วว. ขับเคลื่อน BCG เพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งภาคการเกษตร วิจัยพัฒนาเป็นกระถางเพาะชำย่อยสลายได้

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มุ่งขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ประสบผลสำเร็จในการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร นำมาวิจัยพัฒนาเป็นกระถางเพาะชำที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อทดแทนและลดการใช้ถุงเพาะชำที่ทำจากพลาสติก ระบุผลิตภัณฑ์มีความแข็งแรง ทนทาน มีความยืดหยุ่น ทำให้รากพืชสามารถชอนไชออกจากก้นกระถาง/ด้านข้างของกระถางได้ มีความสามารถในการอุ้มน้ำ ระบายความร้อนได้ดี ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจ BCG เป็นธงการดำเนินงานของ วว. เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้สำเร็จ สามารถตอบโจทย์ แก้ปัญหาของประเทศด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม “กระถางเพาะชำย่อยสลายได้” เป็นหนึ่งในผลงานที่เป็นรูปธรรม ซึ่ง วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ ประสบผลสำเร็จในการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร ได้แก่ ใยมะพร้าว แกลบ เปลือกข้าวโพด ฟางข้าว หญ้าเนเปียร์ เยื่อกล้วย ชานอ้อย ผักตบชวา และไผ่ เป็นต้น นำมาวิจัยและพัฒนาขึ้นรูปเป็นกระถางเพาะชำที่สามารถย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์มีความแข็งแรงและทนทาน มีความยืดหยุ่นที่ดี เพื่อให้รากสามารถชอนไชออกจากก้นกระถางและด้านข้างของกระถางได้เป็นอย่างดี รวมถึงมีความสามารถในการอุ้มน้ำ และระบายความร้อนได้ดี ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช

กระถางเพาะชำจากหญ้าเนเปียร์

“ในการเพาะชำไม้ดอกไม้ประดับรวมถึงพืชอื่นๆ ชาวสวนส่วนใหญ่จะเพาะกล้าไม้ลงในถุงเพาะชำหรือกระถางเพาะชำที่ทำมาจากพลาสติก โดยพลาสติกเหล่านั้นเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสภาวะโลกร้อน จึงเป็นโจทย์ที่ วว. นำมาแก้ปัญหาและประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเป็นกระถางเพาะชำย่อยสลายได้ ซึ่งถือเป็นการนำองค์ความรู้ ประสบการณ์มาต่อยอดโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่สามารถเข้าใจ เข้าถึงกระบวนการผลิตได้ไม่ยาก และใช้วัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำในการปรับปรุงคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ และเป็นการเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งทางการเกษตรตามหลักการ BCG” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

เครื่องขึ้นรูปกระถาง

การผลิต “กระถางเพาะชำย่อยสลายได้” ผลงานวิจัยพัฒนา วว. จะใช้วัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาสับย่อยให้มีขนาดที่เหมาะสม ซึ่งขึ้นกับชนิดของพืช ดังนี้ ใยมะพร้าว ไม่ต้องตัด สามารถใช้แบบยาวๆ ได้ แกลบ นำมาล้างและอบให้แห้ง เปลือกข้าวโพด ฉีกตามแนวยาวให้มีความกว้างประมาณ 0.5-2.0 เซนติเมตร ฟางข้าว นำมาล้างและอบให้แห้ง จากนั้นนำไปผสมกับตัวประสานอินทรีย์ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อช่วยในการยึดเกาะของเยื่อและมีความแข็งแรงหลังการขึ้นรูป

กระถางเพาะชำจากใยมะพร้าว

ในส่วนของพืชที่มีเส้นใยอ่อน เช่น หญ้าเนเปียร์/ผักตบชวา/กาบกล้วย นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ และนำไปปั่นละเอียดจนเป็นเยื่อ จากนั้นนำเยื่อที่ได้ไปอัดขึ้นรูป ส่วนพืชที่มีโครงสร้างแข็ง เช่น ชานอ้อย/ไผ่/ฟางข้าว นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ และต้มด้วยโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) หรือ โซดาไฟ จะได้เยื่อที่มีความอ่อนนุ่มขึ้นรูปได้ ทั้งนี้ เส้นใยและเยื่อข้างต้นจะถูกอัดด้วยเครื่องอัดร้อนระบบไฮดรอลิก (รูปทรงของผลิตภัณฑ์ที่ได้จะขึ้นอยู่กับแม่พิมพ์ที่ใช้) นอกจากนี้ อาจมีการผสมหรือพ่นเคลือบด้วยสารที่เป็นธาตุอาหารพืช เพื่อช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช

กระถางเพาะชำจากผักตบชวา

“วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกระถางเพาะชำย่อยสลายได้ให้แก่ผู้สนใจในรูปแบบการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้จากนักวิจัยที่เชี่ยวชาญของ วว. เพื่อนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่พี่น้องประชาชน อันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจโดยรวมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุป

ใยพืชชนิดต่างๆ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม รับคำแนะนำปรึกษา และรับบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 02-577-9000, 02-577-9439 โทรสาร 02-577-9426 เว็บไซต์ www.tistr.or.th อีเมล [email protected] Line@TISTR