ครั้งแรกในประเทศไทย ม.มหิดลค้นพบวิธีตรวจเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในขั้นตอนเดียว เตรียมประยุกต์ใช้ตรวจเชื้อไวรัส COVID-19 กลายพันธุ์

อาจารย์ ดร.ภรภัทร อัฐมโนลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาค้นคว้าวิจัย “การพัฒนากรรมวิธีและระบบบ่งชี้ชนิดของเชื้อแบคทีเรียและทดสอบความไวของเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะในขั้นตอนเดียว” ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่สามารถวิเคราะห์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้ในขั้นตอนเดียว ที่พัฒนาจากวิธีการดั้งเดิมที่เพาะเชื้อและทดสอบดูการดื้อยาในแบคทีเรียแต่ละชนิดโดยตรง ด้วยกรรมวิธีใหม่ที่ค้นพบนี้ได้ใช้วิธีการทางอณูพันธุวิศวกรรมศาสตร์เข้าช่วยเร่งปฏิกิริยา ทำให้เกิดผลเร็วขึ้นจาก 1 คืน เหลือเพียง 2-3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการประหยัดเวลาได้เป็นอย่างยิ่ง

โดย อาจารย์ ดร.ภรภัทร ได้อธิบายถึงในส่วนของวิธีการทางอณูพันธุวิศวกรรมศาสตร์ที่ใช้ในงานวิจัยว่า เป็นการใช้เทคนิคที่คล้ายกับการตรวจ RT-PCR ของการตรวจเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ต่างกันตรงที่ ในการตรวจเชื้อไวรัส COVID-19 ใช้ mRNA หรือ DNA สังเคราะห์ ในขณะที่การตรวจเชื้อแบคทีเรียเพื่อดูการดื้อยาในที่นี้ ใช้การตรวจ DNA จริงจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเรียกว่า “วิธี PCR”

สาเหตุที่ต้องใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย เพื่อดูการดื้อยาก่อนทำ PCR แทนที่จะตรวจดูยีนดื้อยาที่เชื้อแบคทีเรียแต่ละชนิดโดยตรงเลย เนื่องจากวิธีการตรวจยีนโดยตรงให้ผลได้ไม่ถูกต้อง 100% เพราะไม่อาจวิเคราะห์ได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเชื้อแบคทีเรียดื้อยา

“เป็นธรรมชาติของเชื้อแบคทีเรียเมื่อมากกว่า 1 ชนิดมาอยู่ด้วยกัน จะเกิดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน จนอาจส่งเสริมให้เกิดการดื้อยาได้มากขึ้นต่อไปด้วย” อาจารย์ ดร.ภรภัทร กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้ค้นพบว่า การประยุกต์ใช้อุปกรณ์ “ไมโครฟลูอิดิกส์” เพื่อทำการทดสอบใน volume ที่เล็กกว่า สามารถลดปริมาณน้ำยาที่ใช้ในการทำปฏิกิริยาได้ถึง 2 หมื่นเท่า จาก 20 ไมโครลิตร เหลือเพียง 1 นาโนลิตร ซึ่งเป็นการประหยัดทรัพยากรที่ต้องใช้ในการทดสอบ และยังสามารถใช้ในการทดสอบเพื่อดูการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียมากกว่า 1 ชนิดได้ในคราวเดียวกัน