วช. ผลักดัน ต้นดีหมี พืชธรรมชาติของ วิสาหกิจชุมชน จ.เลย สู่ตลาดดิจิทัล

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการวิจัยการพัฒนาตลาดดิจิทัลเพื่อยกระดับสินค้าและบริการ จังหวัดเลย โดยมีกิจกรรม​ย่อย​ 2​ กิจกรรม ​ได้แก่ กิจกรรม​ “การพัฒนา​ผลิตภัณฑ์​ชาต้นดีหมีของกลุ่มวิสาหกิจ​ชุมชน​บ้านท่าดีหมี” และ​ กิจกรรม “​การยกระดับผลิตภัณฑ์​ผ้าย้อมสีธรรมชาติ​จากใบต้นดีหมีสู่ตลาดสีเขียวยุคดิจิทัล” ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาดีหมี บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย​ นำโดย รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ​ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ผู้ตรวจสอบโครงการวิจัย ตามนโยบาย “การขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในพื้นที่จังหวัดเลย” พร้อมด้วย​ นายธีรวัฒน์  บุญสม ผู้อำนวยการ​กองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม​ วช. และ​คณะ​ โดยโครง​การดังกล่าว​ได้รับการสนับสนุน​ทุนวิจัย​จาก​ วช.​

รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญ​ประเทศ หากได้รับการสนับสนุนส่งเสริมและเสริมความรู้ เพิ่มขีดความสามารถ ภายใต้แนวทางการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน​ ให้เป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคงให้กับชุมชนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านท่าดีหมี โดยการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชนและคุณภาพชีวิตให้กับท้องถิ่น โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาต้นดีหมีของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านท่าดีหมีให้เป็นสินค้า OTOP

ต้นดีหมี เป็นไม้ยืนต้น​พืชสมุนไพรพื้นบ้าน​ ที่เป็น​เอกลักษณ์ท้องถิ่น​ เกิดการสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน หลังจากนั้นได้ลงพื้นที่ศูนย์วิจัยชุมชน “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจทอผ้าพื้นเมืองบ้านท่าดีหมี” โดยได้แนะนำทีมวิจัยในเรื่องของการพัฒนา​รูปแบบผลิตภัณฑ์​ผ้าย้อมสีธรรมชาติ​จากใบต้นดีหมีให้เป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยมและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม​เสริมสร้างอัตลักษณ์​ให้กับชุมชน​พื้นที่บ้านดีหมีให้ชุมชน​ในพื้นที่ได้มีรายได้พึ่งพาสามารถ​พึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.อัญชลี โกกะนุช กล่าวว่า โครงการวิจัยการพัฒนาตลาดดิจิทัลเพื่อยกระดับสินค้าและบริการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเลย ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งของการตลาดดิจิทัล เพื่อรองรับนวัตกรรมสินค้าที่ได้รับการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิม Modified product ซึ่งเป็นการยกระดับสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีการสื่อสารการตลาดตามลักษณะเฉพาะของสินค้าการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะเป็นสื่อกลางในการประสานเปิดโอกาสให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกัน ตามแนวคิด BCG Model ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม