ฉัตรชัยเร่งล้อมคอกพ่อค้า ตั้งคณะทำงานตรวจยาง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ล่าสุดได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 โดยมอบหมายให้ กยท.เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยาง 2542 ซึ่งจะทำงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ในการตรวจสอบปริมาณยางในสต๊อก การนำเข้าและส่งออกยาง หรือที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของปริมาณยางในตลาดที่มีอยู่จริง ป้องกันปัญหาการบิดเบือนข่าว การกักตุนสินค้าหรือทุบราคายาง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของ พ.ร.บ.ควบคุมยาง 2542 กรมวิชาการเกษตรต้องประสานกับ กยท. เรื่องการตรวจสอบปริมาณยางในสต๊อกและการนำเข้าส่งออก รวมถึงสอดคล้องกับศุลกากร แต่กฎหมายควบคุมยางไม่ได้ลงรายละเอียดจำแนกการซื้อขายยาง แต่จะต้องสามารถบอกได้ว่าซื้อมาเท่าไร และขายไปเท่าไร แล้วรวบรวมตัวเลขให้เป็นไปตามเงื่อนไข พ.ร.บ.ควบคุมยาง 2542 ซึ่งจะรวบรวมทุกวันที่ 10 ของเดือนถัดไป ซึ่งผู้ค้ายางทุกรายต้องส่งข้อมูลมาที่กรมวิชาการเกษตร ทั้งหมดต้องอยู่ในระบบเพื่อออกใบผ่านศุลกากร โดยเดือนที่ผ่านมาสต๊อกของเอกชนอยู่ที่ 5 แสนตัน ดังนั้นตาม พ.ร.บ.ควบคุมยาง กยท.ก็จะส่งเสริมรักษาเสถียรภาพและให้ทุกฝ่ายอยู่ในระเบียบ
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ในวันที่ 17-18 มิ.ย.นี้ ผู้บริหาร กยท.จะเดินทางไปร่วมประชุมที่อินโดนีเซีย ในนามสมาชิกบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (IRCo) ที่ประกอบด้วย ประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก การประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นการนัดประชุมวาระพิเศษเร่งด่วน จากวาระปกติที่จะมีการประชุมอีกครั้งในปลายปี 2560
สำหรับการหารือกันคงมีวาระเดียว คืออาจขอความร่วมมือกับประเทศสมาชิกเพื่อลดการส่งออกยาง เพราะมาตรการลดการส่งออกถือว่าเคยใช้ในช่วงที่ราคายางตกลงมาก จนถึงประมาณ 3 กิโลกรัม 100 บาท เมื่อสมาชิกบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศร่วมกันลดการส่งออก ส่งผลให้ราคายางดีดกลับมาได้อย่างมีเสถียรภาพ
“หลังจากเรียก 5 เสือผู้ส่งออกเข้าหารือถึงมาตรการช่วยสกัดราคายางลดลง ทั้งในตลาดซื้อขายล่วงหน้าและราคาที่เกษตรกรขายได้ ขณะนี้ราคาทั้งสองตลาดทั้งตลาดภายในและต่างประเทศก็ขยับตัวดีขึ้น ถือว่าการร่วมมือระหว่างภาครัฐและผู้ส่งออกได้ผลพอสมควร ส่วน 4 มาตรการเดิมที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ขยายเวลาหรือเดินหน้าต่อได้นั้นถือว่าช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอกชน สถาบันเกษตรกร และเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้ตลาดสามารถดำเนินการเข้าสู่ดุลยภาพหรือสมดุลของราคา”