“ดิลก ชมพูมิ่ง” เนรมิตที่ 4 ไร่ ทำเกษตรผสมผสาน สหกรณ์สานฝันโครงการนำลูกหลานสานต่ออาชีพเกษตร

การลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงเกษตรผสมผสานของเกษตรกรรุ่นใหม่ “นายดิลก ชมพูมิ่ง” ภายใต้โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตรของรองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ “นายอัชฌา สุวรรณนิตย์” สหกรณ์จังหวัดแพร่ “นายเฉลิมพล ชัยศิลบุญ” และคณะเมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมทั้งให้คำแนะนำแนวทางการทำเกษตรแบบผสมผสาน การบริหารจัดการพื้นที่ ระบบน้ำ และจัดการผลผลิตภายในสวนที่บ้านแม่คำมี อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ นอกจากการสร้างขวัญและกำลังใจให้เกษตรกรมีความเชื่อมั่นในวิถีเกษตรกรรมอย่างเต็มเปี่ยมแล้วยังให้คำแนะนำองค์ความรู้ด้านการจัดการแปลงที่มิอาจประเมินค่าได้

นายดิลก ชมพูมิ่ง เกษตรกรรุ่นใหม่ในวัย 31 ปี ได้เริ่มต้นทำสวนเกษตรผสมผสานอย่างจริงจังเมื่อปลายปี 2562 ด้วยเหตุอยากมีรายได้เสริมควบคู่กับรายได้จากงานประจำ แม้ปัจจุบันเขายังรั้งตำแหน่งพนักงานฝ่ายขายอาหารสัตว์บก บริษัทธุรกิจเกษตรยักษ์ใหญ่ที่จังหวัดสระบุรี หลังจบปริญญาตรีสาขาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่มีแนวคิดอยากทำอาชีพเกษตรควบคู่ไปด้วย หลังได้เนรมิตเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน ที่บ้านแม่คำมี อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ เป็นสวนเกษตรผสมผสาน

โดยมีพืชเศรษฐกิจอย่างทุเรียนพันธุ์มูซังคิงและไผ่กิมซุง เป็นตัวชูโรง โดยทุเรียนลงไว้จำนวน 147 ต้น ส่วนไผ่กิมซุง จำนวน 110 ต้น พร้อมปลูกแซมด้วยพืชผัก สมุนไพร และไม้ผล อาทิ กล้วย น้อยหน่า มะม่วง ฝรั่งกิมจู ชมพู่ มะละกอแขกดำ พืชสมุนไพรและผักสวนครัว จำพวก ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หวังให้มีรายได้ตลอดทั้งปี

“ตอนนี้งานประจำก็ยังทำอยู่ แต่อยากจะทำอะไรที่เป็นของตัวเองจะได้มีรายได้ เมื่อเกษียณจากงานประจำ บังเอิญได้ซื้อที่มาจากญาติจำนวน 4 ไร่ กับ 2 ไร่ เมื่อก่อนที่ตรงนี้ปลูกข้าวโพด (เลี้ยงสัตว์) แต่พอไม่มีใครทำก็ปล่อยทิ้งให้รกร้าง ผมก็เลยซื้อต่อเพื่อเอามาทำสวนเกษตรผสมผสาน อย่างที่เห็นทุกวันนี้” นายดิลก ชมพูมิ่ง พนักงานฝ่ายขายอาหารสัตว์บก บริษัทธุรกิจเกษตรยักษ์ใหญ่ที่หันมาสวมหมวกเกษตรกรเต็มขั้นควบคู่กันไปด้วย โดยมุ่งเป้าไปที่ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นไม้ผลที่มีความต้องการของตลาดสูง โดยเฉพาะตลาดจีน

“เหตุที่คิดปลูกมูซังคิง มองว่าตอนนี้ตลาดหมอนทองกำลังจะเริ่มจะถดถอย เพราะปลูกกันมาก ราคาก็เริ่มลง แต่มูซังคิงราคาไม่ตกเลย ตอนนี้ราคาหน้าสวนตกกิโล 500 บาท ผลผลิตออกมาเท่าไหร่ส่งออกหมด มาเลเซียทำตลาดไว้ให้แล้วส่งไปจีน ฮ่องกง และไต้หวันได้ราคาสูงมาก” เกษตรกรคนเดิมเผยถึงสาเหตุที่ปลูกทุเรียนพันธุ์มูซังคิง โดยมองเรื่องตลาดและราคาเป็นจุดเด่น เมื่อเทียบกับทุเรียนสายพันธุ์อื่นๆ นอกจากนี้ ยังข้อดีเป็นพันธุ์ที่ปลูกง่าย ทนต่อโรค และเติบโตได้ดีในพื้นที่ราบเชิงเขาและมีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นอย่างจังหวัดแพร่ ที่สำคัญใช้เวลาเพียงแค่ 4 ปีก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยปกติมูลซังคิงจะให้ผลผลิตเฉลี่ย 50 ลูกต่อต้น โดยแต่ละลูกจะมีน้ำหนักเฉลี่ย 2.5 กิโลกรัม

“ของผมที่ปลูก มี 2 รุ่น รุ่นแรกอายุ 3 ปีกว่า บางต้นเริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว แต่ก็จะปลิดทิ้งให้เหลือต้นละ 2-3 ลูก อีกรุ่นสองมีอายุเกือบ 2 ปีแล้ว ส่วนการให้น้ำจะนำระบบโซลาร์เซลล์มาใช้วางระบบในสวนเพื่อประหยัดไฟฟ้า” นายดิลก เผย

นอกจากทุเรียนแล้ว เขายังนำไผ่กิมซุงมาปลูกไว้เป็นแนวรั้วเพื่อกันลมพัดทำลายต้นทุเรียน ทั้งยังป้องกันตลิ่ง เนื่องจากรากไผ่จะยึดดินไว้ป้องกันตลิ่งพัง ขณะเดียวกัน ผลผลิตหน่อไผ่ก็ยังสร้างรายได้อีกด้วย ส่วนสาเหตุที่ปลูกไผ่ชนิดนี้ เพราะเหตุว่าให้หน่อเกือบตลอดทั้งปี ซึ่งต่างจากไผ่หวานที่ให้ผลผลิตหน่อเฉลี่ยปีละ 2 เดือน ที่สำคัญยังออกมาตรงกับหน่อไม้ไผ่ป่าที่หาได้ไม่ยากนักในเขตพื้นที่จังหวัดแพร่ ส่งผลทำให้ราคาจำหน่ายลดลง เนื่องจากหน่อไม้ไผ่ป่ามาตีตลาด

ขณะเดียวกัน ภายในสวนก็ยังปลูกพืชผัก สมุนไพร ผลไม้นานาชนิดเน้นพืชอายุสั้นที่สร้างรายได้รายวัน อาทิ ผักหวานป่า กล้วย น้อยหน่า มะม่วง ชมพู่ ฝรั่งกิมจู มะละกอแขกดำ พืชสมุนไพรและผักสวนครัว เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มะเขือ พริก เป็นต้น โดยมีตลาดชุมชนอำเภอหนองม่วงไข่ รองรับผลผลิต อีกทั้งยังมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงหน้าสวนและบางส่วนจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์

เกษตรกรคนเดิมยังได้ตั้งเป้าหมายวางแผนการผลิตภายในสวน เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนและสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวตลอดทั้งปี ตั้งแต่ 3 เดือนแรก ซึ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายผักสวนครัว ประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อเดือน จากนั้นใน 1 ปีแรก มีรายได้จากการจำหน่ายกล้วยและพืชผักสวนครัว 2,000-3,000 บาทต่อเดือน และช่วง 1 ปีครึ่งถึง 4 ปี มีรายได้จากการขายหน่อไม้ กล้วย และพืชผักสวนครัว 7,000-9,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันทำเกษตรผสมผสานมาแล้ว 4 ปี คาดว่าถ้าทุเรียนให้ผลผลิต จะมีรายได้จากการจำหน่ายทุเรียน และหน่อไม้ประมาณ 30,000-70,000 บาทต่อเดือน

“ที่สวนจะไม่มีจ้างแรงงาน แต่จะให้พ่อแม่และญาติๆ ช่วยกันดูแลสวนทุเรียน ส่วนการปลูกไผ่ ผลไม้ พืชผักสวนครัวก็เพื่อให้พวกเขามีรายได้แทนที่จะจ้างแรงงานมาดูแลสวน ส่วนเราจะมุ่งเป้าที่ทุเรียนอย่างเดียว คาดว่าปีหน้าทุเรียนชุดแรกก็จะให้ผลผลิตแล้ว จากนั้นต่อด้วยชุดที่สอง หากทุเรียนให้ผลผลิตทั้งสองชุด คำนวณจากราคามูซังคิงขั้นต่ำกิโลละ 200 บาท คาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาทต่อปี ส่วนตลาดไม่กังวล มีบริษัทส่งออกพร้อมรับซื้ออยู่แล้ว” เจ้าของสวนทุเรียนมูซังคิงกล่าวย้ำ

ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2565 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแพร่ ได้ดำเนินโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร มีเกษตรกรรุ่นใหม่สมัครเข้าร่วม จำนวน 38 ราย ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดแพร่ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีองค์ความรู้ด้านการผลิต สามารถสร้างอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืน เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ มีเครือข่ายด้านอาชีพเพิ่มมากขึ้น เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแพร่มีการติดตามผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และขยายผลไปสู่เกษตรกรรุ่นใหม่ต่อไป