เผยแพร่ |
---|
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งผลิตภัณฑ์จากผึ้งได้เข้ามามีบทบาทในเรื่องของการยับยั้งเชื้อโรค สร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และช่วยให้ร่างกายแข็งแรง จึงทำให้ประชาชนทั่วไปสนใจผลิตภัณฑ์จากผึ้งเพิ่มมากขึ้น
โดยปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง จำนวน 35,405 ราย สร้างผลผลิตน้ำผึ้งที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล เป็นรายได้หมุนเวียนให้แก่เกษตรกรกว่า 2,000 ล้านบาท ไม่รวมผลผลิตชนิดอื่น ๆ และผลิตภัณฑ์แปรรูป ซึ่งผลผลิตจากผึ้งของไทยที่มีการส่งออกนั้น เป็นผลผลิตที่ได้จากผึ้งพันธุ์ มีปริมาณผลผลิตน้ำผึ้งสูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 36 ของโลก ทั้งนี้ ประเทศส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ไต้หวัน อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา สาธารณรับประชาชนจีน และซาอุดิอาระเบีย
กรมส่งเสริมการเกษตร จึงเดินหน้าพัฒนาคุณภาพและผลักดันผลิตภัณฑ์จากผึ้งในการเสริมสร้างสุขภาพ ยับยั้งเชื้อโรคและเชื้อไวรัส สร้างเสริมภูมิคุ้มกันและความแข็งแรงให้กับร่างกาย โดยจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพแมลงเศรษฐกิจ สร้างจุดเรียนรู้และแปลงรวบรวมพันธุ์ ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาดน้ำผึ้ง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตน้ำผึ้งคุณภาพดี ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และส่งเสริมการแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากผึ้ง ได้แก่ น้ำผึ้ง นมผึ้ง เกสรผึ้ง พรอพอลิส พิษผึ้ง ไขผึ้ง ให้เกษตรกรสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจชุมชน และสามารถต่อยอดขยายผลสู่อุตสาหกรรมแปรรูปต่าง ๆ เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพิ่มขึ้นต่อไปอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร วางแนวทางโดยใช้ศูนย์ปฏิบัติการกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 5 ศูนย์ ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ชุมพร ขอนแก่น จันทบุรี และอุตรดิตถ์ ครอบคลุมทุกภูมิภาคในการสร้างจุดเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าการผลิตแมลงเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อเป็นศูนย์กลางสถานที่ถ่ายทอดความรู้และศึกษาดูงานของเกษตรกรและผู้สนใจ รวมถึงจัดทำแปลงขยายและรวบรวมพันธุ์แมลงเศรษฐกิจ ได้แก่ ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ชันโรง จิ้งหรีด และครั่ง
ซึ่งมีการส่งเสริมให้เป็นแมลงเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะการเลี้ยงผึ้ง ที่ได้มีการส่งเสริมส่งเสริมให้ใช้รังและคอนมาตรฐาน ซึ่งเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่ทำให้ผู้เลี้ยงจัดการรังผึ้งได้สะดวกยิ่งขึ้น สามารถตรวจเช็ครวงผึ้ง เปลี่ยนนางพญา แยกหรือขยายรัง รวมถึงขนย้ายไปในแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ต่อผึ้งได้สะดวก ทำให้ได้ผลผลิตน้ำผึ้งมากขึ้น ตลอดจนสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผึ้งถึงบทบาทของการเป็นแมลงช่วยผสมเกสรแก่เกษตรกรผู้ปลูกไม้ผล อันจะทำให้ผลไม้มีคุณภาพและได้ผลผลิตในปริมาณที่สูงขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันชาวสวนผลไม้เปิดรับการเลี้ยงผึ้ง และอนุญาตให้เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งนำผึ้งเข้ามาเลี้ยงในสวนได้มากขึ้น ประกอบกับด้านการตลาดได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาดแมลงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างเครือข่ายการผลิตและการตลาดให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ เกิดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้แก่เกษตรกรอีกด้วย
นอกจากนี้ เพื่อสร้างกระตระหนักรู้ถึงความสำคัญของแมลงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผึ้ง กรมส่งเสริมการเกษตร ยังสนับสนุนการจัดงานวันผึ้งโลกอย่างต่อเนื่อง ตามประกาศของ Food and Agriculture Organization (FAO) ซึ่งได้เสนอให้วันที่ 20 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันผึ้งโลก (World Bee Day) โดยปี 2565 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการจัดงานวันผึ้งโลกเป็นครั้งที่ 5 ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผึ้งร่มไทร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ของเกษตรกร โดยได้รับความรู้ด้านการเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรงจากกรมส่งเสริมการเกษตร และได้ขยายผลไปสู่ธุรกิจชุมชนโดยการนำน้ำผึ้งจากเกษตรกรในชุมชนมาแปรรูปและพัฒนาบรรจุภัณฑ์จนเป็นที่ยอมรับของตลาด สร้างอาชีพและรายได้หมุนเวียนในชุมชน
การจัดงานผึ้งโลก ครั้งที่ 5 ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “คุณค่าของ “ผึ้ง” ต่อมวลมนุษยชาติ” โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การอภิปรายคณะ ในหัวข้อ “ยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงผึ้ง จากแมลงช่วยผสมเกสร สู่ธุรกิจชุมชน” นิทรรศการเทคโนโลยีการใช้แมลงช่วยผสมเกสร และการมอบรางวัลแก่เกษตรกรที่ชนะการประกวดน้ำผึ้งโพรงคุณภาพดี ปี 2565
ซึ่งครั้งนี้เป็นปีแรกในการประเมินผลคุณภาพของน้ำผึ้งด้วยมาตรฐานโลก ที่ใช้การตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ และนำผลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันคุณภาพของน้ำผึ้ง โดยผู้ได้รับรางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 คือ นางสุภาพร สุทิน จ.นครศรีธรรมราช รองชนะเลิศอันดับ 1 คือ นายยุทธพงษ์ โสภณอำนวยกิจ จ.เชียงราย รองชนะเลิศอันดับ 2 คือ นายปัญญาพล ใหม่พรม จ.ตรัง และรางวัลชมเชย คือ นายสุรเดช จวนศรี จ.สุราษฎร์ธานี และนายธัญญา อินต๊ะมอย จ.พะเยา