ปลูกน้อยหน่าออร์แกนิก 300 ตารางวา สร้างอาชีพเสริม รายได้ดี

“น้อยหน่า” เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย เช่น บักเขียบ (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ลาหนัง (ปัตตานี) บะน้อแน่ บะแน่ (เหนือ) หน่อเกละแซ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) มะออจ้า มะโอจ่า (เงี้ยว-เหนือ) น้อยหน่า เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-5 เมตร ทรงพุ่มโปร่ง ทรงพุ่มไม่แน่นอน แล้วแต่การตัดแต่งต้น ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบอเมริกากลางและใต้ แต่จะพบอยู่ทั่วไปในพื้นที่เขตร้อน ในประเทศไทยปลูกมากทางภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือ

น้อยหน่า ผลมีเนื้อสีขาว เมล็ดดำ รสหวาน เป็นผลไม้อีกหนึ่งชนิดที่นิยมทานผลสุก นอกจากนี้ ผลดิบ ผลแห้ง เมล็ด และใบ ยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย เช่น ใบสด สำหรับบ้านเรานิยมนำใบหรือเมล็ดของน้อยหน่ามาใช้ในการกำจัดเหา เห็บ หมัด เป็นต้น

คุณสุภาวรรณ สุวรรณปรียา หรือ คุณชมพู่ อายุ 25 ปี

น้อยหน่าเป็นผลไม้ที่เรารู้จักกันดี ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดีกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย พันธุ์น้อยหน่าในประเทศไทยแบ่งออกเป็นพันธุ์พื้นเมือง หรือพันธุ์ฝ้าย (น้อยหน่าฝ้ายเขียว ฝ้ายครั่ง) และพันธุ์น้อยหน่าหนัง น้อยหน่าเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี ปลูกในพื้นที่อาศัยน้ำฝนหรือไม่มีแหล่งน้ำได้ น้อยหน่าสามารถปรับตัวได้ดีในพื้นที่ความสูงไม่เกิน 1,000 เมตร อุณหภูมิ 10-40 องศาเซลเซียส เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ทุกสภาพดิน ทั้งดินที่อุดมสมบูรณ์และดินเลว เช่น ดินร่วนปนทรายและดินร่วนเหนียว

แต่ต้องมีระบบการระบายน้ำที่ดี น้ำไม่ท่วมขัง รวมถึงในสภาพแห้งแล้งที่มีน้ำหรือฝนน้อย ในการปลูกควรเลือกต้นที่สมบูรณ์ แข็งแรง หากมีน้ำหรือฝนตกลงจะช่วยให้ต้นมีโอกาสรอดตายมากขึ้นในช่วงปีแรก นอกจากนี้ การปลูกไม้บังลมจะช่วยป้องกันพายุฤดูร้อนให้กับต้นน้อยหน่าได้ โดยเลือกไม้ที่ปรับตัวได้ดีกับพื้นที่ น้อยหน่าจึงเป็นไม้ผลทางเลือกโดยเฉพาะในพื้นที่แห้งแล้ง สามารถสร้างอาชีพให้ชุมชนและต่อยอดสร้างรายได้ จากการขยายพันธุ์ต้นกล้า ผลสุก จำหน่าย

“สวนน้อยหน่าออแกนิค” บนพื้นที่ 300 ตารางวา

คุณสุภาวรรณ สุวรรณปรียา หรือ คุณชมพู่ อายุ 25 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 114 หมู่ที่ 7 ตำบลหนองครก อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ 33000 ปัจจุบันประกอบอาชีพค้าขาย (ร้านขายของชำ) และอาชีพเสริมเป็นเกษตรกรปลูกน้อยหน่าออร์แกนิก คุณสุภาวรรณ กล่าวว่า ตนเองเกิดในครอบครัวเกษตรกร อาศัยอยู่กับคุณปู่และคุณย่า คุณปู่ปลูกน้อยหน่ามานานมากแล้ว ได้พันธุ์มาจากเกษตรอำเภอ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพันธุ์พื้นเมือง แต่ด้วยในตอนนี้คุณปู่และคุณย่าแก่ตัวลง คุณสุภาวรรณจึงต้องมาสานต่ออาชีพนี้

แต่การปลูกน้อยหน่าออร์แกนิกของคุณสุภาวรรณ อาจแตกต่างไปจากเกษตรกรท่านอื่น เพราะคุณสุภาวรรณใช้พื้นที่ว่างระยะห่างของต้นน้อยหน่าปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงวัว เพราะนอกจากอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกน้อยหน่าแล้ว คุณปู่ยังเลี้ยงวัวด้วย จึงใช้ระยะห่างของต้นน้อยหน่าปลูกหญ้าให้วัวกิน ปัจจุบัน คุณสุภาวรรณปลูกน้อยหน่าออร์แกนิกบนพื้นที่ 300 ตารางวา

ต้นน้อยหน่าที่ติดผล

คุณสุภาวรรณอธิบายถึงขั้นตอนการเพาะเมล็ดน้อยหน่า เริ่มจากการนำคีมมาหนีบบริเวณขั้วเมล็ดพันธุ์ที่จะเพาะให้เกิดรอยแตก และนำไปแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน เหตุที่ต้องใช้คีมหนีบให้เกิดรอยแตก เพราะต้องการให้น้ำซึมเข้าไปในเมล็ด ให้เมล็ดมีความชุ่มชื่น และเพิ่มอัตราการงอกของเมล็ด เมื่อเมล็ดพันธุ์แช่น้ำ 1 คืนแล้ว นำมาลงถุงเพาะกล้า ดินเพาะชำใช้ดินดำ แกลบ ปุ๋ยคอก อัตราส่วน 1 ต่อ 1 ผสมเข้าด้วยกัน นำดินใส่ไปครึ่งถุง จากนั้นใส่เมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้ 2 เมล็ดต่อ 1 ถุง จากนั้นใส่ดินให้เต็มถุง

เมื่อเพาะเมล็ดลงถุงเรียบร้อยแล้ว ควรนำไปไว้ในพื้นที่แดดไม่จัด มีร่มเงาหรือที่บังแดด เพื่อเพิ่มอัตราการรอดให้กับเมล็ดพันธุ์ในถุงเพาะ การรดน้ำในช่วงแรกจะรดน้ำ 1 ครั้งต่อวัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ต้นกล้าจะเติบโตเต็มที่พร้อมนำลงแปลงเพาะปลูก แต่ก่อนลงแปลงปลูกควรเด็ดต้นกล้าออกให้เหลือเพียง 1 ต้นต่อ 1 หลุม

“สวนน้อยหน่าออแกนิค” ที่ปลูกหญ้าเลี้ยงวัวแซม

เมื่อไถเตรียมดินเสร็จแล้วก็สามารถนำต้นกล้าลงแปลงปลูกได้เลย โดยเว้นระยะห่างของต้น 2×2 เมตร และเว้นระยะห่างด้านกว้าง 2.5×2.5 เมตร ขนาดของหลุม กว้าง 1 ศอก ลึก 1 ศอก จากนั้นนำปุ๋ยคอกใส่รองก้นหลุมก่อนจึงสามารถวางต้นกล้าลงหลุมได้ และใช้ดินกลบหลุมให้แน่น เมื่อนำต้นกล้าลงแปลงปลูกเรียบร้อยแล้ว ต้องรดน้ำให้ชุ่ม โดยในน้ำจะผสมยาเร่งรากด้วย ในการปลูกช่วงนี้สามารถปลูกหญ้าเลี้ยงวัวควบคู่ไปด้วยได้ เน้นการรดน้ำบ่อยๆ 1 วัน เว้น 1 วัน เมื่อน้อยหน่ามีอายุครบ 1 ปี ไม่จำเป็นต้องรดน้ำบ่อย เพียงแต่สังเกตหน้าดินและสภาพอากาศในแต่ละช่วง หากอากาศร้อนหรือหน้าดินแห้งก็สามารถรดน้ำได้ เพราะน้อยหน่าเป็นไม้ผลยืนต้นที่ทนแล้งได้ดี

การตัดแต่งกิ่งเมื่อมีกิ่งน้อยหน่าแตกยอดออกมา ต้องทำการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้น้อยหน่าแตกยอดเพิ่ม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีในช่วง 18-24 เดือน ควรดูแลเรื่องการตัดแต่งกิ่งเป็นพิเศษ ช่วงที่น้อยหน่าติดดอกนั้นทางสวนจะเริ่มเลี้ยงผึ้งด้วยวิธีธรรมชาติ เมื่อผึ้งมาทำรังก็จะเกิดการผสมเกสรภายในสวน เมื่อต้นน้อยหน่าเข้าสู่ปีที่ 3 ก็เริ่มติดลูกแล้ว แต่ต้องบอกเลยว่าในช่วง 3 ปีแรกนั้นอาจจะยังไม่ดกมาก พอเข้าสู่ปีที่ 4-5 ผลผลิตจะดกมาก

ผลสุกน้อยหน่า บรรจุลงถุงส่งลูกค้า

การเก็บผลผลิต จะเก็บในช่วงฤดูฝน ทางสวนจะฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้เพื่อไล่แมลง แต่บางครั้งในช่วงที่ฉีดพ่นก็มีฝนตก ทำให้อาจจะไม่ได้ผลที่ดีนัก การปลูกผักหรือผลไม้ออร์แกนิก ต้องบอกเลยว่าปัญหาแมลงที่อาจทำให้ผลผลิตไม่สวยงาม เป็นเรื่องที่พบเจอบ่อย ในช่วง 3 เดือนแรก ที่เริ่มติดผลจะมีขนาดเท่ากำปั้น ช่วงนั้นจะประสบปัญหาโรคแมลงอย่างแมลงวันทอง ทางสวนก็จะใช้วิธีการห่อผลไว้ และทำกับดักล่อแมลงวันทองลงขวดโดยใช้กลิ่นของใบกะเพราล่อแมลงวันทอง

หากในช่วงที่ผลผลิตโตพร้อมเก็บเกี่ยว ก็จะเจอกับโรคเพลี้ยแป้งที่มาเกาะตามผิวน้อยหน่า ทำให้ผิวไม่สวยเป็นลอยดำได้ แต่ไม่มีผลต่อเนื้อด้านใน เพียงแต่เปลือกอาจจะไม่สวยเท่านั้น ตรงจุดนี้เกษตรกรออร์แกนิกก็ต้องทำใจยอมรับ ว่าผิวนอกอาจจะไม่สวยงามมากนัก แต่รับรองว่าผู้บริโภคจะได้รับสิ่งดีๆ เข้าสู่ร่างกายแน่นอน

“ปัจจุบันสวนน้อยหน่าออร์แกนิกของสวนเราสามารถกำหนดราคาขายได้เอง ผู้บริโภคในปัจจุบันหันมาให้ความสนใจกับการทานอาหารที่มีผลต่อสุขภาพระยะยาว น้อยหน่าเป็นไม้ผลยืนต้นที่มีอายุยืน สามารถเก็บผลผลิตได้ปีละ 1 ครั้ง แต่หากดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีน้อยหน่าก็จะให้ผลผลิตที่ดีและดก อยากเชิญชวนเกษตรกรหันมาปลูกพืชผักผลไม้ที่ปลอดภัยไร้สาร เพื่อรักษาสุขภาพเกษตรกรผู้ปลูกและผู้บริโภค”

สำหรับท่านใดที่สนใจต้นกล้าน้อยหน่า ผลผลิตน้อยหน่า ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุภาวรรณ สุวรรณปรียา หรือ คุณชมพู่ อายุ 25 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 114 หมู่ที่ 7 ตำบลหนองครก อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ 33000 โทรศัพท์ 093-328-1220 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก สวนน้อยหน่าออแกนิค ศรีสะเกษ จำหน่ายน้อยหน่าและต้นพันธุ์