลาย ไม่ยอมฟังเสียงใดๆ ชายหนุ่มจึงเกิดบันดาลโทสะอย่างแรงกล้า คว้าได้ไม้แอกน้อยเข้าตีมารดาที่แก่ชราจนล้มลง จากนั้นจึงเดินไปกินข้าว จนอิ่มเหลือบดูข้าวก็ยังไม่หมดก่อง จึงรู้สึกว่าตนเองตีแม่ด้วยความโมโหหิว เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดีขึ้นมาทันใด รีบวิ่งไปดูอาการของมารดาพลัน เข้าสวมกอด และเอ่ยคำขอโทษ ร่างมารดาแน่นิ่งไม่ไหวติ่ง อนิจจา…แม่สิ้นใจไปเสียแล้ว

ชายหนุ่มเถลือกไถลหน้าไปบนร่างที่ไร้ความรู้สึกของมารดา ร้องไห้คร่ำครวญก้มลงกราบที่ร่างของมารดา สำนึกผิดที่ได้ฆ่ามารดาของตนเองด้วยอารมณ์เพียงชั่ววูบ ไม่รู้จะทำประการใดดี จึงเข้าไปกราบนมัสการสมภารวัดเล่าเรื่องให้ท่านฟัง สมภารสอนว่า “การฆ่าบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าของตนเองนั้น บาปหนัก ถือเป็นมาตุฆาต ต้องตกนรกอเวจี ตายแล้วไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดเป็นคนอีก มีทางเดียวจะให้บาปนั้นเบาลงได้ ก็ด้วยการสร้างธาตุฝังกระดูกมารดาไว้ ให้สูงเท่านกเขาเหิน จะได้เป็นการไถ่บาปหนักให้เบาบางลงได้บ้าง” เมื่อชายหนุ่มปลงศพแม่แล้ว ขอร้องชักชวนญาติมิตรชาวบ้านช่วยกันปั้นอิฐก่อเป็นธาตุเจดีย์บรรจุอัฐิแม่ไว้ ผู้คนทั้งหลายต่างให้ชื่อว่า “ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” จนตราบเท่าทุกวันนี้

โดยเฉพาะ ธาตุก่องข้าวน้อย วัดทุ่งสะเดา มีลักษณะเป็นธาตุรูปทรงแบบล้านช้าง ฝีมือช่างพื้นถิ่น เป็นธาตุ (เจดีย์) ขนาดเล็กทรงแปดเหลี่ยม ประกอบเป็นฐานบัวเตี้ยๆ เรียกตามภาษาช่างว่า “ฐานเอวขัน” ที่ตกแต่งเป็นบัวคว่ำบัวหงายขึ้น ส่วนตรงกลางเป็นหน้ากระดานที่คอดเล็ก เหนือขึ้นไปตกแต่งเป็นรูปบัวหงายหรือบัวปากระฆัง รองรับองค์ระฆัง ที่ประดิดประดอยรูปแบบทรงสูงชะลูดขึ้นไป จนถึงส่วนยอดที่เรียวแหลม

พระธาตุก่องข้าวน้อยที่วัดทุ่งสะเดา

ธาตุลักษณะนี้เป็นธาตุที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากธาตุสี่เหลี่ยมแบบล้านช้าง ที่พบเห็นหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนมากสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23-24 หรือประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนธาตุก่องข้าวน้อย วัดทุ่งสะเดา เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนพิเศษ 6 ง หน้า 11 วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2552 กำหนดพื้นที่ประมาณ 2 งาน 36 ตารางวา ปัจจุบันพื้นที่ธาตุก่องข้าวน้อย อยู่ในบริเวณวัดทุ่งสะเดา ซึ่งได้รับการบูรณะซ่อมแซมล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2555

สำหรับตำนานเรื่องราว “ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” ที่บ้านตาดทองและบ้านทุ่งสะเดานั้น อาจารย์พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ประพันธ์เป็นบทเพลงให้ เทพพร เพชรอุบล ร้อง มีเนื้อหาดังนี้

ณ ลุ่มน้ำชี ถิ่นนี้พี่น้อง หมู่บ้านตาดทองก่อตั้งนานมา
มีองค์พระธาตุที่คนบูชา ขนานนามว่า ธาตุก่องข้าวน้อย…

ด้านข้างของสิมหรือโบสถ์วัดทุ่งสะเดา

ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่โตตาย หิวจนตาลาย ไถนาเหงื่อย้อย
โมโหหุนหัน จนตะวันสูงลอย ฮึดฮัดรอคอย แม่บ่เอาข้าวมา
ส่วนแม่ผู้เฒ่า เย้าเย้าวิ่งย่ำ จนตั๋วคะมำ ตกคันแทนา
กลัวลูกจะหิว รีบลิ่วแล่นมา จวนจะถึงปลายนา อยู่ท้ายปลายดอน
หำทองเอ๋ย หำทองเอ๋ย แม่มาแล้ว ข้าวกับแจ่ว ปิ้งไก่ยังฮ้อน
มากินสาอย่ามัวแง่งอน กินข้าวก่อนแดดสายพอแฮง
ทองโมโห ลุกโผขึ้นมา งุ่นง่านชี้หน้า สองตามันแดง
กูหิวแทบตาย ไถนาหลายแปลง หิวแทบลงแดง มึงมัวทำอะไร อะไร อะไร
ข้าวกะเอามาก่องน้อยน้อย สิพอน้ำย่อย กูได้จั่งใด๋
แม่บอกก่องน้อยก็ยัดจนแน่นใน กินเถิดดวงใจ อย่ามัวโกรธาหล่าเอย
ทองคว้าไถ ไล่ตีแม่ ชีวิตแม่แก่ก็มรณา เลือดแม่หยด แซมพื้นพสุธา
ทุกทั่วหล้าว่าบักทองทรพี ก่อนมันตาย ให้ใช้ค่าน้ำนม
ให้มันก่ออิฐถมเป็นองค์เจดีย์ พวกเราจึงเห็นอยู่ทุกวันนี้
“นั่นแหละเจดีย์บักทองฆ่าแม่ นั่นแหละเจดีย์บักทองฆ่าแม่”

มีการสร้างพระธาตุบริวารไว้รอบๆ พระธาตุองค์ใหญ่ มีผู้เคารพศรัทธามากราบไหว้อย่างสม่ำเสมอ