ธุรกิจกล้วยไม้รูปแบบใหม่ การผลิตต้นกล้วยไม้เพื่อติดต้นไม้ใหญ่ตามบ้านและจัดสวน (ตอนที่ 10) บทสรุปการจัดแต่งภูมิทัศน์ด้วยกล้วยไม้รองเท้านารี

ในตอนที่ 4 ของบทความชุดนี้ ได้เขียนเรื่องการจัดสวนกล้วยไม้รองเท้านารีใต้ต้นไม้ใหญ่โดยเป็นการเริ่มทดลองทำมาก่อนระยะหนึ่ง คำแนะนำที่ให้ไว้จึงเป็นการประมวลจากประสบการณ์การเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารีชนิดต่างๆ ที่ปลูกในกระถางพลาสติกเลี้ยงในโรงเรือนใต้ซาแรนร่วมกับกล้วยไม้อื่นๆ มาร่วม 30 ปี ผนวกกับการลองผิดลองถูกในการเริ่มนำกล้วยไม้รองเท้านารีที่ปลูกในกระถางอยู่ก่อนแล้วนี้ นำถอดออกจากกระถางเหลือแต่ราก ไม่มีวัสดุปลูก เอารองเท้านารีเหล่านี้มาปลูกในชั้นของหินบดที่เขาใช้ทำถนน (หินพวกนี้เป็นหินโดโลไมท์ หรือหินปูนชนิดหนึ่งที่มีธาตุแคลเซียมและแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบสูง) รายละเอียดที่แนะนำไว้ ต้องขอท่านผู้อ่านที่สนใจและยังไม่ได้อ่านโปรดตามหาอ่านในตอนที่ 4 ได้

รองเท้านารีฝาหอยที่ดอกถูกแมลงกัดกินจนกีบดอกเป็นรู การรักษาดูแลดอกรองเท้านารีในสภาพปลูกแบบนี้จะยุ่งยากกว่าการปลูกในโรงเรือน
รองเท้านารีเหลืองตรังชนิดดอกเล็ก
รองเท้านารีเหลืองปราจีน ที่น่าจะมีเลือดของเหลืองกาญจน์ ที่ผู้เขียนปลูกในกระถางอยู่ในโรงเรือน

ได้สรุปไว้ในตอนที่ 4 ว่า การจะปลูกรองเท้านารีด้วยหินล้วนๆ ไม่ใส่หรือใช้วัสดุปลูกอื่นๆ เลย มีหลักสำคัญที่ต้องปฏิบัติคือ แยกชั้นหินที่ปลูกรองเท้านารีออกจากพื้นดิน โดยให้มีอากาศกั้นกลาง ซึ่งในกรณีที่ผู้เขียนใช้คือนำกระถางดินเผาเก่าที่เคยใช้เมื่อ 20-30 ปีก่อน ที่ไม่ใช้แล้วและวางกองอยู่เป็นขยะ มาวางเรียงคว่ำลงติดๆ กัน แล้วเทหินบดเป็นชั้นอยู่ข้างบน เหตุผลที่ต้องแยกชั้นหินที่ปลูกรองเท้านารีอยู่ ออกจากชั้นของดินข้างล่าง ด้วยแมลงและสัตว์ในดิน เช่น ไส้เดือน ปลวก เป็นต้น จะขนดินขึ้นมาอยู่ในชั้นหินและบนหินด้านบน ดินคืออะไรที่รากรองเท้านารีไม่ชอบ เพราะมันสร้างความเฉอะแฉะ แล้วรากรองเท้านารีจะไม่เดินหรือจะมีสุขภาพไม่ดี รากจะงัน เน่าตายไป ต้นมันก็จะสลดเฉาตายไปง่ายๆ เช่นกัน

รองเท้านารีอินทนนท์
รองเท้านารีเหลืองกระบี่

ปกติในการเลี้ยงรองเท้านารีในกระถาง เราจะไม่วางกระถางที่ปลูกนี้บนดินตรงๆ เลย ด้วยสรรพสัตว์ทั้งหลายในดินจะเข้ามาในกระถางกินวัสดุปลูกที่เป็นสารอินทรีย์ และเอาดินขึ้นมาอยู่ในกระถางด้วย ดังนั้น เราจะวางกระถางปลูกรองเท้านารีบนตะแกรงที่วางเป็นชั้นลอยเหนือพื้นดิน ส่วนตัวผู้เขียนจะเอากระถางที่ปลูกรองเท้านารีใส่ในกระเช้ากล้วยไม้ แล้วแขวนเหมือนกล้วยไม้ในโรง จึงลอยเหนือดินสูงมากจนแมลงและไส้เดือนไม่รบกวน

รองเท้านารีลูกผสมของ rothschildianum x kolopakingii ที่ปกติจะมีช่อดอกยาวและมีดอก 4-5 ดอก แต่เมื่อนำมาปลูกจัดสวนโดนแมลงกัดกินยอดไปตอนที่ยังดอกตูมอยู่ จึงเหลือดอกแรกบานเพียงดอกเดียว
รองเท้านารีเหลืองกาญจน์ (เป็นสายพันธุ์เหลืองปราจีนชนิดหนึ่ง)

กลับมาที่เรื่องชั้นหินที่ใช้ปลูกรองเท้านารี การแยกชั้นหินนี้ออกจากชั้นดินสามารถใช้วิธีอื่นๆ ได้ เช่น ปูซีเมนต์บล็อกแล้วเทหินทับ หรือปรับผิวดินให้มีความลาดชันแล้วปูแผ่นพลาสติกก่อนเทชั้นหิน น้ำที่รดจะได้ไหลไปที่ต่ำตามความลาดเอียงได้ หรือวิธีอื่นๆ ที่ท่านนักกล้วยไม้จะคิดใหม่ เป็นต้น

รองเท้านารีลูกผสมชื่อโฮจิมินห์
รองเท้านารีคางกบ

ในการจัดสวนรองเท้านารีของผู้เขียนในรอบ 1 ปีเศษที่ผ่านมาพบว่า

รองเท้านารีลูกผสม spicerianum x ดอยตุง
  1. ในบางส่วนของการปลูกที่เคยเทหินร่วมกับทรายที่ทดลองปลูกครั้งแรก ที่พบว่า ทั้งแมลงและไส้เดือนขนดินขึ้นมาอยู่ในชั้นหินเร็วมาก รองเท้านารีจะไม่งาม หงอย และตายไปหรือแคระแกร็นไป วัชพืชต่างๆ ขึ้นเร็วมาก มาแย่งกินปุ๋ยที่เราฉีดพ่นให้รองเท้านารี ที่ผ่านมาได้รื้อออกแล้วปลูกใหม่ โดยวางกระถางดินเผากั้นแยกชั้นหินจากชั้นดิน แต่มีบางส่วนที่ยังคงสภาพเดิมไม่ได้รื้อออก ในส่วนนี้ได้พยายามเอาน้ำฉีดไล่ทรายให้ไหลลงข้างล่างของชั้นหิน แล้วถมหินเพิ่มให้หนาขึ้น ก็พบว่าส่วนนี้อย่างไรก็ไม่ดีเท่าบริเวณที่รื้อปลูกใหม่ ที่ใช้กระถางกั้นชั้นหินจากดิน รองเท้านารีของเก่ากองามๆ ก็หดหายเหลือกอเล็กๆ และสลดตายไปมาก ด้วยสภาพดินและทรายข้างล่างที่แฉะเป็นโคลนที่รากรองเท้านารีไม่ชอบ อีกทั้งวัชพืชเจริญดีมากด้วย
  2. สวนรองเท้านารีที่ผู้เขียนจัดทำ เป็นการปลูกใต้ต้นหรือรอบต้นไม้ใหญ่ที่ติดกล้วยไม้ มีใต้ต้นศรีตรังพันธุ์ใหญ่จากเยอรมันหนึ่ง ใต้ต้นไข่ดาวหนึ่ง และใต้ต้นลำดวนอีกหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาที่ควบคุมไม่ได้หรือยาก คือเรื่องแสง ด้วยต้นศรีตรังและต้นไข่ดาวเมื่อเข้าหนาวและตามด้วยแล้ง เขาเริ่มทิ้งใบ จนช่วงแล้ง 2-3 เดือนแทบไม่มีใบเหลือ แสงแดดตรงๆ ส่งผ่านลงมาแผดเผาต้นรองเท้านารีแทบจะรอบต้นไม้ใหญ่ อีกทั้งอิทธิพลของตะวันอ้อมข้าวคือเดินจากออกไปทางทิศใต้ในฤดูหนาวทำให้มุมบางมุมโดนแดดส่องใส่ตรงๆ ในช่วงเที่ยงถึงบ่ายแก่ๆ ปกติรองเท้านารีไม่ชอบโดนแสงตรงๆ ของช่วง 10 โมงเช้าถึงบ่าย 4 โมง ดังนั้น การทำสวนรองเท้านารีใต้ต้นไม้ใหญ่นี้ ถ้าทำบริเวณกว้างหรือพื้นที่ใหญ่ คุมเรื่องแสงแดดนี้ยากมาก

ดังนั้น ไม่แนะนำให้ทำในเชิงธุรกิจ คือไม่ควรไปรับจ้างทำ เพราะโอกาสที่จะเสียหายมีมาก โดยเฉพาะถ้าผู้จัดทำที่ไม่เคยมีความรู้หรือประสบการ์ณการเลี้ยงรองเท้านารีมาก่อน ส่วนผู้ที่เคยเลี้ยงรองเท้านารีมาแล้ว ถ้าสนใจควรทดลองทำในพื้นที่เล็กๆ ก่อน ลองมือดู

การเรียงกระถางดินเผาคว่ำก่อนโรยหินทับ
รองเท้านารีฝาหอย
รองเท้านารีเหลืองกาญจน์ ต้นนี้มีเส้นจุดประที่เป็นเอกลักษณ์ของเหลืองกาญจน์กลีบข้างชัดเจน
กลุ่มวัชพืชขึ้นคลุมส่วนที่ปลูกรองเท้านารีบนหินโรยทรายที่อยู่บนดินตรงๆ
  1. ผู้เขียนได้เป็นลูกค้าที่ซื้อรองเท้านารีจาก คุณสมจิต ยาดี (สวนอยู่บนดอยแม่ขิ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่) เคยได้ต้นเทียนป่า ที่ขึ้นอยู่ในกระถางรองเท้านารี แล้วเอาต้นเทียนต้นนี้ซึ่งสูงคืบเดียว มาปลูกร่วมกับรองเท้านารีบนสวนหินที่อยู่ใต้ต้นลำดวน เพียงไม่กี่เดือนต้นเทียนเติบโตแตกพุ่ม ออกดอกบานสะพรั่งสีแดงจัดจ้าน มองเห็นเด่นแต่ไกล ที่สำคัญคือเมล็ดของเขาจะถูกดีดตัวกระจายออกไปไกลรอบต้น แป๊บเดียวต้นเล็กๆ งอกเติบโตเต็มคลุมพื้นที่ไปหมด สิ่งที่พบคือใต้ต้นเทียนต้นแม่ดั้งเดิม รองเท้านารีในกลุ่มตรงนั้นเจริญงอกงามดีมาก และพุ่มใบต้นเทียนช่วยบังแสงในระดับหนึ่ง อีกทั้งต้นเทียนเป็นไม้อวบน้ำช่วยสร้างความชุ่มชื้นในบริบทรอบๆ ต้นเขาดีมากแบบฝรั่งเรียกว่ามันสร้าง Microclimate จึงเกิดปิ๊งแนวคิดการปลูกต้นเทียน ปะปนร่วมไปกับรองเท้านารีแบบ พืชอิงอาศัยด้วยกัน หรือที่ฝรั่งเรียก Companion plants โดยเฉพาะสวนรองเท้านารีที่อยู่ใต้ต้นไม้ที่ทิ้งใบร่วงเกือบหมดต้น เช่นที่กล่าวในข้อ 2 ข้างบน ผู้เขียนจึงขยายย้ายต้นเทียนจากสวนใต้ต้นลำดวนที่เริ่มขึ้นแน่นหนาไปปลูกในสวนใต้ต้นศรีตรังและต้นไข่ดาว ให้เขาคลุมพื้นที่ช่วยกรองและกันแสงหนึ่ง และช่วยรักษาความชื้นอีกหนึ่ง
  2. แนวคิดที่ใช้วัสดุปลูกเป็นหินบดล้วนๆ เพื่อเลี่ยงการใช้วัสดุปลูกที่เป็นอินทรียสาร เช่น มะพร้าวสับ เป็นต้น เพราะกลัวจะเป็นการเรียกแขก โดยเฉพาะปลวก แต่ในรอบการปลูก    1 ปีเศษที่ผ่านมาพบว่า ใบไม้ของต้นไม้ใหญ่ที่ร่วงลงมานั้นได้กระจายคลุมรอบๆ ต้นรองเท้านารี เหมือนกับที่เกิดขึ้นในธรรมชาติกับรองเท้านารีในป่าหรือตามซอกหินบนภูเขาหินปูน ที่ใบไม้ต้นไม้ใหญ่ที่ร่วงทับถมกันนี้ ย่อยสลายให้ธาตุอาหารและสุดท้ายกลายเป็นฮิวมัสทับถมกัน   ดังนั้น จึงกลายเป็นประโยชน์กับรองเท้านารีของเรา และตามซอกหินของเราก็มีใบไม้ผุพังเป็นอาหารและเกิดสภาพเหมือนในธรรมชาติโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่วนปัญหาที่ว่ากลัวปลวกจะมากินใบไม้ก็ไม่เกิดขึ้น อาจจะเป็นเพราะผู้เขียนได้ฉีดพ่นสารหรือน้ำยากลุ่ม Quaternary Ammonium Compound (ผู้เขียนใช้สารเคมีกลุ่มนี้ที่ผสมขายเพื่อฆ่าเชื้อในคอกปศุสัตว์ มาใช้กับกล้วยไม้นานมากแล้ว จะเป็นสารเคมีในกลุ่มเดียวกับ ไฟแซน ยาฆ่าเชื้อที่ปลอดภัยกับคน ที่ใช้มากในสวนกล้วยไม้ในอเมริกาและยุโรป) ที่ฆ่าเชื้อคลุมครอบจักรวาล และจะกันปลวกได้ระดับหนึ่งด้วย (สนใจรายละเอียดอ่าน https://www.facebook.com/dleenanuruksa/posts/1530686483623925)

สวัสดี

รองเท้านารีที่ปลูกร่วมกับต้นเทียนกอใหญ่ได้รับความชุ่มชื้น และร่มเงาจากต้นเทียน
ต้นศรีตรังที่ทิ้งใบจนแสงแดดตรงสาดลงบริเวณโคนต้นที่จะแผดเผารองเท้านารีเสียหายและตายได้ แสงแดดตรงที่ร้อนนี้จะทำให้ร้อนเกินไปสำหรับไม้ที่ชอบอากาศหนาว เช่น เหลืองเลย ที่ปกติออกดอกทุกปีในโรงเรือนกล้วยไม้ เมื่อนำมาปลูกในสภาพนี้ 1 ปีเศษที่ผ่านมา เหลืองเลยประมาณ 30 กอที่ปลูกใต้ต้นไม้นี้ไม่ออกดอกเลยแม้เพียงต้นเดียว ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมที่ผ่านมา
บริเวณใกล้ๆ กองหินที่ปลูกรองเท้านารีโดยไม่ได้มีชั้นกระถางกั้นแยกหินจากดิน จะพบปลวกและ/หรือไส้เดือนเอาดินขึ้นมา